“ฉู่เฉิง” ส้มเช้งติดรหัส QR code ของยูนนาน
11 Mar 2019วันที่ 5 มี.ค. 2562 ชาวยูนนานจำนวนมากได้แสดงความอาลัยต่อการจากไปในวัย 91 ปี ของนายฉู่ สือเจี้ยน (褚时健) เจ้าของฉายา “ราชายาสูบแห่งเอเชีย” ก่อนได้ฉายา “ราชาส้มเช้งของจีน” ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ประวัติชีวิตของนายฉู่ สือเจี้ยนมีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาส้มเช้ง หรือ “เฉิง” (橙) ในภาษาจีนกลาง ซึ่งจีนผลิตและส่งออกได้ในปริมาณมหาศาล รวมทั้งยังส่งออกมาจำหน่ายยังประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับประทานส้มรสชาติอร่อยในราคาย่อมเยา โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งนิยม ใช้ส้มในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบไหว้บรรพบุรุษ แต่ส้มเช้งของนายฉู่ สือเจี้ยน ไม่ว่าจะผลิตได้มากเพียงใด ก็ยังไม่พอต่อความต้องการภายในประเทศ จนไม่ต้องคิดไปถึงเรื่องการส่งออกเลย
กำเนิด “ฉู่เฉิง”
“ฉู่เฉิง” พัฒนามาจากส้มเช้งสายพันธุ์ “ปิงถาง” (冰糖) แปลว่า “น้ำตาลกรวด” สื่อถึงรสชาติหวานปานน้ำตาลกรวดของส้ม “ปิงถางเฉิง” ซึ่งเป็นส้มเช้งที่พบได้ทั่วไปในจีน แต่นายฉู่นำมาตอนกิ่งติดตาผสมกับส้มสายพันธุ์อื่นที่มีลักษณะเด่น ดูแลบำรุงรักษาอย่างดี ควบคุมอุณหภูมิ แดด น้ำ และปุ๋ย จนเกิดเป็นผลผลิตชั้นเลิศ แม้ “ฉู่เฉิง” เป็นส้มเช้งสายพันธุ์ “ปิงถาง” แต่ผู้บริโภคก็นิยมเรียกว่า “ฉู่เฉิง” แปลว่า ส้มเช้งของนายฉู่
“ฉู่เฉิง” เป็นส้มเช้งทรงกลมมน ผิวเกลี้ยง สีเหลืองอมส้ม บรรจุอยู่ในกล่องที่ออกแบบอย่างสวยงาม บนผลส้มมีการสลักรหัสหรือปิด QR code เอาไว้ โดยเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันการปลอมแปลงสินค้าทุกปี และจะประกาศให้ทราบหลังสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว เพื่อให้ผู้อื่นทำเลียนแบบไม่ทัน เพราะกว่าจะทำเลียนแบบได้ ส้ม “ฉู่เฉิง” ของแท้ก็ขายหมดแล้ว นอกจากนี้ รหัสหรือ QR code ยังช่วยระบุสินค้ากับตัวแทนจำหน่ายได้ จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ทันทีหากพบว่าสินค้ามีปัญหา
จาก “ราชายาสูบแห่งเอเชีย” สู่ “ราชาส้มเช้งของจีน”
นายฉู่ สือเจี้ยน ได้รับการกล่าวยกย่องในสังคมจีนว่า “คนเก่งที่แท้จริง ไม่ได้ดูที่เค้าขึ้นไปอยู่สูงแค่ไหน แต่ดูที่เมื่อตกลงมาแล้ว ยังจะยืนขึ้นมาอีกได้หรือไม่”
อุตสาหกรรมยาสูบของมณฑลยูนนานมีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของจีนได้ก็ด้วยคุณูปการของบุคคลท่านนี้ นายฉู่เริ่มต้นชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมยาสูบเมื่อปี ค.ศ. 1979 โดยรับตำแหน่งผู้จัดการโรงงานยาสูบเมืองยวี่ซี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑลยูนนาน นายฉู่ใช้เวลาเพียง 15 ปี พลิกฟื้นโรงงานยาสูบที่ใกล้ล้มละลาย ให้มีสินทรัพย์มากกว่า 7,000 ล้านหยวน ชำระภาษีเกือบ 20,000 ล้านหยวนต่อปี และสำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ “หงถ่า” (红塔) ให้มีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 30,000 ล้านหยวน จนได้รับสมญานามว่า “ราชายาสูบแห่งเอเชีย”
ระหว่างปี ค.ศ. 1995 – 2001 นายฉู่และครอบครัวถูกดำเนินคดีจากปัญหาทางการเงิน และถือเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในชีวิตของนายฉู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 2002 นายฉู่ได้ตัดสินใจเช่าที่ดินรกร้างในเมืองยวี่ซี นำมาปรับปรุงสภาพดินเพื่อเพาะปลูกส้มเช้ง โดยได้ทดลองพัฒนาสายพันธุ์ ใช้วิทยาการทางการเกษตร ควบคุมการให้ปุ๋ยและปัจจัยภายนอกต่างๆ จน 10 ปีให้หลัง “ฉู่เฉิง” ก็ทำให้นายฉู่กลายเป็น “ราชาส้มเช้งของจีน”
ขายเกลี้ยงภายในเดือนเดียว เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคา
ปัญหาใหญ่ของสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดคือ มีอายุการเก็บรักษาสั้น เน่าเสียง่าย ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาสินค้า ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา หากไม่รีบขาย สินค้าก็เน่าเสีย ยิ่งขายไม่ได้ราคา
แต่ “ฉู่เฉิง” ไม่ประสบปัญหาดังกล่าว เพราะสามารถจำหน่ายหมดภายในเวลาประมาณ 1 เดือน นับตั้งแต่ผลผลิตออกสู่ตลาด ที่สำคัญ ผู้ผลิตยังเป็นทั้งผู้กำหนดราคาขายส่งให้แก่ตัวแทนจำหน่าย และกำหนดราคาขายปลีกที่เหมาะสม หากพบการขายเกินราคาที่กำหนด ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบจากรหัสหรือ QR code บนผลส้มว่าเป็นสินค้าของตัวแทนจำหน่ายรายใด และดำเนินการลงโทษโดยเพิกถอนสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งไม่มีตัวแทนจำหน่ายกล้าขายเกินราคา เนื่องจากไม่คุ้มกับผลประโยชน์จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย “ฉู่เฉิง”
นอกจากส้มเช้ง “ฉู่เฉิง” แล้ว นายฉู่ สือเจี้ยน ยังได้พัฒนาส้มสายพันธุ์ใหม่อีก 2 สายพันธุ์ โดยตั้งชื่อว่า ส้มแมนดารินฉู่สือเจี้ยน (实建褚柑) และส้มเช้งสือเจี้ยน (实建橙)
ผลไม้ไทยมีดี แต่หนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ
คนไทยโชคดีที่มีผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตผลไม้ได้หลากหลายและมีรสชาติดี แต่ทุกปีเรามักได้ยินข่าวผลไม้ไทยมีผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ต้องขอความร่วมมือคนไทยช่วยกันบริโภคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จนต้องกลับมาขบคิดว่า เหตุใดผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจึงต้องเผชิญปัญหาเช่นนี้ทุกปี
การที่เกษตรกรไทยเลือกปลูกผลไม้เชิงเดี่ยวตามกระแส เมื่อผลไม้ชนิดไหนมีราคาดี โดยขาดการควบคุม เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ
แม้จะมีผลไม้บางชนิดที่มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนต้องสั่งจองล่วงหน้า เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล เป็นต้น แต่ก็เป็นเพราะเกษตรกรผลิตได้น้อย ไม่ได้เกิดจากการวางแผนควบคุมการผลิต
ยกระดับผลไม้ไทย
การแจ้งเกิดของ “ฉู่เฉิง” เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรไทยเห็นว่า ท่ามกลางส้มเช้งจีนมากมายหลายสายพันธุ์ “ฉู่เฉิง” ก็สามารถแจ้งเกิดได้ ทั้งที่มีราคาสูงกว่า โดยมีจุดแข็งเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ผลไม้ไทยหลายชนิดก็มีโอกาสแจ้งเกิดเช่นเดียวกัน โดยเกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ขณะเดียวกัน การควบคุมการผลิตและการตลาดก็มีความสำคัญ ตามหลักการ “การตลาดนำหน้าการผลิต”
นอกจากนี้ เกษตรกรควรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกผลไม้เชิงเดี่ยว เป็นการปลูกผลไม้เชิงผสมผสาน แต่ละชนิดไม่ต้องใช้พื้นที่ปลูกมาก เพื่อให้บำรุงรักษาและควบคุมคุณภาพได้ทั่วถึง โดยยึดหลักว่า “ทำน้อยได้มาก” และเป็นการกระจายความเสี่ยง รวมทั้งควรหมั่นศึกษาข้อมูลด้านการตลาดอยู่เสมอตามแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
จัดทำโดย นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง