จีน Go Green – กรณีศึกษาอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลในท่าเรือฝางเฉิงก่างของกว่างซี
11 Jul 2019ไฮไลท์
- ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีท่าเรือน้ำลึกและพรมแดนทางบกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และการดำเนินนโยบายเปิดสู่ภายนอกช่วยให้ “เมืองฝางเฉิงก่าง” พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ สู่การเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นฐานอุตสาหกรรมเกิดใหม่เลียบชายฝั่งทะเลรอบอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย)
- เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีบริเวณท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนตั้งโรงงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม(หนัก)ในกลุ่มเหล็กกล้า โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (non-ferrous metal) พลังงาน และน้ำมันพืช เนื่องจากทำเลที่ตั้งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก
- อย่างไรก็ดี แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองฝางเฉิงก่างมุ่งเน้น “การพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยโรงงานจะต้องมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม) เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม
ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ มีพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนาม) และการดำเนินนโยบายเปิดสู่ภายนอกของจีนทำให้เมืองที่เคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ อย่าง “เมืองฝางเฉิงก่าง” พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “เมืองท่าขนาดใหญ่” และเป็น “ฐานอุตสาหกรรมเกิดใหม่เลียบชายฝั่งทะเล” ที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะเหล็กกล้า โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (non-ferrous metal) พลังงาน และน้ำมันพืช
“ต้นทุนด้านโลจิสติกส์” เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณา เพราะต้นทุนด้านการขนส่งจะต่ำได้ต่อเมื่อการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าถึงจุดหมายได้โดยเร็วและสูญเสียน้อย พิธีการศุลกากรทั้งการนำเข้า-ส่งออกสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าเช่าโกดังสินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์นานหลายวัน
ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองฝางเฉิงก่างในอ่าวเป่ยปู้สามารถตอบโจทย์ข้างต้นได้ ท่าเรือฝางเฉิงก่างมีท่าเทียบเรือขนาดหมื่นตันขึ้นไป 43 ท่า มีเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ 250 เส้นทางสู่ 100 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกปีละกว่า 105 ล้านตัน
ยิ่งไปกว่านั้น ท่าเรือฝางเฉิงก่างยังเป็นจุดเชื่อมต่อ “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC) ด้วยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) โดยเฉพาะทางเรือ+ทางรถไฟ ในแต่ละวันมีรถไฟเข้า-ออกท่าเรือมากกว่า 1,600 โบกี้ และรถบรรทุกเข้า-ออกมากกว่า 5,000 คัน
บริษัท Guangxi Jinchuan Nonferrous Metals Co., Ltd. (广西金川有色金属有限公司) ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีนจากมณฑลกานซู่เคยเผชิญกับปัญหาค่าขนส่งที่สูง เนื่องจากวัตถุดิบแร่นำเข้าผ่านท่าเรือเหลียนอวิ๋นก่าง (มณฑลเจียงซู) ก่อนใช้รถไฟขนส่งไปยังมณฑลกานซู่ หลังจากที่บริษัทได้ย้ายมาตั้งที่เมืองฝางเฉิงก่างช่วยให้การนำเข้าสินแร่จากอเมริกาใต้และแอฟริกามีต้นทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งโรงงานยังตั้งอยู่ใกล้กับตลาดผู้บริโภคทองแดงบริสุทธิ์ (copper cathode) รายใหญ่อย่างมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งสามารถขนส่งทางเรือไปยังกวางตุ้งได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
เช่นเดียวกับโรงงาน Guangxi Huasheng New Material Co.,Ltd. (广西华昇新材料有限公司) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่ในเครือ China Alco (中铝集团) ที่ตัดสินใจเลือกตั้งโรงงานที่เมืองฝางเฉิงก่างเพราะต้องการอาศัยท่าเรือน้ำลึกในการนำเข้าวัตถุดิบแร่จากประเทศกินีด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด และโรงงานเหล็กของบริษัท Guangxi Steel Group Co., Ltd. (广西钢铁集团有限公司) ก็เล็งเห็นว่า การตั้งโรงงานที่เมืองฝางเฉิงก่างจะทำให้สามารถนำเข้าแร่เหล็กจากต่างประเทศป้อนเข้าโรงงานได้โดยตรง ซึ่งประหยัดค่าขนส่งได้มหาศาล ด้านโรงกลั่นน้ำมันพืชสามารถนำเข้าถั่วจากท่าเทียบเรือและลำเลียงผ่านสายพานเข้าสู่โรงงานได้โดยตรงเช่นกัน
ความน่าสนใจของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างกับคำว่า “อุตสาหกรรมเกิดใหม่” เป็นเรื่องของ “การลงทุนที่กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” กอปรกับการเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ในอ่าวเป่ยปู้ (หรือคนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ช่วยให้การนำเข้าและลำเลียงวัตถุดิบ (bulk) เข้าสู่โรงงานมีต้นทุนต่ำ
รัฐบาลท้องถิ่นได้วางแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน) ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณท่าเรือมีเอกลักษณ์ร่วม คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ภายในบริเวณโรงงานแต่ละแห่งมีความสะอาด เป็นระเบียบ และไร้กลิ่นรบกวน
นาย Wu Ruxing (吴如兴) รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองฝางเฉิงก่าง (防城港经济技术开发区) ให้ข้อมูลว่า เขตพัฒนาฯ ได้กำหนดแนวทางการป้องกันและควบคุมปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น โดยไม่ยอมเอาสิ่งแวดล้อมไปแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การตัดบัญชีโครงการลงทุนประเภท low-end โครงการลงทุนที่ไม่มีโซ่อุปทาน (ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) รวมทั้งไม่รับการลงทุนสาขาหล่อหลอมโลหะและเคมีภัณฑ์ (สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม)
โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาฯ จะต้องพัฒนา “ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ” อย่างโรงงานเหล็กของบริษัท Guangxi Steel Group ได้ลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมคิดเป็น 18.75% ของเงินลงทุนรวม หรือราว 6,374 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตเพื่อลดปัญหามลภาวะ การบำบัดน้ำเสียและกากของเสียนำกลับมาใช้ในโรงงานได้อีก คาดว่าโรงงานเฟสแรกซึ่งมีกำลังการผลิต 9.2 ล้านตัน จะเริ่มการผลิตได้ในปลายปี 2562 นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตกลาง-สูง อาทิ เหล็กกล้าต้านทานแรงไหวที่มีกำลังสูง (high-strength anti-seismic steel bar) และแผ่นเหล็กรีดร้อน แผ่นเหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized steel)
เงื่อนไขอีกประการของการลงทุนในเขตพัฒนาฯ (รวมทั้งในจีน) คือ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิต” อย่างบริษัท Guangxi Jinchuan Nonferrous Metals ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน โรงงานแยกทองแดงประจุด้วยไฟฟ้ามีกำลังการผลิตทองแดงบริสุทธิ์ (copper cathode) ได้ปีละ 4 แสนตัน มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ช่วยประหยัดแรงงานคน ซึ่งโรงงานทั่วไปต้องใช้แรงงาน 500-600 คน แต่โรงงานของ Jinchuan ใช้คนเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น
เช่นเดียวกับโรงงานผลิตน้ำมันพืชที่มีกำลังการผลิตถั่วเหลือง/เมล็ดพืชน้ำมัน 6 แสนตัน (ฝางเฉิงก่างได้ชื่อว่าเป็นฐานการแปรรูปเมล็ดพืชน้ำมันที่มีชื่อเสียงในจีน) ของบริษัท Fangchenggang Australia and Canada Oils Industry Co., Ltd. (防城港澳加粮油工业有限公司) ซึ่งสายการผลิตใช้คนงานเพียงแค่ 60-70 คน และในโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ใช้ช่างควบคุมเครื่องจักรเพียง 2 คนเท่านั้น ระบบการจัดการและระบบการผลิตอัจฉริยะช่วยประหยัดแรงงานและลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดต้นทุนได้กว่า 10- 20 ล้านหยวนทุกปี และช่วยให้การผลิตน้ำมันได้คุณภาพคงที่
บีไอซี ขอเน้นว่า การพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนทั่วทั้งประเทศจีน (ไม่เฉพาะแค่เมืองฝางเฉิงก่าง) ให้ความสำคัญกับ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยี” โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหนักที่โรงงานจำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี(หุ่นยนต์อุตสาหกรรม)เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม โดยภาครัฐได้สร้างกลไกลการคัดกรองและกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
จัดทำโดย นางสาวณัฐพร ตันรัตนวงศ์ นิสิตฝึกงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2562
รูปประกอบ www.pixabay.com