นโยบาย “มุ่งลงใต้” ของเสฉวน ช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจให้ไทย
10 Aug 2018ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน ยุทธศาสตร์ย่อโลกด้วยการขยายการเชื่อมโยงและสานความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ โดยรัฐบาลกลางจีนได้กำหนดนโยบายหลักเป็นแนวทางพัฒนาภาพรวมและได้สั่งการให้แต่ละมณฑลกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้มีความก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลแต่ละมณฑลได้กำหนดโครงการต่าง ๆ เพื่อขานรับนโยบายนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2561 มณฑลเสฉวนจัดการประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเสฉวนสมัยที่ 11 ครั้งที่ 3 แถลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลเสฉวน โดยมีภาครัฐจากหลายหน่วยงานของมณฑลเสฉวนเข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาและปฏิรูป กรมพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานการต่างประเทศและกิจกรรมชาวจีนโพ้นทะเล สำนักงานด่านและโลจิสติกส์ กรมศุลกากร โดยมีนางสาวภาวีวรรณ นรพัลลภ รองกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ในการประชุมได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนามณฑลเสฉวนในหลายด้าน อาทิ การกระจายการพัฒนาไปสู่ 5 เขตภูมิภาคของเสฉวน การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเมืองและชนบท การยกระดับนวัตกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งนโยบายที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ การขยายการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อม 4 ทิศทาง “ขยายขึ้นเหนือ มุ่งลงใต้ เชื่อมโยงตะวันออก และเจาะลึกตะวันตก” โดยเฉพาะทิศทาง “มุ่งลงใต้” ที่ถือเป็นสาระสำคัญได้รับความสนใจในการประชุมครั้งนี้มากที่สุด ซึ่งทิศทาง “มุ่งลงใต้” มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของมณฑลเสฉวนเป็นอย่างมาก
พัฒนาการเชื่อมเศรษฐกิจ 4 ทิศทางของเสฉวนเป็นอย่างไร
ปัจจุบัน มณฑลเสฉวนสนองตอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างแข็งขัน สะท้อนให้เห็นจากการพัฒนาและขยายความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการคมนาคม การขนส่งโลจิสติกส์ ความร่วมมือทางการค้า และการเปิดกว้างเพื่อโน้มน้าวให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยสิ้นสุดปี 2560 บริษัท TOP 500 ของโลกเข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวนแล้ว 331 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจต่างชาติจำนวน 235 บริษัท มากสุดเป็นอันดับหนึ่งของจีนตะวันตก มีสถานกงสุลใหญ่ต่างประเทศตั้งอยู่ 17 แห่ง มากสุดเป็นอันดับที่สามของจีน ท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิวนครเฉิงตูรองรับผู้โดยสารเกือบ 50 ล้านราย และเปิดให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 109 เส้นทาง นอกจากนี้ รถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู-ยุโรป (หรงโอว) ก็ขนส่งสินค้าถึงขบวนที่ 2,000 แล้ว
พัฒนาการการขยายเศรษฐกิจ 4 ทิศทางของมณฑลเสฉวน จำแนกออกได้ดังนี้
– ขยายขึ้นเหนือ มณฑลเสฉวนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานจีน-รัสเซีย ภายใต้กลไลความร่วมมือ “แม่น้ำแยงซีเกียง-แม่น้ำวอลกา (Volga River)” เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษารวมถึงส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว และปัจจุบัน มณฑลเสฉวนมีความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับ 23 เมืองของสหพันธรัฐรัสเซีย
– มุ่งลงใต้ มณฑลเสฉวนมีการส่งเสริมความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) และขยายความร่วมมือกับเขตฮ่องกงและมาเก๊าโดยเฉพาะในด้านการลงทุน อีกทั้ง เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 มีเส้นทางขนส่งโลจิสติกส์ทางบกเชื่อมโยงไปยังทางตอนใต้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาและรักษาระดับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศในอาเซียน เอเชียใต้ และโอเชียเนียอย่างต่อเนื่อง
– เชื่อมโยงตะวันออก มณฑลเสฉวนเน้นการร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 รวมถึงมีการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
– เจาะลึกตะวันตก มณฑลเสฉวนมีรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู-ยุโรป ที่มีโครงข่ายเชื่อมต่อกับ 16 เมืองในทวีปยุโรป อีกทั้งยังมีการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น ตลอนจนมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ด้านการศึกษา และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
ทั้งนี้ มณฑลเสฉวนได้กำหนดภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจ 4 ทิศทาง ไว้ดังนี้
1) ด้านการคมนาคมขนส่ง คือปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ มณฑลเสฉวนเตรียมที่จะสร้างและขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงไปสู่เมืองต่าง ๆ ในมณฑล และเชื่อมโยงไปยังเมื่องอื่น ๆ ทั่วจีน และพัฒนาการขนส่งระบบรางให้มีการเชื่อมโยงไปยังพื้นที่หลากหลาย ยกระดับประสิทธิภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเฉิงตู-ยุโรป ตลอดจน เตรียมรอรับการเปิดให้บริการของสนามบินแห่งใหม่ (สนามบินเทียนฝู่) เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศแห่งจีนตะวันตก และเพิ่มจำนวนเส้นทางการบินระหว่างประเทศและเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศให้มากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางจากนครเฉิงตูไปยังยุโรป เอเชียใต้ และอาเซียน นอกจากนี้ จะพัฒนาสาธารณูปโภคบริเวณด่านนำเข้า-ส่งออกยกระดับการให้บริการพิธีศุลกากรให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งจะดำเนินการขออนุมัติเพิ่มเติมสำหรับประเภทของสินค้านำเข้า-ส่งออกทั้งด่านรถไฟ ทางบก ทางน้ำและด่านทางอากาศ
2) ด้านเวทีความร่วมมือ ปัจจุบันเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลเสฉวนได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว และมีแผนการที่จะขออนุมัติก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรี สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ และจะทยอยเปิดกว้างต่อทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรี อีกทั้งยังมีการวางโครงการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศในมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมอาเซียนที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเลือกสถานที่ตั้ง นอกจากนี้ จะมีการจัดมหกรรมทางเศรษฐกิจหรือกิจกรรมงานแสดงสินค้าจำนวนมากเพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และขยายโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจ อาทิ มหกรรมเศรษฐกิจและการค้าแห่งจีนตะวันตก มหกรรมวิทยาศาสตร์ มหกรรมการเกษตร และมหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทำไมจึงเน้นขยายเศรษฐกิจ “มุ่งลงใต้” และมีแนวทางดำเนินการอย่างไร
ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ มณฑลเสฉวนให้ความสำคัญในการพัฒนาเชื่อมโยงทางทิศตะวันออกมาโดยตลอด โดยอาศัยการขนส่งทางน้ำผ่านเซี่ยงไฮ้ เชื่อมโยงไปสู่ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในหลายปีมานี้ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มณฑลเสฉวนมีผลงานชิ้นสำคัญนั่นคือการเริ่มต้นการขนส่งสินค้าระบบรางเฉิงตู-ยุโรปเมื่อปี 2556 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างนครเฉิงตูกับแถบตะวันตกใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ขณะนี้ การขยายเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนต้องเน้น “มุ่งลงใต้” เป็นสำคัญ
นายหวง เหอ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและปฏิรูปมณฑลเสฉวน กล่าวว่า “ประเทศทางตอนใต้ของมณฑลเสฉวนมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่จำนวนกว่า 2,300 ล้านคน และอาเซียนก็กลายเป็นคู่ค้าอันดับที่สองของมณฑลเสฉวน รองมาจากสหรัฐฯ แต่มีอัตราเฉลี่ยการขยายตัวด้านการค้าระหว่างประเทศกับมณฑลเสฉวนสูงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ดังนั้น ตลาดประเทศทางตอนใต้ของเสฉวนนับว่ามีขนาดที่ใหญ่และมีศักยภาพเป็นอย่างมาก”
จากสถิติในปี 2560 มณฑลเสฉวนมีการนำเข้า-ส่งออกมูลค่า 460,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 ในจำนวนนี้เป็นการค้ากับประเทศทางทิศตะวันออกมีสัดส่วนที่ร้อยละ 45 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และเป็นการค้ากับประเทศทางทิศใต้มีสัดส่วนที่ร้อยละ 28 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61 ขณะที่การเข้ามาลงทุน ประเทศทางทิศใต้มีอัตราส่วนการเข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวนมากถึงร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามณฑลเสฉวนจะมีมูลค่าการค้ากับประเทศทางทิศตะวันออกสูงที่สุด และเป็นแถบที่มีความร่วมมือการค้ากันมาอย่างยาวนาน แต่ทว่ามูลค่าการค้าระหว่างมณฑลเสฉวนกับประเทศทางตอนใต้มีการเติบโตที่รวดเร็วและสูงที่สุด ซึ่งกล่าวได้ว่า ประเทศทางตอนใต้จะมีศักยภาพและโอกาสสูงสุดในการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับมณฑลเสฉวน
การดำเนินนโยบาย “มุ่งลงใต้” ต้องเน้นในด้านการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสาธารณูปโภคด้านการขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อนำมาซึ่งโอกาสและช่องทางการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้า การลงทุน รวมถึงต้องสร้างความสัมพันธ์กันในระดับเมืองและระดับประชาชน เพื่อการดำเนินนโยบายที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
มณฑลเสฉวน มุ่งหน้าลงสู่ตอนใต้เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้า จะต้องใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งผ่านมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงก่อนที่จะเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทางตอนใต้ของมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นลักษณะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งแบบบูรณาการ
– มณฑลเสฉวนผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สามารถขนส่งได้ทั้งระบบรางหรือขนส่งทางบกไปสู่ท่าเรือชินโจว กว่างซี เพื่อเปลี่ยนถ่ายสินค้าและเปลี่ยนสู่การขนส่งทางทะเลเพื่อขนส่งต่อไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ซึ่งเส้นทางขนส่งสายนี้จะใช้เวลาขนส่งเพียงครึ่งหนึ่งของการขนส่งเส้นทางเดิม (มณฑลเสฉวน-มหานครเซี่ยงไฮ้/นครกว่างโจว)
– มณฑลเสฉวนผ่านมณฑลยูนนาน ปัจจุบันจะใช้เส้นทางขนส่งทางบกเป็นหลัก (เส้นทางรถไฟกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง) เพื่อขนส่งสินค้าจากนครเฉิงตูไปยังนครคุนหมิง ต่อไปถึงลาว พม่า เวียดนาม และไทยสำหรับเส้นทางการขนส่งสายนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เส้นทาง R3A (คุนหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ) หรือ R3A+(เฉิงตู-คุนหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ)
นอกจากนี้ มณฑลเสฉวนได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง คือ เส้นทางขนส่ง “หรงโอว+” ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งบูรณาการแบบราง+น้ำที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรป-นครเฉิงตู-กว่างซี-เอเชียตะวันออก-อาเซียน
ขณะเดียวกัน มณฑลเสฉวนกำลังเร่งเดินหน้าเพื่อสร้างและพัฒนาระบบการขนส่งโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงจากมณฑลเสฉวนไปสู่อาเซียน เอเชียใต้และโอเชียเนียให้มากขึ้น โดยเน้นการบูรณาการขนส่งระบบราง+น้ำ และบก+น้ำ เพิ่มความร่วมมือระหว่างระหว่างท่าเรือและด่านสินค้าทางบกของมณฑลเสฉวนกับเมืองทางผ่านบนเส้นทางขนส่งโลจิสติกส์ ใช้นโยบาย 1 ด่าน 1 เส้นทางสำหรับการตรวจสอบพิธีศุลกากรสินค้า และขออนุมัติประเภทของสินค้านำเข้า-ส่งออกให้มีความหลากหลายขึ้น เพื่อทำให้การขยายเศรษฐกิจ “มุ่งลงใต้” เส้นทางนี้มีศักยภาพและมีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น
นอกจากการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งโลจิสติกส์แล้ว มณฑลเสฉวนจะเพิ่มการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับประเทศทางตอนใต้ของมณฑลเสฉวน อาทิ มีการกำหนดกลไกของกรอบความร่วมมือด้านด่านนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ เพื่อสานความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในเชิงลึก มีการผลักดันการเยือนของผู้นำระดับสูงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ การสร้างสัมพันธ์เครือข่ายกับชาวจีนโพ้นทะเลในกลุ่มประเทศเหล่านั้น เพื่อหาช่องทางการขยายความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเปิดโอกาสการก้าวออกไปลงทุนของวิสาหกิจเสฉวนและการชักจูงเข้ามาลงทุนของวิสาหกิจต่างชาติ ตลอดจน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมในระดับเยาวชนเพื่อเรียนรู้และศึกษาความแตกต่างระหว่างกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์และความร่วมมือในลักษณะ WIN-WIN ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
แล้วไทยได้ประโยชน์อะไรจากนโยบาย “มุ่งลงใต้”
ประเทศไทย มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนมาอย่างยาวนาน อีกทั้งทำเลที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากจีนสู่อาเซียนได้ และภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ยิ่งทำให้จีนให้ความสำคัญกับไทยมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากต้องการให้ไทยเป็นประตูเชื่อมสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทั้งด้านการค้าและโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันนโยบายขยายเศรษฐกิจ “มุ่งลงใต้” ของมณฑลเสฉวน ก็สอดรับกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นอย่างดี ซึ่งเอื้อประโยชน์และเปิดกว้างให้กับธุรกิจของทั้งเสฉวนและไทยในหลาย ๆ ด้าน
1) การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงของเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเส้นทาง R3A+ (กรุงเทพ – คุนหมิง – เฉิงตู) เชื่อมโยงไทยและเสฉวน ซึ่งปัจจุบันไทยกับเสฉวนใช้เส้นทางสายนี้ในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าจากไทย อาทิ ผลไม้ เครื่องปรุงรส เครื่องไม้แกะสลัก และผลิตภัณฑ์สปา อีกทั้งการขนส่งทางอากาศส่งออกสินค้าอาหารทะเลสดและแช่แข็ง นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางน้ำ+ราง โดยขนส่งจากท่าเรือแหลงฉบัง และท่าเรืออื่น ๆ สู่ท่าเรือชินโจว กว่างซี ก่อนที่จะขนส่งด้วยรถไฟไปยังมณฑลเสฉวน ซึ่งส่วนใหญ่จะขนส่งสินค้าประเภทข้าวสาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนสินค้าไอที และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และที่สำคัญยังส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของสองฝ่ายเติบโตขึ้นตามไปด้วย
2) การลงทุนในมณฑลเสฉวนเปิดกว้าง เนื่องจากมีนโยบายส่งเสริมชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน มีการให้เช่าใช้โรงงาน โกดังเก็บสินค้า และอาคารสำนักงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีสวัสดิการให้กับครอบครัวผู้ทำงานต่างชาติในด้านวีซ่า การรักษาพยาบาล และการศึกษา โดยมณฑลเสฉวนมีแหล่งลงทุนที่สำคัญ อาทิ เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ เขตทดลองการค้าเสรีเสฉวน เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น ซึ่งวิสาหกิจไทยก็สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมถึงการลงทุน/ขยายกิจการในพื้นที่แห่งนี้ ขณะเดียวกัน เขตส่งเสริมการลงทุนของไทยอย่าง เขตพัฒนาเศรษฐกิจระเบียงตะวันออก (EEC) รวมถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 5 เขต ก็ควรปรับมาตรการด้านการลงทุนสำหรับต่างชาติเพื่อโน้มน้าวความสนใจและเตรียมรองรับการทยอยเข้ามาลงทุนของวิสาหกิจเสฉวน
3) ความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยี ซึ่งมณฑลเสฉวนค่อนข้างมีความโดดเด่น เป็นแหล่งผลิตสินค้าไอทีขนาดใหญ่ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อีกทั้ง นครเฉิงตูเป็นเขตนำร่องนโยบายการผลิตคุณภาพ “Made in china 2025” ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 จึงมองเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้ทางความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ หรืออาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือลงพื้นที่ศึกษาดูงานเขตอุตสาหกรรมระหว่างกัน
4) เศรษฐกิจของเมืองที่เป็นเส้นทางผ่านของการเชื่อมโยงการขนส่งโลจิสติกส์หรือบริเวณเขตชายแดนที่เชื่อมระหว่างประเทศจะและเจริญก้าวหน้ามากขึ้น อาจจะมีการพัฒนาเกิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยทั้ง 5 แห่ง ได้รับประโยชน์และมีพัฒนาการเติบโตที่รวดเร็วขึ้น
จะเห็นได้ว่า มณฑลเสฉวนมีความพร้อมทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การเติบโตในด้านการบริโภคของประชาชน และเป็นแหล่งดึงดูดเงินทุนต่างชาติมากที่สุดในจีนภาคตะวันตก จึงทำให้มณฑลเสฉวนเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศในแถบอาเซียน กอปรกับนโยบาย “มุ่งลงใต้” ที่กำลังเริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจัง ดังนั้น นักธุรกิจไทยและผู้ประกอบการไทย จึงต้องตื่นตัวเพื่อศึกษาข้อมูล แสวงหาช่องทาง จากนโยบาย “มุ่งลงใต้” ให้มากที่สุด เพื่อสร้างโอกาสในการเริ่มต้นการลงทุนในมณฑลเสฉวนและสร้างความร่วมมือเพื่อขยายกิจการกับวิสาหกิจเสฉวน นอกจากนั้น ประเทศไทยคงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการ “ก้าวเข้ามา” ของวิสาหกิจเสฉวนสู่ไทย อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยในอนาคต