ท่าเรือกว่อหยวนและท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park ประตูสู่เศรษฐกิจของจีนตะวันตก
25 Aug 2021นครฉงชิ่ง เป็นเมืองที่มี GDP ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 1,290,341 ล้านหยวน จัดอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศจีน และเป็นอันดับ 5 ในระดับนคร/เมือง รองจากนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น และนครกว่างโจว
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของนครฉงชิ่ง โดยเฉพาะความแข็งแกร่งด้านภูมิศาสตร์ นครฉงชิ่งเป็นพื้นที่ยุทธ์ศาสตร์และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของจีนตะวันตก เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำแยงซี ทั้งยังเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญสำหรับเส้นทางข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้นครฉงชิ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีทั้งคุณภาพ และความยั่งยืน
จุดเด่นด้านเศรษฐกิจของนครฉงชิ่ง (1) นครฉงชิ่งมีเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง ซึ่งนับเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่อันดับ 4 ของจีน และมีเขตปลอดภาษีเหลียงลู่ซุ่นทางซึ่งเป็นเขตสินค้าปลอดภาษีแห่งแรกของจีนตอนใน (2) นครฉงชิ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของจีน และ ยังเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ 1 ใน 3 ของโลก (3) นครฉงชิ่งได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 นครที่จีนประกาศพัฒนาให้เป็นศูนย์การบริโภคระหว่างประเทศ (4) ได้รับการรับรองจากธนาคารโลกว่าเป็นนครที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน นครฉงชิ่งจึงเป็นหนึ่งในเมืองทางภาคจีนตะวันตกที่มีระดับเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่มีศักยภาพสูง
บุกตลาดจีนตะวันตก ปัจจุบันประเทศไทยมีเส้นทางส่งออกไปจีนหลัก ๆ ทั้งหมด 6 เส้นทางแบ่งเป็นทางเรือ 2 เส้นทาง ทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือนครกว่างโจวและจากท่าเรือแหลมฉบัง สู่ท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ และทางถนน 3 เส้นทาง ได้แก่ (1) R9 จากจังหวัดมุกดาหาร ผ่านดานัง พักสินค้าที่กรุงฮานอยแล้วเข้าสู่นครหนานหนิง (2) R3A จากจังหวัดเชียงราย ผ่าน สปป. ลาว สู่สิบสองปันนา นครคุนหมิง และ (3) R12 จากจังหวัดนครพนมเข้าด่านท่าแขก สปป.ลาว ผ่านเวียดนามและเข้าสู่ด่านผิงเสียง มณฑลกว่างซี และทางรถผ่านด่านตงซิง จากจังหวัดบึงกาฬ เข้าเมืองปากซัน สปป. ลาวผ่านเมืองวิงห์ เข้ากรุงฮานอยและสิ้นสุดที่มณฑลกว่างซี
ในการขนส่งทางเรือจากไทย ท่าเรือที่ใกล้ที่สุดคือ ท่าเรือในนครกว่างโจวและท่าเรือที่มีความพร้อมในนครเซี่ยงไฮ้ จึงเป็นเส้นทางเรือที่ผู้ประกอบการคุ้นเคยและใช้ในการขนส่งสินค้ามาจีนและต่อมายังภาคจีนตะวันตก ในการนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของภาคจีนตะวันตกให้ทัดเทียมกับภาคตะวันออก สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ การพัฒนาระบบเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์
เส้นทางการขนส่งทางเรือ
บทความนี้จึงขอนำผู้อ่านทุกท่านมารู้จักท่าเรือกว่อหยวนและท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park ซึ่งตั้งอยู่ในนครฉงชิ่ง และถือเป็นเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญและเป็น “ประตูสู่เศรษฐกิจของจีนตะวันตก” เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการขนส่งสินค้าจากไทยและอาเซียนมายังภาคตะวันตกของจีนโดยไม่ต้องผ่านไปยังภาคตะวันออกของจีน
1.ท่าเรือกว่อหยวน (ทางเรือ) ตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง มุ่งเน้นพัฒนาและดำเนินการตามโครงการเชื่อมเส้นทางระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลจีน (นครฉงชิ่ง) – สิงคโปร์ International Land-Sea Trade Corridor (ILSTC) เริ่มให้บริการในปลายปี 2556 มีพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร มีท่าเทียบเรือ 16 แห่งแบ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาด 5,000 ตัน 10 แห่ง ท่าเรือสินค้าทั่วไปและเทกอง 3 แห่ง และ ท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งรถยนต์ 3 แห่ง ท่าเรือแห่งนี้สามารถรองรับการขนส่งสินค้า 30 ล้านตันต่อปี และยังเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมการขนส่งทุกรูปแบบเข้าด้วยกัน ได้แก่ ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ และระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้
1.1 ทางด้านทิศตะวันออก ผ่านแม่น้ำแยงซี จากนครฉงชิ่ง – นครเซี่ยงไฮ้ มีความยาว 2,838 กิโลเมตร ผ่านทั้งหมด 11 เมือง ถือเป็นแม่น้ำที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศจีน
1.2 ทิศตะวันตก เส้นทางรถไฟจีน – ยุโรป เน้นเชื่อมระหว่างเอเซียกลางและยุโรป โดยมีระยะทางรวม 11,179 กิโลเมตร ผ่าน 14 ประเทศ 30 เมืองใหญ่และ 62 เมืองในประเทศจีน และมีเส้นทางรถไฟมากกว่า 20 เส้นทาง
1.3 ทิศใต้ เชื่อมเส้นทาง ILSTC สามารถขนส่งไปต่างประเทศได้ถึง 94 ประเทศ มีท่าเรือปลายทาง ที่รองรับถึง 248 แห่ง
1.4 ทิศเหนือ รถไฟขบวนพิเศษระหว่างประเทศ เส้นทางนครฉงชิ่ง – มองโกเลีย – รัสเซีย เน้นการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจจีน – มองโกเลีย – รัสเซีย มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 10,755 กิโลเมตร
เส้นทางการขนส่งผ่านท่าเรือกว่อหยวน
ศูนย์จัดแสดงข้อมูล Guo Yuan Port International Multimodal Transport Hub Sino-Singapore (Chongqing)
Multimodal Transport Demonstration Base
ในปี 2563 ขบวนรถไฟ ฉงชิ่ง – ยุโรป ได้มีการขนส่งผ่านท่าเรือกว่อหยวน 231 เที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็น การนำเข้าวัสดุไม้และทองแดง และส่งออกแร่โครเมียม จึงเป็นท่าเรือที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าของรถไฟจีน – ยุโรป และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง และในปี 2564 ท่าเรือกว่อหยวนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็น“ศูนย์กลางการขนส่งสีเขียวแห่งชาติ”
การขนส่งสินค้าจากอาเซียนมานครฉงชิ่งผ่านเส้นทาง ILSTC มีวิธีการขนส่งทั้งทางเรือเชื่อมราง และเรือเชื่อมเรือ เนื่องจากเส้นทางนี้สามารถขนส่งสินค้ามายังท่าเรือกว่อหยวนได้โดยตรง อย่างไรก็ดี ปริมาณเรือที่ขนส่งโดยไม่ผ่านการเปลี่ยนถ่ายสินค้ายังคงมีปริมาณน้อย เนื่องจากแม่น้ำแยงซีมีระดับความลึกไม่มาก ส่งผลให้การขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ต้องผ่านการเปลี่ยนถ่ายที่ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือท่าเรือที่นครเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี เส้นทางนี้ยังคงเป็นตัวเลือกที่ผู้ประกอบการนิยมเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าทางราง 4 เท่า
นายทัง เว่ยตง รองผู้จัดการทั่วไป ศูนย์โลจิสติกส์ของท่าเรือฯ แจ้งกับบีไอซีว่า ท่าเรือฯ พร้อมที่จะพิจารณาเชื่อมต่อกับประเทศไทยและพื้นที่ EEC ผ่านเส้นทางรถไฟไทย-จีนในอนาคต และตนได้ทราบว่าการสร้างรถไฟจีน-ลาวใกล้เสร็จแล้ว และเมื่อรถไฟจีน-ไทยก่อสร้างแล้วเสร็จ เชื่อมั่นว่าเส้นทางรถไฟดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน
2. ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park (ทางถนน)
“ท่าเรือบก” (Dry Port) หมายถึง ศูนย์โลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนในของประเทศ ทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีกระบวนการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ ภายในท่าเรือบกประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตรวจปล่อยสินค้า และส่วนให้บริการ นอกจากนี้ ยังอาจมีบริการด้านพิธีศุลกากร บริการเก็บพักตู้ เป้าหมายของท่าเรือบกคือ ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแออัดที่เกิดขึ้นตรงท่าเรือ โดยพื้นที่ท่าเรือบกจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป อาทิ ระบบขนส่งรางและระบบขนส่งทางถนน โดยจะเน้นใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก
ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park ตั้งอยู่ในเขตปาหนาน มีพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร เป็นท่าเรือบกที่สำคัญแห่งหนึ่งในนครฉงชิ่ง มีหน้าที่หลักคือเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศที่ครอบคลุมประเทศในอาเซียนและพื้นที่ในภูมิภาคตะวันตกของจีน โดยเน้นการเชื่อมต่อกับเส้นทาง ILSTC ภายในท่าเรือบกแห่งนี้แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่
2.1 โซนคลังสินค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย คลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสินค้าอาเซียน รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ซื้อขายผ่าน cross-border e-commerce ในปี 2563 โซนนี้มีมูลค่าการนำเข้าส่งออก 5,200 ล้านหยวน สามารถเก็บภาษีได้ 130 ล้านหยวน
2.2 โซนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีคลังสินค้าที่เก็บสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยคลังสินค้าเหล่านี้จะเปิดให้ภาคเอกชน อาทิ JD.com SF เช่า ภายในคลังสินค้าประกอบด้วยสำนักงาน แผนกฝ่ายขาย แผนกบริการหลังการขาย และศูนย์ซ่อมบำรุง กรณีสินค้าเสียหายและถูกส่งคืน ในปี 2563 โซนนี้มีมูลค่าการซื้อขาย 136,030 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 2,500 ล้านหยวน
2.3 โซนอุตสาหกรรมและสินค้าเฉพาะทาง ใช้เป็นคลังสินค้าของบริษัทเอกชน เช่น บริษัทอะไหล่ยานยนต์ บริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ ในปี 2563 ภายในโซนมีมูลค่าการซื้อขาย 31,600 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 1,060 ล้านหยวน
2.4 โซนโลจิสติกส์ จะมีบริษัทด้านโลจิสติกส์มากมายให้บริการในการจัดส่งสินค้าทั้งภายในประเทศจีนและต่างประเทศ ในปี 2563 มีมูลค่าการใช้บริการรวม 4,300 ล้านหยวน สามารถจัดเก็บภาษีได้ 560 ล้านหยวน ในอนาคตท่าเรือบกนี้มีแผนขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับการใช้บริการที่มากขึ้น
ปัจจุบัน ท่าเรือบกมีเส้นทางขนส่งทั้งหมด 8 สาย ได้แก่
1. สายตะวันออก เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่านกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และสิ้นสุดที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา) เป็นระยะทาง 3,400กม. ใช้เวลาประมาณ 148 ชม. หรือ 6 วัน
2. สายตะวันออกสายที่สอง เป็นเส้นทางที่ใช้เส้นทางบกและทางเรือ เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และขึ้นเรือขนส่งไปจุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์ รวมระยะทาง 4,300 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยวประมาณ 240 ชม. หรือ 10 วัน
สายตะวันออกสายที่ 2
เขตปาหนัน นครฉงชิ่ง – ประเทศสิงคโปร์
ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park
3. สายกลาง เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านบ่อหาน มณฑลยูนนาน ผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ รวมระยะทาง 2,800 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยวประมาณ 98 ชม. หรือ 4 วัน ในปี 2562 ท่าเรือบกมีปริมาณการขนส่งสินค้าไปประเทศไทย 12 คัน มูลค่า 3.89 ล้านหยวน และในปี 2563 มีการขนส่ง 47 คัน มูลค่า 13.41 ล้านหยวน
4. สายตะวันตก เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากเขตปาหนัน ผ่านตวนลี่ มณฑลยูนนาน ปลายทางกรุงย่างกุ้ง เมียนมา รวมระยะทาง 2,700 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 79 ชม. หรือ 3 วัน
5. สายเอเชีย เป็นเส้นทางการขนส่งทางรางและทางบก ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อระหว่างรถยนต์ขนส่งข้ามพรมแดนกับรถไฟจีน (ฉงชิ่ง) – ยุโรป เริ่มจากยุโรป ผ่านเขตปาหนัน สิ้นสุดที่เวียดนาม รวมระยะทาง 12,400 กม. ใช้เวลาต่อเที่ยวประมาณ 20 วัน
6. สายปาหนัน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน เริ่มจากนครฉงชิ่ง ผ่านผิงเสียง ผ่านเวียดนาม สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิ้นสุดที่สิงคโปร์ รวมระยะทาง 4,500 กม. ใช้เวลาต่อเที่ยวประมาณ 7 วัน
7. สายนครฉงชิ่ง – อุซเบกิสถาน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน รวมระยะทาง 5,700 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 13 วัน
8. สายนครฉงชิ่ง – คาซัคสถาน เป็นเส้นทางการขนส่งทางถนน รวมระยะทาง 5,900 กม. ใช้เวลาขนส่งต่อเที่ยว 12 วัน
แผนที่เส้นทางขนส่งทั้งหมด 8 เส้นทาง
ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park
ภายในสิ้นปี 2564 ท่าเรือบกแห่งนี้มีแผนเปิดใช้งานระบบราง เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการท่าเรือบกแห่งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://www.56cail.cn และที่ท่าเรือบกนี้มีศูนย์บริการ ONE STOP SERVICE ที่สามารถช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ และยังมีบริการนำสินค้าไปจัดแสดงที่ศูนย์จัดแสดงสินค้าอาเซียน บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขาย บริการ ศูนย์กระจายสินค้า บริการจัดส่ง บริการโฆษณาสินค้า ฯลฯ
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งสินค้าไปยังภาคตะวันตกของจีน ในชั้นนี้ อาจต้องพิจารณาผลิตภัณฑ์สินค้าที่จะนำเข้าไปจีนตะวันตกว่าเหมาะสมกับระบบขนส่งทางใด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า โดยการขนส่งแบบเรือเชื่อมเรือมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าการขนส่งทางราง 4 เท่า และเป็นหนึ่งช่องทางในการส่งสินค้าต่อไปยังยุโรปโดยเปลี่ยนถ่ายสินค้าไปเป็นทางรางและขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (หรงโอว) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องคำนวณต้นทุนในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือซินโจวหรือท่าเรือที่นครเซี่ยงไฮ้ด้วย ซึ่งจะกระทบต่อราคาและระยะเวลาในการขนส่ง ในส่วนการขนส่งทางถนนผ่านท่าเรือบกฯ ต้นทุนในการขนส่งทางถนนก็จะสูงขึ้น แต่มีข้อได้เปรียบคือเรื่องระยะเวลาและการกระจายสินค้า เพราะเมื่อสินค้าไปถึงท่าเรือบกดังกล่าว สินค้า พร้อมที่จะกระจายสู่ภาคจีนตะวันตกและภาคอื่น ๆ ในรูปแบบค้าปลีกผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ได้ประโยชน์และเกิดความคุ้มค่าสูงสุด ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถขนส่งไปทางเส้นทางนี้ ตลอดจนระเบียบศุลกากร และรายละเอียดต่าง ๆ ประกอบด้วย
แหล่งที่อ้างอิง
- ศูนย์จัดแสดงข้อมูล Guo Yuan Port International Multimodal Transport Hub Sino-Singapore (Chongqing) Multimodal Transport Demonstration base, 2564
- บทสัมภาษณ์ นายทัง เว่ยตง รองผู้จัดการทั่วไป ศูนย์โลจิสติกส์ของท่าเรือกว่อหยวน, 22 เม.ย. 2564
- เจ้าหน้าที่ท่าเรือบก Chongqing ASEAN International Logistics Park, 22 เม.ย. 2564
- Interpreting new perspectives, 2564, จัดอันดับมูลค่า GDP ไตรมาสแรกปี 2564 ระดับนคร/เมือง, สืบค้นจาก https://baijiahao.baidu.com/s?id=1699276637910608399&wfr=spider&for=pc
- ASKCI Consulting, 2564, จัดอันดับมูลค่า GDP ไตรมาสแรกปี 2564 ระดับมณฑลและระดับนคร/เมือง สืบค้นจาก https://top.askci.com/news/20210423/1403381431145.shtml
- ธนาคารกรุงเทพ, 2562, ขนส่งผลไม้ไทยไปจีนใช้ทางไหนดี.สืบค้นเมื่อ, สืบค้นจาก https://www.bangkokbanksme.com/en/logistics-to-china
- Transtime Commercial vehicle community, 2562, รู้จัก 6 เส้นทางขนส่งผลไม้ไทยไปจีน,
สืบค้นจาก https://www.transtimenews.co/5154/ - กรุงเทพธุรกิจ, 2564, กวางตุ้ง ระบาดโควิด ส่อกระทบขนส่งสินค้าทางเรือ ตอนใต้จีน, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/943626
- สำนักงานการต่างประเทศนครฉงชิ่ง, หนังสือแนะนำภาพรวมนครฉงชิ่งจากงาน Special ASEAN – CHINA Foreign Ministers Meeting, 2564 หน้า 05
- 10.บริษัทขนส่ง Logistics Baba, 2564, จัดอันดับเมืองที่มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทอนเนอร์มากที่สุดในโลกปี 2020, สืบค้นจาก https://www.sohu.com/a/451288717_328178
- China Business Intelligence Network, 2564, จัดอันดับเมืองที่มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากสุดในประเทศจีนปี 2020, สืบค้นจาก https://www.163.com/dy/article/GG0EQE2S051481OF.html
- สำนักงานสถิตินครฉงชิ่ง, 2564, GDP ครึ่งปีแรก 2021, สืบค้นจาก http://tjj.cq.gov.cn/zwgk_233/fdzdgknr/tjxx/sjjd_55469/202107/t20210719_html