ด่านท่าเรือกวนเหล่ยนำเข้าผลไม้ไทยเป็นครั้งแรก ยูนนานเป็นประตูนำเข้าผลไม้ไทยทั้งทางถนน ราง อากาศ และน้ำ
8 Aug 2024ปี 2566 มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้ไทยกว่า 1,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 28.2 ซึ่งครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88 ของมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ยูนนานนำเข้าจากไทย ในจำนวนนี้ ทุเรียนครองอันดับหนึ่งของผลไม้ไทยในยูนนานที่สัดส่วนร้อยละ 65 ด้วยมูลค่ากว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ตามมาด้วยมังคุด ลำไย ส้มโอ และขนุน ส่งผลให้ยูนนานเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านทางบกมากเป็นอันดับ 1 ของจีน และนำเข้าผลไม้ไทยมากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้งที่นำเข้าทางเรือ
ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเขตฯ สิบสองปันนาในมณฑลยูนนานมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้สามารถขนส่งผลไม้ไทยจากท่าเรือเชียงแสนผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงไปยังท่าเรือกวนเหล่ย แต่ยังติดขัดตรงที่ด่านท่าเรือกวนเหล่ยยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้เนื่องจากยังไม่ได้เป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้
จนกระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China: GACC) ได้อนุมัติคำขอจัดตั้งโครงการก่อสร้าง “สถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย” โดยใช้วิธีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าเนื้อสัตว์ของด่านท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าเนื้อสัตว์อยู่แล้วให้สามารถรองรับการตรวจกักกันผลไม้นำเข้าได้ด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ได้ประกาศรับรองสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย ส่งผลให้ด่านท่าเรือกวนเหล่ยมีสถานะเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” (designated port for imported fruits) อย่างเป็นทางการ โดยมีเลขรหัสศุลกากร CNJHG860129 และบริหารพื้นที่โดยบริษัท Mengla Xin Feng Yuan Trading จำกัด
ส่งผลให้ปัจจุบัน มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้มากที่สุดในจีน รวม 10 ด่าน สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ในทุกมิติ ทั้งทางอากาศ ทางถนน ทางราง และทางน้ำ ประกอบด้วย
– ด่านทางอากาศ ได้แก่ ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง
– ด่านทางถนนบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม ได้แก่ ด่านเหอโข่ว และด่านเทียนเป่า
– ด่านทางถนนบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา ได้แก่ ด่านต่าลั่ว ด่านจางเฟิ่ง ด่านหว่านติง และด่านโหวเฉียว
– ด่านทางถนนและทางรางบริเวณชายแดนจีน-ลาว ได้แก่ ด่านโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน
– ด่านทางน้ำ ได้แก่ ด่านท่าเรือกวนเหล่ย
ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน (พิธีสารฯ) ซึ่งในส่วนของมณฑลยูนนานกำหนดให้ด่านโม่ฮาน ด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว และด่านเทียนเป่า สามารถนำเข้าผลไม้ไทยที่ขนส่งทางบกผ่านประเทศที่สามได้
แต่ในทางปฏิบัติ ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านมณฑลยูนนานได้ 6 ช่องทาง ได้แก่ (1) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง ซึ่งเป็นการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนโดยตรงโดยไม่ผ่านประเทศที่สาม (2) ด่านโม่ฮาน (3) ด่านรถไฟโม่ฮาน (4) ด่านเหอโข่ว (5) ด่านเทียนเป่า และ (6) ด่านท่าเรือกวนเหล่ย เป็นการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนโดยตรง โดยไม่ผ่านประเทศที่สาม โดยปัจจุบัน ทุกช่องทางข้างต้นมีการนำเข้าผลไม้ไทย ยกเว้นด่านเทียนเป่า ขณะที่ ด่านรถไฟเหอโข่วยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ แม้ว่าด่านรถไฟเหอโข่วจะถูกระบุในพิธีสารฯ เนื่องจากด่านรถไฟเหอโข่วยังไม่ได้เป็นเป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 บริษัท รอยัล แองเจิล จำกัด ได้ดำเนินการทดลองขนส่งทุเรียนไทย 960 กล่อง รวม 16.82 ตัน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งโดยเรือสินค้าออกจากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ล่องตามเส้นทางแม่น้ำโขง ไปถึงท่าเรือกวนเหล่ยเมื่อเวลา 12.30 น. (ตามเวลาจีน) ของวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นับเป็นการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นครั้งแรกของด่านท่าเรือกวนเหล่ย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนได้ลงไปในเรือเพื่อดำเนินการตรวจเบื้องต้น เมื่อพบว่า ตู้สินค้าไม่มีสิ่งผิดปกติ จึงใช้เครนยกตู้สินค้าขึ้นจากเรือไปวางบนฐานลากตู้คอนเทนเนอร์ที่เชื่อมกับหัวรถลากเพื่อนำตู้สินค้าไปจอดที่ช่องเทียบของสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย จากนั้นได้มีพิธีต้อนรับและพิธีเปิดใช้สถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านท่าเรือกวนเหล่ยอย่างเป็นทางการ โดยทุเรียนไทยดังกล่าวได้รับการตรวจปล่อยภายในวันเดียวกันภายหลังผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีน
ท่าเรือกวนเหล่ยมีท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 1 แห่ง สามารถรองรับเรือบรรทุกระวาง 500 ตัน พร้อมแท่นเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่สถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย มีเนื้อที่ 2,375 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับตรวจสอบสินค้า ห้องเย็นสำหรับจัดเก็บสินค้าที่ยังไม่ตรวจปล่อย ห้องเย็นสำหรับจัดเก็บสินค้าภายใต้การควบคุมของศุลกากร ห้องบำบัดด้วยความเย็น (cold treatment) ห้องเก็บผลไม้ที่เน่าเสีย ห้องรมยา ห้องบำบัดแบบไม่เป็นอันตราย และห้องปฏิบัติการทางเทคนิค เป็นต้น พร้อมช่องเทียบรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 8 ช่อง สามารถรองรับการตรวจสอบสินค้าได้พร้อมกัน 8 ตู้ นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบยังมีลานจัดวางตู้คอนเทนเนอร์พร้อมหัวชาร์จไฟฟ้าสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ 25 หัว รองรับการชาร์จไฟฟ้าให้กับตู้คอนเทนเนอร์ได้ทั้งขนาด 20 ฟุตและ 40 ฟุต
นายเหยา จวิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท Xishuangbanna Jinggu Agricultural Development จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทุเรียนไทยครั้งนี้ กล่าวว่า “การขนส่งทุเรียนไทยจากท่าเรือเชียงแสนถึงท่าเรือกวนเหล่ยครั้งนี้ เป็นการขนส่งโดยตรงจากไทยถึงจีน โดยไม่ต้องผ่านประเทศที่สาม โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน รวดเร็วกว่าการขนส่งทางถนนหรือทางราง นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดต้นทุนประมาณ 4,000 หยวน” (เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนหรือทางราง)
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตตรวจกักกันสัตว์และพืชนำเข้า (Animal and Plant Quarantine Import Permit) ต่อศุลกากรจีน เพื่อนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ลาว และเมียนมา ผ่านด่านท่าเรือกวนเหล่ย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด แตงโม และกล้วยหอม รวมประมาณ 20,000 ตัน คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ด่านท่าเรือกวนเหล่ยจะมีการนำเข้าผลไม้ประมาณ 150,000 ตัน และเพิ่มเป็น 300,000 ตันในปี 2573
ที่ผ่านมา สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกจากท่าเรือเชียงแสนไปยังท่าเรือกวนเหล่ย ได้แก่ ยางพารา อาหารแปรรูป สินค้าเบ็ดเตล็ด และชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ซึ่งด่านท่าเรือกวนเหล่ยเป็น “ด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าเนื้อสัตว์” (state designated port for imported meat) อยู่แล้ว โดยไทยได้เริ่มส่งออกสินค้าชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากท่าเรือเชียงแสนครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2561 และเดินทางถึงท่าเรือกวนเหล่ยในวันที่ 30 มีนาคม 2561
ท่าเรือกวนเหล่ยได้ระงับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อมา ได้ฟื้นฟูการขนส่งสินค้าอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 โดยเรือขนส่งมันฝรั่ง 226 ตัน ได้ออกจากท่าเรือกวนเหล่ยมุ่งหน้าไปยังท่าเรือเชียงแสนของไทย และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ท่าเรือกวนเหล่ยได้กลับมานำเข้าชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากไทย จำนวน 25 ตัน เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ปัจจุบัน กำลังมีการก่อสร้าง “ทางด่วนเหมิงเยวี่ยน-กวนเหล่ย” ระยะทาง 25 กิโลเมตร เชื่อมท่าเรือกวนเหล่ยกับทางด่วนจิ่งหง-โม่ฮานที่หมุ่บ้านเหมิงเยวี่ยน ทดแทนทางหลวงสายเดิมที่มีระยะทาง 45 กิโลเมตรและบางช่วงมีสภาพพื้นผิวเป็นหลุมบ่อ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความสะดวกในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ที่ส่งออกไปจีนผ่านท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นสินค้าที่บอบช้ำและเน่าเสียง่าย
แน่นอนว่า การที่ภาคเอกชนของไทยพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐผลักดันให้ทางการจีนเปิดช่องทางนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่ม ก็เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้แก่สินค้าไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถผลักดันให้เปิดช่องทางนำเข้าได้สำเร็จแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในลำดับต่อไปก็คือ การส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางการค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนมีระเบียบข้อกำหนดว่า หากด่านจำเพาะใดไม่มีการนำเข้าสินค้าประเภทนั้นเกิน 2 ปี อาจถูกพิจารณายกเลิกสถานะได้ ยกตัวอย่างเช่น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้าประมงแช่เย็น” ของด่านโม่ฮาน ซึ่งได้ถูกยกเลิกสถานะไปเมื่อต้นปี 2567 เนื่องจากไม่มีการนำเข้าเกิน 2 ปีและซ้ำซ้อนกับการที่ด่านรถไฟโม่ฮานได้รับการประกาศให้เป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้าประมงแช่เย็น” ด้วย
หรือในกรณีของด่านท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเดิมภาคเอกชนมีความประสงค์จะส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งไปจีนผ่านช่องทางดังกล่าว แต่เมื่อได้รับอนุมัติให้เป็น “ด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าเนื้อสัตว์” แล้ว นับเป็นช่องทางส่งออกชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากไทยไปจีนช่องทางแรก แต่กลับมีการส่งออกไม่มากและลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนไปดำเนินการผลักดันให้สามารถส่งออกผ่านช่องทางอื่นอีก จน “ด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าเนื้อสัตว์” ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย “แทบร้าง” แต่นับว่ายังโชคดีที่ด่านท่าเรือกวนเหล่ยเป็น “ด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าเนื้อสัตว์” เพียงแห่งเดียวของมณฑลยูนนาน จึงยังสามารถรักษาสถานะไว้ได้ แต่อนาคตอาจถูกทบทวนสถานะหากไม่มีการนำเข้าหรือนำเข้าไม่มากพอ
ดังนั้น สถานะการเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” ของด่านท่าเรือกวนเหล่ย ที่ทุกฝ่ายร่วมพยายามผลักดันจนประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากนี้ ทุกฝ่ายก็ยังคงต้องร่วมกันพยายามผลักดันให้มีกิจกรรมการค้าเพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก และการกำหนดค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในอัตราพิเศษ เป็นต้น เพื่อให้แม่น้ำโขงกลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางหลักในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
********************
แหล่งข้อมูล
https://www.cnr.cn/yn/gstjyn/20240806/t20240806_526835667.shtml
https://mp.weixin.qq.com/s/30iML4UveJrnFsMa_TjSA
https://mp.weixin.qq.com/s/ZC6FAx05IoI7uHkOxBKjrA
https://mp.weixin.qq.com/s/Bs851LbnuZ3E6YrmgbK9Hw
https://www.ynml.gov.cn/91.news.detail.dhtml?news_id=1495764