ถอดประสบการณ์ “โอกาสสินค้าไทย” จากงานเทศกาลไทย ปี 2562 ณ นครซีอาน
25 Oct 2019งานเทศกาลไทยปี 2562 (2019 Thai Festival) ถือเป็นการจัดกิจกรรมแบบ Stand Alone ครั้งแรกของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ซึ่งที่ผ่านมาสถานกงสุลใหญ่ฯ จะรวมการจัดงานเทศกาลไทยกับการเข้าร่วมออกบูธในงานมหกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงปีแรกๆ แต่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นและคณะกรรมการผู้จัดงานมีนโยบายประชาสัมพันธ์ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ไกลจากเขตเมือง การเดินทางไม่สะดวก ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนมากเท่าที่ควร สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันการจัดงานเทศกาลไทยให้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง และเป็นงานประจำปีที่ประชาชนรับรู้ (Annual Event) โดยไม่ต้องพึ่งพาการเข้าร่วมงานมหกรรมที่ฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงนโยบายและรูปแบบการจัดงานบ่อยครั้ง
งานเทศกาลไทยครั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 20 ราย ประกอบด้วย (1) กลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป อาทิ เครื่องดื่ม ทุเรียนอบกรอบ กล้วยฉาบแปรรูป รังนกพร้อมดื่ม และเครื่องปรุงกึ่งสำเร็จรูป (2) ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสปา (3) สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ สบู่และแชมพูจากสมุนไพรไทย (4) ยาสมุนไพรและเครื่องสำอาง (5) ผลไม้สด (6) สินค้าแฟชั่น และ (7) การจำหน่ายแพคเกจท่องเที่ยวไทย
ในโอกาสนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ได้รวบรวมข้อเสนอแนะ รวมไปถึงแง่มุมที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบในการเข้ามาทดลองตลาดในนครซีอาน ดังนี้
1. ตลาดนครซีอานเหมาะกับสินค้าที่มีเอกลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ดึงดูดสายตา แต่ราคาไม่สูงจนเกินไป “นครซีอาน” ถือเป็นตลาดใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยอาจยังมีความ “กล้าๆ กลัวๆ” ที่จะเข้ามาเปิดตลาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางจนถึงขนาดเล็ก จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ BIC พบว่า กว่าร้อยละ 77.78 ของผู้ประกอบการเดินทางมาทดลองตลาดที่นครซีอานเป็นครั้งแรก แม้ข้อมูลเชิงสถิติจะระบุว่า ชาวซีอานมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ในทุกๆ ปี แต่ใช่ว่าชาวซีอาน “พร้อมเปย์” ให้กับทุกผลิตภัณฑ์ ชาวซีอานจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับราคาสินค้า โดยเฉพาะหากสินค้าไทยนำเข้ามีราคาสูงกว่าสินค้าจีนประเภทเดียวกันมากเกินไป อาจทำให้สินค้าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
2. ทำเลดี มีชัยไปกว่าครึ่ง?
การเลือกทำเลที่ตั้งร้านค้าปลีก หรือ Store Location เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกประสบความสำเร็จ ในปีนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ เลือกสถานที่จัดงานโดยเน้นที่ฐานกำลังซื้อของผู้อาศัยในบริเวณดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสินค้าไทยที่นำมาจัดจำหน่ายในงานฯ เท่าใดนัก เสียงสะท้อนจากผู้เข้าชมงานกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าไทยสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นจากความก้าวหน้าของ E-Commerce ผู้เข้าชมงานบางส่วนจึงมองว่าสั่งสินค้าไทยผ่าน Online Platform สะดวกและประหยัดกว่า ดังนั้น จากประสบการณ์ที่ได้รับในปีนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ มองว่างานเทศกาลไทยในปีต่อๆ ไป ควรมีการจัดโซนสินค้าประเภทต่างๆ เช่น โซนของอุปโภคบริโภค โซนแฟชั่น เพิ่มความหลากหลายของสินค้า รวมถึงเลือกทำเลสถานที่จัดงานให้สอดคล้องกับฐานกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจะนิยมสินค้าไทย
3. Mass Production อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
หลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในหลายมิติ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพ และความต้องการสินค้าที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่โลกออนไลน์ทรงอิทธิพลมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและเร็ว เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและรับมือให้ทัน สังเกตว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนชื่นชอบสินค้าที่มีเอกลักษณ์และตอบสนองตัวตนมากขึ้น (personalization) สอดคล้องกับผลสำรวจของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่ระบุว่า “กว่าร้อยละ 30 ของผู้บริโภคในเอเชียมีความต้องการสินค้าเฉพาะกลุ่มและสินค้าที่ปรับแต่งเองได้” ดังนั้น หากต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีน สินค้าไทยในปัจจุบันอาจจำเป็นต้องเพิ่มจุดเด่น สร้าง gimmick เสริมความคิดสร้างสรรค์ อาทิ การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถ “สั่งทำ” สินค้าตามออร์เดอร์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเปิดใจที่จะทดลองสินค้าไทยมากขึ้น
4.จีนเข้มงวดและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น “สินค้าที่ใช้กับร่างกาย” ฉลากและเอกสารการรับรองภาษาจีนต้องพร้อม!
หนึ่งในสินค้าไทยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีน คือ สินค้าด้านความงาม ตลอดจนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ โดยไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑสำหรับร่างกายไปยังประเทศจีนจำนวนมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ถูกตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหันมาใส่ใจกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เน้นสารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ทั้งในไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ควบคู่ไปกับนวัตกรรมที่รองรับความปลอดภัยต่อสุขภาพ ก็จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพราะผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันให้ความใส่ใจต่อสุขภาพสูง
ศูนย์ BIC ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ตรงในระหว่างงานเทศกาลไทยที่ผ่านมา ได้มี อย. (ระดับเขต) เข้ามาตรวจสอบสินค้าที่จัดจำหน่ายอย่างเข้มงวด แม้ว่าก่อนการจัดงานเทศกาลไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้นำส่งเอกสารของผู้ประกอบการไทยที่เข้ารวมออกร้าน (ใบอนุญาตบริษัท เอกสารการนำเข้าสินค้า เอกสารการชำระอากรนำเข้า) ไปยังหน่วยงานต่างๆ ของจีน อย่างครบถ้วนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หน่วยงานด้าน อย.(ระดับเขต) อ้างว่าหากเป็นสินค้าในกลุ่มยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายจะไม่สามารถจำหน่ายได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระยะหลัง รัฐบาลจีนมีนโยบายเข้มงวดในประเด็นด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น โดยล่าสุด มีการประกาศใช้กฎหมายยาฉบับใหม่เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและเข้มงวดอย่างสูงสุด ในท้ายที่สุดสถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถแก้ไขสถานการณ์ผ่านการประสานงานไปยังสำนักงานการต่างประเทศมณฑลส่านซี และสำนักงานความปลอดภัยทางอาหารและยามณฑลส่านซีอีกครั้งซึ่งได้รับความร่วมมือและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของงานเทศกาลไทย
5. เอกสารครบ! สินค้าไทยไปได้ไกล
ผู้ประกอบการไทยล้วนทราบถึงศักยภาพและโอกาสของตลาดจีนดี แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงกล้า ๆ กลัว ๆ เนื่องจากไม่สันทัดในด้านภาษา และระเบียบ/กฎหมายจีนต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนกับ China Food and Drug Administration (CFDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขจีนที่ดูแลรับผิดชอบ ตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องสำอางที่จะนำเข้าสู่จีนโดยตรง เพื่อขอรับ Hygiene License หรือ Record-keeping Certificate โดยปกติจะจำแนกเครื่องสำอางออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) เครื่องสำอางทั่วไป และ (2) เครื่องสำอางพิเศษ (กลุ่มเครื่องสำอางที่ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น โลชั่นกันแดด ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวของผิว หรือครีมกระชับทรวงอกเป็นต้น)
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รู้ไว้ใช่ว่า … เอกสารประกอบการนำเข้าเครื่องสำอางและสปาสมุนไพร และความสำคัญของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะส่งออกสินค้ามายังประเทศจีน ควรจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเพิ่มเติม อาทิ (1) ใบรับรองความปลอดภัยและมาตรฐานของสินค้า (2) ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (3) ใบขนสินค้าขาออก (4) เอกสารการบรรจุหีบห่อ (Packing List) และ (5) ฉลากผลิตภัณฑ์ภาษาจีน ให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะเอกสารบางประเภทนั้นสามารถใช้ได้ในระยะยาว ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ในทุกๆ ครั้ง หรือสามารถเลือกใช้บริการจากบริษัทที่รับส่งออกสินค้า ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดอุปสรรคทางด้านภาษาได้อีกทางหนึ่งด้วย
6. ใช้ช่องทางการค้าที่เหมาะสมกับยุค Internet of Things
E-Commerce จีนในปัจจุบันมีบทบาทกับการจับจ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ข้อมูลจาก IResearch ระบุว่า ในปี 2562 มูลค่าการค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่ามากกว่าการค้าปลีกออนไลน์ของ 10 ประเทศ (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย แคนาดา อาร์เจนตินา และบราซิล) รวมกันเสียอีก ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก E-Commerce ในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคจีน ในปัจจุบันจีนมีแพลตฟอร์ม E-commerce จำนวนมาก โดยในระดับท้องถิ่น เช่น นครซีอานก็มีแพลตฟอร์ม E-Commerce เช่นกัน ได้แก่ (1) www.iesroad.com (2) www.shanxibaiyue.com และ (3) www.culigo.com รวมถึงการเปิดร้านทาง Wechat (微店) ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถลงทะเบียนหรือติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลการนำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ข้างต้น
นอกจากนี้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจีน อาทิ Wechat หรือ Weibo เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นพิเศษก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคจีนได้อย่างทั่วถึง
เนื่องจากแต่ละพื้นที่ของจีนมีจุดเด่นและความท้าทายที่แตกต่างกันไป การเลือกมาทำตลาดในเมืองใหญ่ เช่น นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง หรือนครเทียนจิน มีข้อดี คือ ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทว่าก็มีคู่แข่งและต้นทุนมากตามไปด้วย ขณะที่การเลือกทำตลาดในหัวเมืองชั้นรอง มีข้อดี คือ คู่แข่งน้อยกว่า และรัฐบาลท้องถิ่นอาจมีนโยบายที่ดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติมากกว่า แต่มีข้อด้อย คือ กำลังซื้อไม่สูงมาก คู่ค้าท้องถิ่นยังไม่สันทัดด้านการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ และสินค้าต่างประเทศยังไม่เป็นที่รู้จัก/คุ้นเคยมากนัก ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาเทรนด์ผู้บริโภคเพื่อเลือกสินค้ามาจำหน่ายให้ตรงกับความต้องการของแต่ละเมือง ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมเทศกาลไทยจึงเปรียบเสมือนเวทีประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพของประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคท้องถิ่นได้รู้จัก ทดลอง และเลือกซื้อสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง