ทันโลก ซัวเถาเร่งเครื่อง จากเมืองแห่งของเล่นสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’
2 Dec 2024เมืองซ่านโถว หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ‘ซัวเถา’ เป็นเมืองแห่งของเล่นที่สำคัญของจีน[1] โดยของเล่นพลาสติกในจีนร้อยละ 70 ผลิตที่เมืองซัวเถา และยังเป็นเมืองที่ส่งออกของเล่นไปยัง 120 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอนาคตของเศรษฐกิจทั่วโลกและปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวเร่งให้ภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลขั้นสูง เมืองซัวเถาเองได้หันมาเตรียมพร้อมสู่การพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวตามการเปลี่ยนแปลงได้ทันเช่นกัน
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ
ปัจจุบัน เมืองซัวเถามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้เป็น ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับ 1 ของภูมิภาค’ โดยสร้างบทบาทสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในมณฑลกวางตุ้ง ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ทันสมัย โดยเฉพาะการสร้างดาวเทียม ‘ซัวเถาดิจิทัลหมายเลข 1’ ซึ่งเป็นดาวเทียมลำดับที่ 33 ของกลุ่มดาวเทียมเทียนฉี่[2] โดยจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตในสรรพสิ่ง (IoT) เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ (low-altitude economy) บิ๊กดาต้า (Big Data) และอินเทอร์เน็ต 5G
นอกจากนี้ เมืองซัวเถายังได้ลงนามในโครงการเศรษฐกิจดิจิทัล มูลค่า 17,000 ล้านหยวน (2,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านข้อมูลที่ทันสมัย ซึ่งการลงทุนเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเมืองซัวเถาในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคให้ก้าวสู่ระดับสากลได้เป็นอย่างดี
เมื่อปี 2566 เมืองซัวเถามีจำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 3.2 เท่า ส่งผลให้เมืองซัวเถากลายเป็นผู้นำในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เกมข้ามพรมแดน และอุตสาหกรรมดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของเมืองซัวเถาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13
เศรษฐกิจดิจิทัลกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
เมืองซัวเถาดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจำนวนมาก เช่น บริษัท Tencent บริษัท Alibaba บริษัท Huawei และ บริษัท Luxshare Precision เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากความได้เปรียบด้านความเร็วในการส่งข้อมูลและการหมุนเวียนข้อมูลผ่านดาวเทียม และส่งผลให้บริษัทดังกล่าวมีแผนที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเมืองซัวเถาเพิ่มเติมด้วย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรม เป็นต้น
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเมืองซัวเถายังมีข้อได้เปรียบด้านช่องทางข้อมูลอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศและการจัดสรรทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนโพ้นทะเล สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวขององค์กรด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น นายหวัง หลายเซิง รองประธานบริษัท Luxshare Precision ชี้ให้เห็นว่า “เมืองซัวเถาเป็นตลาดที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกวางตุ้ง
มณฑลกวางตุ้งได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนตั้งแต่ปี 2546 และมีนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัล และสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมบริการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 อีกทั้ง ยังเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปีอีกด้วย
โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ออกมาตรการและแผนการพัฒนาที่สำคัญ เช่น มาตรการการรับรองคุณสมบัติและการตรวจสอบประจำปีของหน่วยรับรองกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Administrative Measures for the Qualification Recognition and Annual Examination of E-commerce certification Bodies (Interim)) เพื่อสร้างมาตรฐานที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือในภาคบริการดิจิทัลในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2559 มณฑลกวางตุ้งยังมุ่งเน้นการออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลและรัฐบาลดิจิทัล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกวางตุ้ง (ค.ศ. 2018 – 2025) (Digital Economy Development Plan of Guangdong Province (2018-2025)) อันเป็นกรอบการทำงานสำคัญ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มณฑลกวางตุ้งสามารถรักษาความเป็นผู้นำในเวทีเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนได้อย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกวางตุ้งที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มณฑลกวางตุ้งยังคงครองตำแหน่งผู้นำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนอย่างต่อเนื่อง 8 ปี นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบ 5G และการขยายบริการคลาวด์ รวมถึงการพัฒนาเมืองซัวเถาให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนชั้นนำ จึงทำให้มณฑลกวางตุ้งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมโยงระหว่างไทย-เมืองซัวเถา และไทย-มณฑลกวางตุ้งในด้านการค้า การผลิต และการลงทุน การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของไทยสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการดำรงความได้เปรียบ ด้วยการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่พร้อมตอบสนองต่อแนวโน้มการพัฒนาด้านการผลิตและการค้าในระดับภูมิภาคและโลกได้
นภสร พรพิมาน เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
2 ธันวาคม 2567
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://news.southcn.com/node_54a44f01a2/485201a6c8.shtml
https://www.mobileworldlive.com/china-telecom-guangdong-and-huawei-pilot-100-intelligence-native-5-5g-base-stations/
http://gd.news.cn/20241028/f16a46234c7b40b2a94cebeb5a65ef22/c.html
[1] เมื่อเดือนมกราคม – กันยายน 2567 เมืองซัวเถาส่งออกของเล่นมูลค่ากว่า 9,040 ล้านหยวน (1,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 26 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของเมืองซัวเถา ขณะที่ เมืองซัวเถามีบริษัทของเล่นขนาดใหญ่กว่า 264 บริษัท มูลค่ารวมกว่า 30,856 ล้านหยวน (4,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
[2] กลุ่มดาวเทียมเทียนฉี่ (Tianqi constellation) ประกอบด้วยดาวเทียมขนาดเล็ก 38 เครื่อง พัฒนาโดยบริษัท Guodian Gaoke เป็นกลุ่มดาวเทียวขนาดเล็กที่ออกแบบให้อยู่ในวงโควรระดับต่ำของโลก ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อการรับส่งข้อมูลระยะใกล้ โดยเฉพาะข้อมูลสำหรับอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT)