ทิศทางการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของรัฐบาลยูนนาน
18 Feb 2019หลังการประชุมสภาประชาชนมณฑลยูนนานประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา รัฐบาลยูนนานได้ประกาศการเดินหน้ามุ่งเน้นการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งขณะนี้ในประเทศจีนมีแนวโน้มการเติบโตสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลายของชาวจีน
พัฒนาการเช่นนี้เป็นผลสำคัญจากการประกาศนโยบาย “Internet Plus” ของรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งส่งเสริมการผสมผสานอินเทอร์เน็ตเข้ากับอุตสาหกรรมดั้งเดิมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้ รัฐบาลยูนนานได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการดำเนินการตามแนวทางนี้ โดยเน้นผลการสร้าง “ความเป็นอัจฉริยะ” ให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในมณฑลมากขึ้น พร้อมกันนี้ รัฐบาลยูนนานยังปรับบทบาทการดำเนินงานควบคู่กันไปโดยเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นผู้สร้าง ผู้อำนวยความสะดวก รวมถึงผู้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านนี้ของรัฐบาลยูนนาน ได้แก่ การสร้างความร่วมมือรัฐร่วมเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ในปี 2561 เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันบริการประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างสูง ตัวอย่างเช่น
1) การผนวกอินเทอร์เน็ตเข้ากับ “การบริการประชาชน” เป็นแอปพลิเคชัน “ปั้นซื่อทง” (办事通) โดยร่วมมือกับธนาคาร China Construction Bank เพื่อเสนอบริการแบบครบวงจรจากหน่วยงานรัฐบาลกว่า 15 แห่งในนครคุนหมิงแก่ประชาชน อาทิ กรมการศึกษา กรมความมั่นคงสาธารณะ กรมยุติธรรม กรมกิจการพลเรือน กรมการคลัง กรมทรัพยากรมนุษย์และสังคม กรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กรมสุขอนามัยและสุขภาพ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารราชการ ตรวจสอบข้อมูล ยื่นคำร้องด้านต่าง ๆ นัดหมายติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนชำระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำ ภาษี หรือค่าปรับได้ ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จในการใช้ระบบดิจิทัลยกระดับการบริการประชาชน
2) การผนวกอินเทอร์เน็ตเข้ากับ “การท่องเที่ยว” เป็นแอปพลิเคชัน “โหยวยวิ๋นหนาน” (游云南) โดยร่วมมือกับ Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนผู้พัฒนาระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ WeChat Pay เพื่อให้บริการด้านการท่องเที่ยวมณฑลยูนนานอย่างครอบคลุม ทั้งข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร การใช้ชีวิต แหล่งช้อปปิ้ง และแหล่งบันเทิง ซึ่งนับเป็นการเสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของมณฑลแก่ผู้สนใจโดยตรงผ่านระบบดิจิทัล
3) การผนวกอินเทอร์เน็ตเข้ากับ “ภาคการเกษตร” เป็นแอปพลิเคชัน “ยวิ๋นผิ่นฮุ่ย” (云品荟) โดยร่วมมือกับเครือบริษัทเถาจินซึ่งมีช่องทางการกระจายสินค้าในระบบออนไลน์ร่วมกับเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอย่าง Taobao Tmall และ JD เพื่อนำสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรที่โดดเด่นของมณฑล อาทิ ดอกไม้ พืชผัก ผลไม้ ชา เมล็ดถั่ว สมุนไพร กาแฟ เห็ด แฮมยูนนาน มาขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นับเป็นการขยายตลาดเพื่อการเข้าถึงสินค้าในวงกว้างผ่านระบบดิจิทัล
นอกจากความก้าวหน้าที่โดดเด่นข้างต้นแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561 รัฐบาลยูนนานยังร่วมมือกับเครือบริษัท Inspur จัดตั้งศูนย์ข้อมูล Big Data การป่าไม้ของจีน (China Forestry Big Data Center) นับเป็นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ในด้านนี้แห่งแรกของจีนด้วยการผนวกอินเทอร์เน็ตเข้ากับ “ระบบบริหารจัดการป่าไม้” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัยและมีความถูกต้อง สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับชาติ ในด้านการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ วิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง การบริการกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรป่าไม้ ทั้งนี้ ป่าไม้นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญของมณฑลยูนนาน ปัจจุบันนี้ยูนนานมีพื้นที่ป่าไม้ถึง 391 ล้านหมู่หรือประมาณ 163 ล้านไร่ มากเป็นอันดับ 2 ของจีน โดยพื้นที่ป่าไม้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 59.7 ของพื้นที่มณฑล สูงเป็นอันดับ 7 ของจีน
การส่งเสริมวาระที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลส่งผลให้ในปัจจุบัน มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในมณฑลยูนนาน (GDP) ประมาณร้อยละ 2-3 มาจากอุตสาหกรรมสารสนเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 120,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 600,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลยูนนานจึงเร่งการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการเติบโต และในขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่าง Huawei Tencent และ Inspur ก็ทยอยเข้ามาร่วมมือกับมณฑลพัฒนาในด้านนี้แล้ว
สำหรับแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลต่อจากนี้ของมณฑล นายหร่วน เฉิงฟา (Ruan Chengfa) ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ได้นำเสนอแผนงานของรัฐบาลมณฑลฯ ต่อที่ประชุมสภาประชาชนครั้งล่าสุด โดยประกาศที่จะสร้าง “ดิจิทัลยูนนาน” (Digital Yunna) และเน้นว่าทุกองคาพยพต้องผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้นโยบายการส่งเสริมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง รวมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อผลักดันการสร้างยูนนานให้กลายเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีภารกิจที่จะดำเนินงานในระยะแรก 3 ประการ ประกอบด้วย 1) กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระยะ 5 ปีของมณฑลยูนนาน 2) สร้างนิคมสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาทิ นิคมอุตสาหกรรมสารสนเทศ เขตพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และตำบลดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น Big Data ระบบคลาวด์คอมพิวท์ติ้ง Internet of Things (IoTs) AI และ Blockchain 3) เร่งสร้างพื้นที่นำร่องทดสอบเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ในหลายพื้นที่ของมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล
ที่สำคัญ รัฐบาลยูนนานยังจะส่งเสริมการสร้างปัจจัยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาในพื้นที่ การให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ อาทิ ด้านที่ดิน ภาษี และกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล อาทิ ศูนย์วิจัยความร่วมมือนานาชาติดิจิทัลยูนนาน ห้องทดลองบริการสาธารณะเพื่อประยุกต์ใช้ดิจิทัล การสนับสนุนให้บริษัทสร้างศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการนำยุทธศาสตร์ “ไพ่สามใบ” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2561 ประกอบด้วย อาหารสีเขียว (Green Food) พลังงานสีเขียว (Green Energy) และจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ (Healthy Lifestyle Destination) มาผนวกมิติด้านดิจิทัลมากขึ้น
กล่าวได้ว่า การสร้าง “ดิจิทัลยูนนาน” นอกจากเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมดั้งเดิมของมณฑล ยังมีนัยสื่อถึงความตระหนักของมณฑลเรื่องความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมของมณฑลที่ขณะนี้พึ่งพาอุตสาหกรรมดั้งเดิมและภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรวมทั้งความสามารถด้านการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจมณฑลฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน (Supply-side Structural Reform) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เน้นการขจัดส่วนเกินด้านอุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดกำลังการผลิตอุตสาหกรรมล้าสมัย ซึ่งในกรณีของมณฑลยูนนาน เช่น ถ่านหิน เหมืองแร่ อย่างไรก็ดี จุดเด่นสำคัญของมณฑลยูนนานซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่การมุ่งดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของประเทศไทยนั้น ได้แก่ การพัฒนาที่มุ่งตอบโจทย์การสร้างประโยชน์ในชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นลำดับแรก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่การกำหนดเป้าหมายการดำเนินนโยบายและการสร้างรากฐานสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายที่แข็งแรง
************************************
แหล่งข้อมูล
https://www.ybsjyyn.com/
https://www.yunpinshop.com/
https://www.clzg.cn/article/45341.html
http://m.yunnan.cn/system/2019/02/01/030193944.shtml
http://wxyd.yunnan.cn/html/2019/CSY_0130/107897.html
http://cg.km.gov.cn/c/2018-09-21/3033104.shtml
http://www.ynly.gov.cn/yunnanwz/pub/cms/2/8407/8415/30222/30238/114836.html
http://www.ynetc.gov.cn/Item/18626.aspx