นโยบายการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล ของมณฑลฝูเจี้ยน
17 Dec 2019โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2559-2563) ของจีน และการจัดการขยะเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น แผนปฏิบัติการห้ามนำเข้าขยะต่างประเทศและการส่งเสริมการปฏิรูประบบการจัดการการนำเข้าขยะมูลฝอยจากต่างประเทศ (The Implementation Plan for Prohibiting the Entry of Foreign Wastes and Promoting the Reform of the Solid Waste Import Management System) กฎหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Marine Environment Protection Law of the People’s Republic of China) และกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมมลพิษจากขยะมูลฝอยแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Law of the People’s Republic of China on Prevention and Control of Environmental Pollution by Solid Waste) เป็นต้น
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลที่ติดทะเลของจีน และมีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ กรมการประมงและมหาสมุทรแห่งมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian Provincial Department of Ocean and Fisheries) ได้ออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน แผนการจัดการรักษาขยะทางทะเลของเมืองเฉวียนโจว และแผนการจัดการขยะทางทะเลของเมืองเซี่ยเหมิน เป็นต้น โดยในการปฏิบัติเชิงพื้นที่นั้น ในแต่ละปีสำนักงานการประมงและมหาสมุทรท้องถิ่นของแต่ละเมืองในมณฑลฝูเจี้ยนจะกำหนดงบประมาณในการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลตามสภาพปริมาณของขยะทางทะเลในแต่ละพื้นที่ อาทิ เมืองเฉวียนโจวใช้งบประมาณ 5 ล้านหยวนต่อปีในการรักษาความสะอาดพื้นที่บริเวณทะเล โดยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เมืองเฉวียนโจวได้ใช้เงินงบประมาณกว่า 80 ล้านหยวนเพื่อกำจัดขยะทางทะเล และในปี 2561 นครฝูโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยนใช้งบประมาณกว่า 43 ล้านหยวน ในขณะที่เมืองที่มีขนาดรองลงมา ก็ใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินงานด้านรักษาความสะอาดทางทะเล อาทิ เมืองจิ้นเจียงใช้งบประมาณ 5.7 ล้านหยวนต่อปี เมืองฝูติ่งใช้งบประมาณ 3.1 ล้านหยวนต่อปี เมืองสื่อซือใช้งบประมาณ 7.5 ล้านหยวนต่อปี และเมืองหนิ่งเต๋อใช้งบประมาณ 5.1 ล้านหยวนต่อปี
รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ออกมาตรการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ที่สำคัญคือ (1) นโยบายส่งเสริมการพัฒนาการประมงสีเขียว โดยจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนชาวประมงในการใช้รูปแบบและวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อมาตรฐาน (รัฐอุดหนุน 2,500 หยวนต่อ 667 ตารางเมตร) การเพาะเลี้ยงที่ควบคู่กับการปลูกข้าวและบัวแบบบูรณาการ (รัฐอุดหนุน 4,000 หยวนต่อ 667 ตารางเมตร) การเพาะเลี้ยงด้วยน้ำหมุนเวียน (รัฐอุดหนุน 600 หยวนต่อตารางเมตร) การเพาะเลี้ยงที่ควบคู่กับหอยเชลล์และสาหร่าย (รัฐอุดหนุน 170 หยวนต่อตารางเมตร) และการเพาะเลี้ยงในทะเลน้ำลึก (รัฐอุดหนุน 100,000-400,000 หยวนต่อรอบ) (2) การกำหนดหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน โดยสถานศึกษาในแต่ละระดับจะต้องจัดการเรียนการสอนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามความเหมาะสมในแต่ละวัยและระดับชั้นการศึกษาเพื่อปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน ตัวอย่างความสำเร็จในการกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ได้แก่ การรวมตัวของชาวหมู่บ้านถังตงในเมืองจิ้นเจียงเป็นทีมอาสาสมัครในการทำหน้าที่เก็บขยะตามชายฝั่งทะเลเป็นประจำ นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการจูงใจและบทลงโทษอื่น ๆ เช่น ระบบเงินอุดหนุนและเงินรางวัลสำหรับเมืองที่มีผลงานและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบการปรับเงินสำหรับบุคคลหรือวิสาหกิจที่ระบายน้ำเสียหรือทิ้งของเสียลงสู่ทะเล โดยกำหนดอัตราค่าปรับที่ 20,000-100,000 หยวน และหากเป็นกรณีร้ายแรง จะถูกดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ “กฎระเบียบเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลมณฑลฝูเจี้ยน”
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการทำงานโดยนำระบบ GIS (Geo-Information system) และระบบ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งเป็นการใช้อากาศยานไร้คนขับ ติดตามและเก็บภาพสภาพพื้นที่ที่มีขยะ เพื่อส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน จัดตั้งทีมลาดตระเวนตามชายฝั่งทะเลและในทะเล และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดที่ท่าเรือและท่อระบายน้ำลงสู่ทะเลเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันบุคคลหรือหน่วยงานลักลอบทิ้งขยะลงสู่ทะเล นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนยังจัดตั้งสำนักงานควบคุมดูแลความสะอาดเรียบร้อยประจำจุดต่าง ๆ แถวริมชายฝั่งทะเลของแต่ละเมือง และแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะทางทะเลประจำในพื้นที่ทะเลที่กำหนดไว้ เช่น การจัดการขยะทางทะเลของเมืองเซี่ยเหมิน รัฐบาลกำหนดพื้นที่สีน้ำเงิน (ดังภาพ) เป็นพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมบริเวณประมาณ 62 ตารางกิโลเมตรที่กำหนดให้ต้องมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะทางทะเลประจำอยู่ถาวร ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเก็บขยะทางทะเลได้กว่า 1,900 ตันต่อปี ขณะที่พื้นที่ส่วนสีส้ม (ดังภาพ) เป็นบริเวณที่จะดำเนินงานเก็บขยะทางทะเลในอนาคตอันใกล้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 230 ตารางกิโลเมตร
*********
อ้างอิง เว็บไซต์ Fujian Provincial Department of Ocean and Fisheries
http://hyyyj.fujian.gov.cn/xxgk/hydt/jcdt/201707/t20170726_1998961.htm http://hyyyj.fujian.gov.cn/xxgk/hydt/jcdt/201804/t20180402_3156711.htm
เว็บไซต์ Xiamen Ecological Environment Bureau http://sthjj.xm.gov.cn/zwgk/zcfg/fl/201807/t20180705_2014951.htm http://www.quanzhou.gov.cn/zfb/xxgk/zfxxgkzl/zfxxgkml/srmzfxxgkml/ghjh/201712/t20171227_584420.htm และ http://sthjj.xm.gov.cn/zwgk/zcfg/fjsfg/201501/t20150108_1031499.htm