ตีแผ่ธุรกิจ Bike Sharing : Sharing Economy ไม่ตกยุค หากรู้จักปรับโมเดลธุรกิจ
7 Jan 2019ระยะนี้ สื่อจีนรายงานข่าวของ ofo ผู้ให้บริการ “รถจักรยานแบ่งปัน” (bike sharing) รายใหญ่ของจีนที่กำลังเผชิญวิกฤติขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผู้ใช้ขาดความเชื่อมั่น และมีแนวโน้มที่จะล้มละลาย โดยสื่อไทยก็ให้ความสนใจรายงานข่าวด้วย จากการที่ ofo เข้ามาลงทุนให้บริการที่จังหวัดภูเก็ต และในสถานศึกษาบางแห่ง
ในช่วงที่ bike sharing เริ่มบูมในจีน นับว่า ofo หรือรถจักรยานสีเหลืองเป็นผู้ครองตลาด และมี Mobike หรือรถจักรยานสีส้มเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ โดยใช้โมเดลธุรกิจคล้ายกัน กล่าวคือ ก่อนนำรถจักรยานไปใช้ ผู้ใช้งานต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแต่ละรายในโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้สแกนคิวอาร์โคดบนรถจักรยานแต่ละคัน และต้องชำระเงินค่ามัดจำผ่าน Wechat Pay หรือ Alipay ซึ่งผู้ให้บริการแจ้งว่าจะคืนเงินค่ามัดจำให้ทันทีที่ผู้ใช้งานร้องขอ ทั้งนี้ ค่าบริการจะคิดตามระยะเวลาการใช้งาน
สิ่งที่ผู้ให้บริการ bike sharing ต้องการ ไม่ใช่รายได้จากค่าใช้รถจักรยาน แต่เป็นเงินค่ามัดจำ ที่ยิ่งมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็จะยิ่งได้ค่ามัดจำมากตามไปด้วย โดยผู้ให้บริการ bike sharing จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ขยายธุรกิจและลงทุนในธุรกิจอื่นเพื่อหากำไร
อย่างไรก็ดี การที่ ofo ขยายธุรกิจเร็วเกินไป ส่งผลให้เงินทุนส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้ผลิตรถจักรยาน นอกจากนี้ ปัญหารถจักรยานคุณภาพแย่ และผู้ใช้งานขาดจิตสำนึก ทำให้มีรถจักรยานเสียหายที่ใช้งานไม่ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งกระแสความนิยมที่ลดลง เป็นผลให้มีจำนวนรถจักรยานมากกว่าผู้ใช้งาน จอดเกะกะ กีดขวางทางเดินร้านค้า กลายเป็นกองขยะกระทบทัศนียภาพของเมือง จนผู้ใช้งานเริ่มเบื่อหน่าย และทยอย ขอเงินค่ามัดจำคืน ปัญหานี้เริ่มทำให้ ofo เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยผู้ใช้งานจำนวนมากได้รับเงินค่ามัดจำคืนล่าช้าและเริ่มกระจายข่าวออกไป ทำให้ผู้ใช้งานรายอื่นเป็นกังวล และรวมตัวกันมาขอเงินค่ามัดจำคืนเช่นกัน ซึ่งก็ยิ่งทำให้ปัญหาขาดสภาพคล่องของ ofo เลวร้ายมากขึ้นจนเป็นที่สนใจในวงกว้าง
การนำเสนอข่าวของสื่อ รวมทั้งบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและผู้รู้เรื่องเมืองจีน ทำให้เกิดคำถามว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (sharing economy) กำลังเข้าสู่วังวน “มาแรง ไปเร็ว” แล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เห็นว่า ปัญหา ofo ยังไม่ใช่สัญญาณจุดจบของ sharing economy แต่เป็นปัญหาการบริหารธุรกิจ รวมถึงความไม่เข้าใจและการไม่ปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 ยังมีผู้ให้บริการ bike sharing รายใหม่ 2 ราย ได้แก่ Hellobike หรือรถจักรยานสีฟ้า และ DiDi Bike หรือรถจักรยานสีเขียว เข้าสู่ตลาด โดยวางรูปแบบธุรกิจแตกต่างไปจาก ofo และมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดี
โดยจุดเด่นของ Hellobike และ DiDi Bike อยู่ที่การใช้รถจักรยานได้โดยไม่ต้องชำระเงินค่ามัดจำ เพียงแค่ผู้ใช้งานผูกบัญชี Alipay เข้ากับแอปพลิเคชัน Hellobike หรือ DiDi Bike ก็สามารถใช้รถจักรยานได้ทันที หากมีคะแนนความน่าเชื่อถือ (Zhima Credit) ของ Alipay ผ่านเกณฑ์
แม้เงินค่ามัดจำหลักร้อยหยวน อาจดูไม่มากสำหรับคนวัยทำงานส่วนใหญ่ แต่นโยบายยกเว้นเงินค่ามัดจำกลับสามารถชนะใจวัยรุ่นจีนยุคใหม่ที่มีนิสัยใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ของ bike sharing เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า bike sharing ยังไม่ตกยุค เพียงแต่ต้องรู้จักวางแผนธุรกิจและเลือกรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด
นอกเหนือจากธุรกิจ bike sharing แล้ว ในปีที่ผ่านมายังมี sharing economy เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในประเทศจีน เช่น ANKERBOX (เพาเวอร์แบงค์) 123 (เสื้อผ้า) GoFun (รถยนต์) และ Xiaozhu (ที่พัก) เป็นต้น อันที่จริงแล้ว sharing economy มิได้เป็นรูปแบบธุรกิจที่แปลกใหม่ในประเทศจีน หากแต่เริ่มดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ตัวอย่างเช่น ธุรกิจการจัดส่งจาน ถ้วย แก้ว และช้อน ให้ร้านอาหาร ซึ่งผู้ให้บริการจะคอยจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ส่งให้ร้านอาหารต่าง ๆ และรับมาล้างแล้วเปลี่ยนของชุดใหม่ไปส่ง ซึ่งบรรดาร้านอาหารที่ใช้บริการก็เรียกเก็บค่าบริการส่วนนี้จากผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง นับเป็น sharing economy แบบดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางธุรกิจ
จึงสามารถกล่าวได้ว่า sharing economy ที่กำลังบูมในประเทศจีนนั้น คือความสามารถของบรรดาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จับช่องว่างทางธุรกิจเข้าหา platform ออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากและตรงจุดมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยจึงควรอาศัยประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น ดังเช่นความสำเร็จของโมเดล sharing economy ในจีน
จัดทำโดยนายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง