ติดตามศักยภาพเขตฯ หงเหอ ภาค 2 การเชื่อมโยงและการค้าของเหอโข่ว การท่องเที่ยวของหยวนหยางและเจี้ยนสุ่ย
27 Sep 2017เมื่อวันที่ 1-3 มิ.ย. 2560 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้ไปร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนใน Honghe Comprehensive Bonded Zone (HCBZ) และ Mengzi Economic Development Zone (MEDZ) ที่เมืองเมิ่งจื้อ เขตปกครองตนเองชนชาติฮาหนีและชนชาติอี๋ หงเหอ จึงได้จัดทำบทความ (www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=17792) เผยแพร่ศักยภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมของเขตฯ หงเหอ ซึ่งปี 2559 มี GDP 133,679 ล้านหยวน มากเป็นอันดับที่ 3 ของมณฑลยูนนาน และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.1 สูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มเมืองเศรษฐกิจหลัก“คุนหมิง-ฉวี่จิ้ง-หงเหอ-ยวี่ซี”ของมณฑลยูนนาน
บทความดังกล่าวยังได้นำเสนอศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองหมีเล่อ ซึ่งได้พัฒนาโครงการท่องเที่ยวขนาดใหญ่อย่าง East Wind Rhythm, Honghe Nativeland, Huquan Lake Ecological Park และศักยภาพด้านการลงทุนของเมืองเมิ่งจื้อ ในเขต HCBZ และเขต MEDZ
และเพื่อศึกษาศักยภาพของเขตฯ หงเหอเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 20-22 ก.ย. 2560 ศูนย์ BIC คุนหมิง จึงได้เดินทางไปสำรวจด้านการเชื่อมโยงและการค้าระหว่างประเทศของอำเภอเหอโข่ว และด้านการท่องเที่ยวของอำเภอหยวนหยางและอำเภอเจี้ยนสุ่ย
จุดหมายปลายทางของการเดินทางในวันแรกคืออำเภอเหอโข่วซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้สุดของเขตฯ หงเหอ โดยมีแม่น้ำหงเหอ และแม่น้ำหนานซีเหอเป็นพรมแดนทางธรรมชาติกั้นอำเภอเหอโข่วกับจังหวัดลาวไกของเวียดนาม โดยเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกันด้วยสะพาน 3 สะพาน ได้แก่
– สะพานรถไฟยูนนาน-เวียดนาม ความกว้าง 1เมตร สร้างโดยฝรั่งเศส เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2453 เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ปัจจุบัน ใช้เพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้น
– สะพานจุดผ่านแดนสินค้าทางบก ให้บริการครบวงจรด้วยระบบ paperless
– สะพานจุดผ่านแดนสำหรับประชาชน อนุญาตให้ชาวจีน เวียดนาม และบุคคลประเทศที่ 3 ผ่านแดนได้ มีปริมาณคนผ่านเข้า-ออกประมาณ 10,000 คน/วัน โดยชาวจีน และเวียดนามในพื้นที่สามารถใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ในการเดินทางข้ามแดน
ด่านเหอโข่วเป็นด่านระดับชาติ ประเภท 1 ทำให้อำเภอเหอโข่วมีกิจกรรมความร่วมมือที่หลากหลาย โดยปัจจุบัน อำเภอเหอโข่วมีสถานะเป็นเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดน ด่านระบบราง และด่านทางบก (ระดับชาติ) และเมืองชายแดน (ระดับมณฑล) นอกจากนี้ มณฑลยูนนานกับจังหวัดลาวไกของเวียดนามยังมีข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนา “เขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เหอโข่ว-ลาวไก” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในฝั่งอำเภอเหอโข่ว 11 ตร.กม.และฝั่งลาวไก 10 ตร.กม.
ตามแผน “เขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เหอโข่ว-ลาวไก” ในฝั่งอำเภอเหอโข่วประกอบด้วยเขตแปรรูปเพื่อนำเข้า-ส่งออก เขตการค้าชายแดน เขตโลจิสติกส์ทันสมัย เขตพาณิชย์และการเงิน และเขตสำนักงาน และฝั่งจังหวัดลาวไกประกอบด้วยเขตแปรรูปเพื่อนำเข้า-ส่งออก เขตการค้าและโลจิสติกส์ และเขตอุตสาหกรรมบริการ เมื่อรัฐบาลจีนและเวียดนามให้การอนุมัติ “เขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน เหอโข่ว-ลาวไก” จะเป็นเขตเสรีที่วัตถุดิบ เงินทุน และคน เคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรีภายในพื้นที่ 21 ตร.กม.
วันถัดมา คณะได้เดินทางต่อไปยังอำเภอหยวนหยาง ที่ตั้งของนาขั้นบันไดชนชาติฮาหนี ซึ่งได้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อเดือน พ.ค. 2556 เมื่อรถแล่นลงจากทางด่วนคุนหมิง-เหอโข่ว 4 ช่องจราจร ก็มุ่งหน้าต่อไปทางทิศเหนือบนทางหลวง 2 ช่องจราจรขนานกับแม่น้ำหงเหอ ก่อนจะไต่ระดับความสูงไป บนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อและมีร่องรอยดินถล่มเป็นช่วง เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันก่อนหน้านี้
จนถึงความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตรงหน้าของทุกคนก็ปรากฏภาพของนาขั้นบันได ที่เต็มไปด้วยต้นข้าวที่ออกรวงสีทอง ทอดยาวสุดสายตาไปตามแนวเทือกเขา แต้มด้วยริ้วหมอกที่ลอยเอื่อยขึ้นไปบรรจบกับหมู่เมฆขาว เป็นภาพที่บรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ยากยิ่ง
งานศิลปะในผืนนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,300 ปีชิ้นนี้ ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยชนกลุ่มน้อยเผ่าฮาหนีที่ใช้สองมือสลักเสลาเทือกเขาจนเป็นนาขั้นบันไดผืนใหญ่ และในปัจจุบันก็ยังคงใช้ควายเป็นเครื่องทุ่นแรงในการไถนาตามภูมิปัญญาโบราณ
น่าประทับใจที่การเป็นมรดกโลกและการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป แต่กลับช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การจำหน่ายข้าวแดงที่เป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพในท้องถิ่น ยาสระผม ครีมอาบน้ำ และแผ่นมาส์กหน้าที่แปรรูปจากข้าวแดง การบริการ ที่พักแบบโฮมสเตย์ให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้ง ร้านตัดชุดชนเผ่าที่ปกติให้บริการชาวบ้านในท้องถิ่นกันเอง ก็มีนักท่องเที่ยวมาเลือกซื้อ เมื่อกลับไป ก็ยังมีการสั่งตัดชุดชนเผ่าเพิ่มเติม โดยโอนเงินกันผ่านทางวีแชทและจัดส่งชุดไปให้ทางไปรษณีย์
วันสุดท้ายของการเดินทาง คณะออกจากนาขั้นบันไดตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางกลับนครคุนหมิง ระหว่างทางได้แวะรับประทานอาหารกลางวันที่อำเภอเจี้ยนสุ่ย ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของอำเภอเล็กๆ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแห่งนี้
ในอดีต เจี้ยนสุ่ยเป็นหัวเมืองและชุมทางการค้าที่สำคัญทางตอนใต้ของยูนนาน โดยมีหลักฐานสะท้อนความเจริญที่หลงเหลืออยู่ ได้แก่ ประตูเมืองโบราณเฉาหยางโหลว ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับประตูเทียนอันเหมิน ภายในตัวเมืองเก่าก็ยังคงมีกลิ่นอายของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะบ่อน้ำโบราณที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเจี้ยนสุ่ยมาหลายชั่วอายุคน จนขอบบ่อน้ำเต็มไปด้วยรอยลึกของเชือกที่ชาวบ้านยังคงชักน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคจนถึงปัจจุบัน
อำเภอเจี้ยนสุ่ยยังเป็นทางผ่านของเส้นทางรถไฟยูนนาน-เวียดนาม อายุกว่า 100 ปี ซึ่งอำเภอเจี้ยนสุ่ยได้ชุบชีวิตรถไฟโบราณเพื่อให้บริการนำนักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม และโบราณสถานที่ทรงคุณค่า
การเยือนเขตหงเหอฯ 2 ครั้งภายในปีนี้ แม้จะได้เห็นเพียง 5 อำเภอจาก 13 อำเภอของเขตฯ หงเหอ แต่ล้วนเป็นอำเภอที่มีความสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขตฯ หงเหอ และอาจเป็นโอกาสให้เอกชนไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือได้ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยอาศัยจุดแข็งของเขตฯ หงเหอ ทั้งทำเลที่ตั้งที่เชื่อมโยงจีนตอนใต้กับเวียดนามตอนเหนือ และการมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่ดี เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนา
จัดทำโดย
นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง