ท่านผู้อ่านหลายคนอาจรู้จัก เก๋ากี้ หรือ โกจิเบอร์รี่ กับบ้างแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่า หนึ่งในแหล่งปลูกและแปรรูปเก๋ากี้ที่ดีและใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ที่ไหน? วันนี้ศูนย์ BIC ณ นครซีอานจะพาทุกท่านมารู้จักกับ เก๋ากี้แห่งเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย แหล่งปลูกและแปรรูปเก๋ากี้ที่คุณภาพดีที่สุดของจีนและของโลก
(Credit image at https://www.freshplaza.com/article/9123438/china-ningxia-goji-berries-enter-peak-sales-season/)
- ทำความรู้จักกับเก๋ากี้ และความเป็นมาของอุตสาหกรรมเก๋ากี้ในเขตฯ หนิงเซี่ยหุย
เก๋ากี้ ถือเป็นพืชสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนจีนโบราณที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย มีฤทธิ์บำรุงสายตาตับ ไต ลดอาการอักเสบในร่างกาย และยังสามารถเร่งการเผาผลาญไขมันได้ดี ช่วยป้องกันความเสี่ยงของไขมันอุดตัน ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานจากน้ำตาลได้ดี ทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้
เก๋ากี้ จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลมะเขือ (Solanaceae:茄科) มีคุณประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย นอกจากผลเก๋ากี้ที่นิยมนำรับประทานแล้ว ใบของเก๋ากี้ยังใช้บริโภคและรากก็สามารถใช้เป็นยาได้
เขตฯ เริ่มปลูกเก๋ากี้ครั้งแรกเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ตามตำหรับยาสมุนไพร (Compendium of Materia Medica :本草纲目) ของหลี่สือเจิน แพทย์ที่โดดเด่นในราชวงศ์หมิง กล่าวว่า “เก๋ากี้หนิงเซี่ย” โดยเฉพาะเก๋ากี้จากเมืองจงหนิง (中宁枸杞) ถือเป็นยาชั้นสูงสุด เนื่องจากมีปัจจัยคือ 1) ดินเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเก๋ากี้และสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืนและ 2) น้ำจากแม่น้ำเหลือง (黄河) มีแร่ธาตุต่าง ๆ เหมาะแก่การเติบโตของเก๋ากี้ นอกจากนี้ ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยนั้นมีขนาดใหญ่ มีส่วนในการส่งเสริมการสะสมของน้ำตาลในเก๋ากี้หนิงเซี่ย ทำให้เก๋ากี้จงหนิงมีลักษณะเด่นคือ มีสีสด เม็ดใหญ่ ผิวบาง เนื้อหนา เมล็ดน้อย และรสชาติหวาน ทำให้ได้รับการยอมรับในคุณภาพผ่านการขึ้นทะเบียนในสารานุกรมแพทย์แผนจีนร่วมสมัย The Pharmacopoeia of the People’s Republic of China (中华人民共和国药典) ตลอดจน กำหนดให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยเป็นพื้นที่ผลิตผลเก๋ากี้เป็นสมุนไพรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และได้รับการขนานนามให้เป็น “บ้านเกิดของเก๋ากี้”ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538
- การพัฒนาของเก๋ากี้สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย
ตามข้อมูลจาก “สถานการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมเก๋ากี้หนิงเซี่ยและรายงานการวางแผนกลยุทธ์การลงทุนระหว่างปี ค.ศ. 2563-2570” ว่า พื้นที่ปลูกเก๋ากี้ของของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ในปี 2562 มี 244,0000 ไร่ คิดเป็น 33% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดของจีน โดยปริมาณการผลิตผลเก๋ากี้แห้งมี 140,000 ตัน มูลค่ารวม 13,000 ล้านหยวน โดยปัจจุบัน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย มีองค์กรอุตสาหกรรมเก๋ากี้ชั้นนำกว่า 55 แห่ง มีบริษัทแปรรูเก๋ากี้ 162 แห่ง โดยมีมูลค่าการผลิตเก๋ากี้แห้งปีละ 2,400 ล้านหยวนและรายได้จากการดำเนินงาน 2,000 ล้านหยวน บริษัทแปรรูปที่มีขนาดใหญ่หลัก ได้แก่ บ. ไป่รุ่ยหยวน (百瑞源: Berylgoji) บ. วูล์ฟเบอร์รี่ (Wolfberry: 沃福百瑞) บ. ฉีไท่ (Qitai: 杞泰) และ บ. ต้าตี้เซิงไท่ (Dadishengtai: 大地生态) ในปี 2562 มีปริมาณการส่งออกเก๋ากี้หนิงเซี่ย 3,928.5 ตัน มูลค่ารวม 332.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 มีปริมาณการส่งออกเก๋ากี้หนิงเซี่ยรวม 4,469 ตัน เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มูลค่ารวม 393.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.4% คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน[1] โดยผลเก๋ากี้แห้งถือเป็นสินค้าส่งออกหลัก นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เก๋ากี้มากกว่า 60 ชนิดใน 10 หมวดหมู่ ได้แก่ เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ผักใบ ชา อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ เครื่องสำอาง ยาสมุนไพรจีน
(ข้อมูลอ้างอิงจาก www.chyxx.com)
การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเก๋ากี้หนิงเซี่ย
เก๋ากี้เป็นพืชที่ชาวจีนคุ้นเคยทั้งคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยา สมัยโบราณชาวจีนนิยมรับประทานเก๋ากี้ในรูปแบบผลสด แต่เมื่อมีการเพาะปลูกเก๋ากี้ในจำนวนที่มากขึ้นและผลสดสามารถเก็บได้เพียงไม่เกิน 1 สัปดาหร์ จึงทำให้การบริโภคเก๋ากี้ในประเทศจีนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของเป็นผลอบแห้ง โดยมีกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี เมื่อการปลูกเก๋ากี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประกอบกับราคาในรูปแบบผลสด/ผลอบแห้งมีราคาไม่สูง (ประมาณ 100 หยวน หรือ 500 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม)กอปรกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปเก๋ากี้ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และตอบสนองความต้องการการบริโภคที่หลากหลาย ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเก๋ากี้ที่กำลังเร่งการพัฒนา และมีวางขายตามท้องตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในช่วงอายุที่หลากหลายขึ้น ได้แก่
- ไวน์เก๋ากี้ยี่ห้อหนิงเซี่ยหง (Ningxiahong: 宁夏红) เป็นไวน์ผลไม้ชนิดหนึ่งของบริษัทหนิงเซี่ยหง โดยเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2544 วัตถุดิบหลักคือผลเก๋ากี้สด มีราคาขายอยู่ที่ขวดละประมาณ 150 หยวน
- เครื่องดื่มเก๋ากี้ชื่อฉี่ต้งลี่ (QiDongli: 杞动力) เป็นเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่งของบริษัทโห้วเซิงจี้ มีวัตถุดิบหลักได้แก่ ผลเก๋ากี้ และสมุนไพรจีนอื่น ๆ เช่น ชะเอมเทศ (甘草) และซางเย่ย (桑叶) มีราคาขายอยู่ที่ประมาณกระป๋องละ 8 หยวน ต่อ 250 มิลลิลิตร
- น้ำผลไม้เก๋ากี้ (枸杞原浆) เป็นน้ำเก๋ากี้สดเข้มข้น (Fresh Goji Berry Puree) บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 30-50 กรัมต่อถุงหรือขวด ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไป่รุ่ยหยวน (Bairuiyuan:百瑞源) วูล์ฟเบอร์รี่ (Wolfberry: 沃福百瑞) และเจ่าคาง (ZaoKang: 早康) มีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 20 หยวนต่อ 30 มิลลิลิตร
(Credit image: youngliving.com, oscart.com)
เห็นได้ชัดว่าการแปรรูปเก๋ากี้ได้เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลการวิจัยของสถาบันการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ (China Academy of Traditional Chinese Medicine) แสดงให้เห็นว่า วิธีการรับประทานผลเก๋ากี้แห้ง ได้แก่ “ตุ๋น แช่ และต้ม” สามารถดูดซึมสารอาหารได้สูงสุด 2.03% เท่านั้น แต่น้ำผลไม้เก๋ากี้และเครื่องดื่มเก๋ากี้ที่ทำจากผลไม้สดเก๋ากี้สามารถกักเก็บสารอาหารที่มีคุณค่าของเก๋ากี้ไว้ได้ดีกว่า อาทิ วิตามิน แคโรทีน และจากการศึกษาพบว่าการรับประทานน้ำผลไม้เก๋ากี้ 30 มิลลิลิตร มีคุณค่าเทียบเท่ากับการดื่มน้ำของเก๋ากี้แห้งถึง 360 กรัม
- ยุทธศาสตร์และนโยบายที่ทำให้อุตสาหกรรมเพาะปลูกเก๋ากี้ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยเติบโตรุดหน้า นอกจากเก๋ากี้จะเป็นพืชอุตสาหกรรมที่ทำหลายได้หลักให้แก่เกษตรกรและประชาชนชาวหนิงเซี่ยหุยแล้ว
เนื่องด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เป็นพื้นที่อากาศร้อนและมีพื้นที่ส่วนมากห้อมล้อมไปด้วยทะเลทราย การปลูกเก๋ากี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลท้องถิ่นในการป้องกันการเสื่อมสภาพของพื้นผิวดินและป้องกัน
การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ของพื้นที่เกษตรกรรมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้ความสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเก๋ากี้ในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจและในฐานะการรักษาความมั่นคงของพื้นดินทำกินของประชาชน
ในปี 2564 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมเก๋ากี้หนิงเซี่ยระยะ 5 ปี (2021-2025) (宁夏现代枸杞产业高质量发展“十四五”规划 2021—2025年) โดยตั้งเป้าให้ (1) ส่งเสริมการเพาะปลูกเก๋ากี้เพิ่มขึ้นกว่า 143,000 ไร่ (2) ให้มีผลผลิตเก๋ากี้ 700,000 ตัน/ปี (3) อุตสาหกรรมเก๋ากี้มีมูลค่ารวม 50,000 ล้านหยวน ซึ่งนับเป็นแผนพัฒนาฯ ที่จะปรับขนาดอุตสาหกรรมเก๋ากี้ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้เจริญเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน ซึ่งมีหนึ่งในภารกิจหลักคือการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทและนวัตกรรมการเกษตรในชนบท ยึดมั่นในนโยบายการพัฒนาเกษตรกรรมในท้องถิ่น พร้อมทั้งบูรณาการนวัตกรรมการเกษตรและความทันสมัยในท้องถิ่นควบคู่กันไป
จากแผนพัฒนาฯ สู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสูง “336” (“336”高质量发展)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเก๋ากี้ ได้แก่ ปัญหาเรื่องศัตรูพืชและปัญหาผลผลิต/กระบวนการผลิตต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น การพัฒนาอุตสากรรมท้องถิ่นจำเป็นจะต้องมีอาศัยเม็ดเงินลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรมทั้งระบบควบคู่กันไป รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยจึงประกาศ “นโยบายสนับสนุนทางการเงินและมาตรการดำเนินการเพื่อยกระดับการพัมนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมเก๋ากี้หนิงเซี่ย” (Financial Support Policies and Implementation Measures for Accelerating the High-quality Development of Modern Wolfberry Industry) โดยเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสูง “336” กล่าวคือ
- 3 ระบบ (3 Systems) : การเพาะปลูกเก๋ากี้, กระบวนการผลิตเก๋ากี้, การบริหารผลิตผลของเก๋ากี้
- 3 บูรณาการอุตสาหกรรม (3 Industry Integration) : การกำหนดมาตรฐาน, การแปรรูปเชิงลึก (deep processing), การตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาทั้งสามอุตสาหกรรมในรูปแบบบูรณการทั้งระบบ
- 6 โครงการหลัก (6 Major projects) : โครงการเพิ่มความมีเสถียรภาพของการเพาะปลูก, การเพิ่มความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การรับประกันคุณภาพ, การสร้าง branding, และการส่งเสริมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม
7 โฟกัสของยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสูง “336” (“336”高质量发展) ได้แก่
- ส่งเสริมการวิจัย : โดยเน้นการส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต การวิจัยทางเทคโนโลยีในกระบวนการที่สำคัญ เช่น เครื่องเก็บเกี่ยวผลผลิต เทคโนโลยีการสกัด และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ
- การเพาะพันธุ์เก๋ากี้ที่หลากหลาย : การควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงผลเก๋ากี้, วิจัยพันธุ์เก๋ากี้ที่ให้ผลผลิตสูงและทนต่อสภาพภูมิประเทศ/ภูมิอากาศของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย (high-yield & multi-resistant)
- ส่งเสริมมาตรฐานของการสร้างพื้นที่เพาะปลูก ส่งเสริมการสร้างสวนสาธิต (demonstration garden) เพื่อพัฒนาคุณภาพและผลิตผลของเก๋ากี้ รวมถึงส่งเสริมการสร้างพื้นที่เพราะปลูกให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วพื้นที่
- การสร้าง Branding ส่งเสริมภาพลักษณ์ของ“เก๋ากี้หนิงเซี่ย:宁夏枸杞” และ “เก๋ากี้จงหนิง:中宁枸杞”
- พัฒนาระบบกลางที่มีมาตรฐาน เน้นการพัฒนาระบบที่มีมาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง-ปลางทาง กล่าวคือ การเพาะปลูก จนถึงการเข้าสู่ตลาด
- การให้บริการทางเทคนิค ส่งเสริมการให้บริการทางเทคนิค อาทิ เทคนิคการเพาะปลูก เทคนิคการเก็บเกี่ยว และการบริหารพื้นที่เพราะปลูก
- การบูรณาการอุตสาหกรรม สร้างสวนอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ (modern agricultural industrial parks), สวนสาธิต, องค์กรทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการเพาปลูก และส่งเสริมการบูรณาการทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม (culture and industry integration)
โดยทั้ง 7 โฟกัสนี้จะเป็นแนวทางและกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินยุทธศาสตร์ “336” และรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ยังให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อดำเนินให้เป็นไปตาม 7 โฟกัสนี้ให้บรรลุภายในปี ค.ศ. 2026
ข้อสรุป
กว่าจะเป็น “เก๋ากี้หนิงเซี่ย” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ที่ทั่วประเทศจีนและทั่วโลกให้การยอมรับนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐและความร่วมมือกันของภาคเอกชน ซึ่งส่งผลให้เก๋ากี้ที่สมัยก่อนมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 500 บาท ได้รับการแปรรูปและรีแบรนดิ้งเป็น “สินค้าบำรุงสุขภาพ High-end” และส่งไปจัดจำหน่ายทั่วโลก ซึ่ง BIC นครซีอานมองเห็น ว่าโมเดลความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมเก๋ากี้ของจีนนี้ถือเป็นหนึ่งใน Best Practice สำหรับไทย ในการต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรกรรม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับเขตฯ หนิงเซี่ยหุย จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ใช้การปลูกเก๋ากี้ทั้งเป็นการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกร และเป็นการรักษาการเสื่อมสภาพของที่ดินทำกินของประชากรไปพร้อมกัน
BIC นครซีอานมองว่า การพัฒนาอุตสากรรมเก๋ากี้ในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีตัวแปรสำคัญคือนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลท้องถิ่นผ่านการพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบตั้งแต่การวิจัยเมล็ดพันธุ์ที่เหมาสมต่อสภาพภูมิประเทศ/สภาพภูมิอากาศ การปลูกและการบริการพื้นที่เพาะปลูก การควบคุมคุณภาพของผลิตผล การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ไปจนถึงการเข้าสู่ตลาด และการสร้าง branding ให่แก่ผลิตภัณฑ์ เห็นได้จาก ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสูง “336” นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับ R&D (Research and Development) และการให้เม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการพัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน โดย BIC นครซีอาน มองว่าพืชเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และลำไย ก็สามารถใช้แนวทางการพัฒนาเช่นเดียวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเก๋ากี้ได้ และในตอนต่อไป BIC นครซีอาน จะเชิญชวนทุกท่านฟังบทสัมภาษณ์ของผู้ประกอบธุรกิจเก๋ากี้รายใหญ่ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย และแนวทางคำแนะนำต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ้างอิง
[1] 宁夏枸杞https://baike.baidu.com/item/%E5%AE%81%E5%A4%8F%E6%9E%B8%E6%9D%9E/491577?bk_share=wechat&bk_sharefr=lemma&fr=wechat
[2] 2019年宁夏枸杞发展现状及宁夏枸杞企业发展趋势分析[图]https://www.chyxx.com/industry/202007/884321.html
[3] 2020年宁夏枸杞产业现状分析:出口数量逐年增加[图]https://www.chyxx.com/industry/202105/954050.html
[4] 宁夏枸杞,映照市场的“金字招牌” https://kns.cnki.net/KXReader/Detail?TIMESTAMP=637613790891865700&DBCODE=CCND&TABLEName=CCNDTEMP&FileName=NXRB202106200012&RESULT=1&SIGN=WsUYxWcMF%2f5jfd3bLq1ijDNEEOU%3d
[5] 为什么宁夏那么盛产枸杞,是什么原因决定的呢?https://zhidao.baidu.com/question/526936700809058765.html?ivk_sa=1022817r
[6] 宁夏红枸杞果酒https://baike.baidu.com/item/%E5%AE%81%E5%A4%8F%E7%BA%A2/5453627?fr=aladdin
[7] 杞动力https://baike.baidu.com/item/%E6%9D%9E%E5%8A%A8%E5%8A%9B/14805192?fr=aladdin
[1] ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกของเก๋ากี้หนิงเซี่ยมากที่สุด ตลาดได้ขยายไปยังกว่า 50 ประเทศและพื้นที่ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รัสเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน