“ด่านทางบกตงซิง” พร้อมแล้ว “ผลไม้ไทย” พร้อมหรือยัง
3 Dec 2018“ด่านตงซิง” เป็นด่านพรมแดนทางบกแห่งที่ 2 ของกว่างซีที่เปิดให้มีการนำเข้า-ส่งออกผลไม้กับต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561 ต่อจากด่านโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของกว่างซี
ปัจจุบัน เทศบาลเมืองตงซิงกำลังผลักดันร่วมกับฝ่ายไทยผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และสำนักงานฝ่ายการเกษตรประจำนครกว่างโจวให้ “ด่านตงซิง” สามารถนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย
บริษัทในเครือ Tianyuan Investment Group (天源集团) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการภายในพื้นที่ รวมถึงการเข้ามาตั้งหน้าร้านของผู้ค้าผลไม้บนแพลตฟอร์ม e-Commerce งานขนส่ง และโลจิสติกส์
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างด่านตงซิง เมืองฝางเฉิงก่างของจีน กับด่านม๊องก๋าย จังหวัดกว่างนิงห์ของเวียดนาม และปริมาณการค้ายังมีไม่มาก การนำเข้าผลไม้จึงใช้รถขนส่งสินค้าขนาดเล็กของจีนวิ่งข้าม “สะพานทุ่นลอย” ไปยังลานสินค้าฝั่งเวียดนามเพื่อขนถ่ายผลไม้จากเวียดนาม
ปัจจุบัน ด่านแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้ค้าผลไม้ชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านตงซิง อาทิ แก้วมังกร แตงโม ขนุน มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ และกล้วย ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การใช้รถบรรทุกขนาดเล็กวิ่งไปรับสินค้าที่ฝั่งเวียดนามไม่ตอบโจทย์ผู้ค้า เพราะการขนถ่ายสินค้าต้องใช้เวลาและส่งผลให้ผลไม้บอบช้ำและไม่สดใหม่ เจ้าหน้าที่ตรวจกักกันโรคก็ต้องเสียเวลาในการตรวจสินค้าล็อตเล็ก ๆ ส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ทั้งสองฝ่ายได้พัฒนางานขนส่งด้วย “รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์” ผ่านสะพานทุ่นลอยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 โดยแก้วมังกรที่บรรจุในตู้ Reefer เต็มสองคันรถได้วิ่งผ่านเข้ามาดำเนินพิธีการศุลกากรและตรวจกักกันโรคที่ด่านตงซิงอย่างราบรื่น ซึ่งช่วยร่นเวลาการผ่านพิธีการศุลากรได้เร็วขึ้น 40% ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมและผลไม้ยังคงความสดใหม่ได้ดี
เมืองตงซิงคาดการณ์ว่า ปริมาณการค้าผลไม้จะพุ่งแตะระดับล้านตันภายใน 5 ปี แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจผลไม้ยังช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวชายแดน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงขนาดใหญ่ มีระบบบริหารจัดการและการค้าที่ทันสมัย
เมื่อเปรียบเทียบกับ “ด่านโหย่วอี้กวาน” ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเป็นพื้นที่ภูเขาและไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlock) ประกอบกับสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ด่านโหย่วอี้กวานเกิดปัญหาการจราจรแออัด รถบรรทุกต้องรอคิวนานเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากร ทำให้สินค้าสดได้รับความเสียหาย
ด่านตงซิงจึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ค้า (ไม่ใช่คู่แข่งที่จะมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากเมืองผิงเสียง) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดของด่านโหย่วอี้กวาน โดยเฉพาะในอนาคต เมื่อผลไม้ไทยสามารถนำเข้าผ่านด่านตงซิงได้แล้ว
ทำไม “ผลไม้ไทย” ยังเข้าด่านตงซิงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะประเด็นเรื่องโรคพืชที่รัฐบาลจีนยังไม่ปล่อยให้ผลไม้จากประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีน) เข้าสู่ประเทศจีนผ่านด่านทางบกได้ ซึ่งด่านทางบกที่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย ภายใต้พิธีสารการนำเข้าและส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่ 3 ระหว่างไทยและจีน มีเพียง 2 แห่ง คือ ด่านโหย่วอี้ของกว่างซีบนเส้นทาง R9 และด่านบ่อหานของยูนนานบนเส้นทาง R3A
ความพร้อมของ “ด่านตงซิง” กับการนำเข้าผลไม้ไทย จากการลงสำรวจพื้นที่และมีโอกาสได้พบผู้บริหารของบริษัท Guangxi Tianyuan Investment (广西天源投资公司) บริษัทเอกชนที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริหารจัดการด่านตงซิง ซึ่งได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาเส้นทางการขนส่งผลไม้จากไทย พบว่า ระยะเวลาการขนส่งจากสวนในจังหวัดจันทบุรีถึงด่านตงซิง ใช้เวลาขนส่งประมาณ 40-45 ชั่วโมง
งานขนส่งหลักจะใช้การขนส่งทางบกผ่านจังหวัดนครพนม (R12) โดยใช้รถหัวลากของเวียดนามเพื่อเปลี่ยนตัวรถพ่วงที่ด่านท่าแขก สปป. ลาว (รถหัวลากของเวียดนามได้รับอนุญาตให้สัญจรใน สปป.ลาวได้) ขณะที่ตัวรถพ่วงจะใช้ของ สปป.ลาว (ตัวรถพ่วงของ สปป.ลาว ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในเวียดนามและไทย) ส่วนเส้นทางรองจะเป็นการขนส่งทางเรือ