ทำไมถึงบอกว่า…ผู้ประกอบการไทย “เสียโอกาส” จากงาน China-ASEAN Expo ที่ผ่านมา แล้วควรเตรียมตัวใหม่อย่างไรกับงานในปีหน้า
16 Dec 2020นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
การใช้สื่อดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และการทำงาน ก่อนวิกฤตโควิด-19 กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี หรือ Digital disruption ก็มาแรงอยู่แล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 เปรียบเสมือน “ยากระตุ้น” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจให้เร็วยิ่งขึ้น
ทางรอด คือ “การปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่” ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาและคิดค้นวิธีแก้ไขและก้าวผ่านข้อจำกัด เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภทจึงต้องปรับตัวจากการมีหน้าร้านไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
การจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ครั้งที่ 17 ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายๆ เรื่องเช่นกัน ทั้งช่วงเวลาในการจัดงาน จากเดิมที่มีกำหนดจัดในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ก็ปรับเลื่อนเป็นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อจัดแจงความพร้อมในการป้องกันโรคระบาดและรอดูลาดเลาของงาน China International Import Expo หรือ CIIE ที่นครเซี่ยงไฮ้เสียก่อน นอกจากนี้ รูปแบบการจัดงานก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้รูปแบบผสมทั้งแบบ offline + online
ก่อนอื่น เรามาพูดถึงการจัดงาน offline กับ Pavilion สินค้าอาเซียนกันก่อน ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ พื้นที่ออกบูธสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนถูกลดขนาดลงจากปีก่อนๆ โดยผู้จัดงานเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ประกอบการอาเซียนที่มีบริษัทลูกหรือมีตัวแทนในจีนเข้าร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น
สำหรับ Pavilion ไทย ถึงแม้จะถูกย่อขนาดเหลือ 50 บูธ (ปีก่อนๆ ไทยเราเหมาฮอลล์สินค้า 156 บูธ) แต่ขอบอกว่า… สีสันและบรรยากาศยังคงคึกคักเช่นเคย จนนึกถึงเพลงเชียร์กีฬาสี… ไทยแลนด์น่ารัก คึกคักเวลาลงเล่น ไทยแลนด์ใจเย็นๆ เวลาลงเล่นคึกคักๆ
สิ่งใหม่ คือ การจัดงาน online โดยผู้จัดได้พัฒนาแพลตฟอร์ม online ไว้ให้กับผู้ประกอบการจากอาเซียน คือ (1) เว็บไซต์จัดแสดงสินค้า https://wap.caexpo.org/home (ภาษาอังกฤษ) ให้ผู้ประกอบการจากอาเซียนได้อัปโหลดภาพสินค้า รายละเอียด และวิธีการติดต่อลงบนเว็บไซต์ดังกล่าว และ (2) แพลตฟอร์ม Live Streaming ไลฟ์สดแนะนำบริษัทและตัวสินค้า top item ให้กับคู่ค้าชาวจีน โดยมีพิธีกรดำเนินรายการให้ประเทศละ 1 ชั่วโมง
ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมผู้ประกอบการไทย “เสียโอกาส” จากงาน China-ASEAN Expo ที่ผ่านมา ศูนย์ BIC ขอให้ผู้ประกอบการไทยปรับโลกทัศน์ที่มีกับจีนแผ่นดินใหญ่เสียก่อน เพราะหากท่านยังมองภาพจีนสมัย 30 ปีก่อนแล้ว จีนคงไม่ใช่คำตอบทางธุรกิจของท่าน
จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในจีนของผู้เขียน ต้องบอกว่า…ในบริบท “เศรษฐกิจดิจิทัล” จีนก้าวไปไกลถึงช่วง post-digital era หรือโลกหลังยุคดิจิทัลแล้ว ขณะที่ไทยเพิ่งตั้งไข่เดินสู่ยุคดิจิทัลได้ไม่นาน การใช้ชีวิตของชาวจีนได้ถูกหล่อหลอมให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต รูปแบบการทำธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกออนไลน์
ตัวเลขที่น่าสนใจจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน หรือ CNNIC ที่เปิดเผย ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่า จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) พุ่งแตะ 940 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1/5 ของผู้ใช้งานทั่วโลก และมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศถึง 13.4 เท่า และ Netizen เหล่านี้มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 99.2% หรือเท่ากับ 932 ล้านคน
นอกจากนี้ บัญชีผู้ใช้งานไลฟ์สด วิดีโอสั้น และการค้าปลีกออนไลน์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ใช้งานไลฟ์สดมีจำนวน 309 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนก่อน 44.3 ล้านราย โดยการไลฟ์สดเป็น internet application ที่เติบโตสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ด้วยอัตราการขยายตัวที่ 16.7% ขณะที่ผู้ใช้งานค้าปลีกออนไลน์มีจำนวน 749 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 79.7% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และตลาดค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน
ณ จุดนี้ ผู้ประกอบการไทยลองตั้งคำถามให้ตนเองดูว่า…ตลาดออนไลน์ในจีนเป็น “โอกาส” สำหรับท่านหรือไม่ และกลับมาที่ทำไมถึงบอกว่า ผู้ประกอบการไทย “เสียโอกาส” จากงาน China-ASEAN Expo เข้าใจว่า…การออกบูธในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าและบริการไปประชาสัมพันธ์หรือทดลองตลาด และเป็นจุดนัดพบในการเจรจาการค้าหรือหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ แต่ในบริบทที่สถานการณ์โลกไม่อำนวย และมีทางเลือก “ออนไลน์” ซึ่งเป็นช่องทางการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า (แถมน่าเชื่อถือในสายตาผู้ค้าจีนเพราะเป็นแพลตฟอร์มรัฐ)
เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการในไทยไม่ค่อยให้ความสนใจกับการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากสักเท่าไหร่ ตามคำบอกเล่าจากฝ่ายผู้จัดที่ตั้งใจสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ไว้ให้กับผู้ประกอบการไทย(อาเซียน)ขยายตลาดในจีน พบว่าจำนวนผู้ประกอบการไทยบนแพลตฟอร์มมีอยู่น้อยราย แถมที่มีอยู่น้อยรายก็เป็นตัวแทนในจีนที่เขากระตือรือร้นอยากจะเข้าไปอัปโหลดภาพและรายละเอียดสินค้า (แอบยกนิ้วให้กับผู้ประกอบการเวียดนามที่ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้อย่างเต็มทีจริงๆ) ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับสังคมดิจิทัลให้เร็วขึ้นกว่านี้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากนำมาวิเคราะห์ร่วมกับตัวเลขสถิติข้างต้น พอจะเป็นเหตุผลที่กล่าวได้ว่า…ผู้ประกอบการไทยได้ “เสียโอกาส” ทางธุรกิจไปมากขนาดไหน
การนำธุรกิจก้าวสู่การแข่งขันในยุคนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับ mindset ในการเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค(ในจีน) การหอบสินค้ามาขายแล้วหอบเงินกลับบ้านคงไม่ใช่วิถีทางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความไม่ปกติจากโควิด-19 ที่มีทีท่าจะลากยาวข้ามปี การเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมดิจิทัลในจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างหากที่เป็นทาง(รอด)ของธุรกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้จัดได้กำหนดเวลาการจัดงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 18 ในปีหน้าไว้แล้ว ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2564 แต่…ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในงาน China-ASEAN Expo ซึ่งยากจะคาดเดา นอกจากการปรับ mindset ที่พูดถึงข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมตัวและปรับตัวแต่เนิ่นๆ
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ท่านจะต้องเป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมงานเสียก่อน ประสบการณ์ที่ตกผลึกจากงาน China-ASEAN Expo ในปีนี้ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเดินทางไปออกบูธได้ ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาขยายธุรกิจด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกหรือหาตัวแทนที่น่าเชื่อถือในจีน
ที่สำคัญ…อย่าพลาดโอกาสในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ให้เป็นอันขาด ควรเตรียมโปรไฟล์บริษัทที่น่าเชื่อถือ รูปถ่ายสินค้าที่น่าดึงดูด และรายละเอียดสินค้าที่ครบถ้วนไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถติดตามความคืบหน้าผ่านศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ที่เว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com หรือติดตามรายละเอียดเงื่อนไข/ข้อกำหนดในการเข้าร่วมงานและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02-507 8164 อีเมล [email protected]
***************