จาก “ภูเขาฮัวกั่วซาน” ไปยัง “ภูเขาไฟหั่วเยี่ยนซาน” เส้นทางรถไฟความเร็วสูง “ไซอิ๋ว” ของจีน
26 Feb 2021ตามนิยายคลาสสิก “ไซอิ๋ว” ของจีน ภูเขาฮัวกั่วซาน (花果山) เป็นบ้านของซุนหงอคง ปัจจุบันมีความเชื่อว่าตั้งอยู่ที่เมืองเหลียนหยุนก่าง มณฑลเจียงซู ส่วนภูเขาไฟหั่วเยี่ยนซาน (火焰山) เกิดจากหงอคงอาละวาดบนแดนสวรรค์หลังจากถูกจับตัวเข้าเตาหลอม ปัจจุบันมีความเชื่อว่าตั้งอยู่ที่เขตปกครองตงเองซินเจียง ซึ่งห่างจากภูเขาฮัวกั่วซานมากกว่า 3,000 กิโลเมตร
ถ้าซุนหงอคงและพระถังซัมจั๋งเดินทางด้วยความเร็วปกติ (โดยไม่ใช้ “เมฆวิเศษ” และไม่ถูกพวกปีศาจจับตัวไปบ่อยครั้ง) จากภูเขาฮัวกั่วซานไปยังภูเขาไฟฮั่วเหยี่ยนซานอาจต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 วัน หากจะถามว่า ถ้าสองคนนี้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปจะใช้เวลาเท่าไหร่… คำตอบคือ ประมาณ 30 ชั่วโมง จึงนับเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง “ไซอิ๋ว” ที่ประหยัดเวลาการเดินทางได้มากเลยทีเดียว!!
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงทิศ “ตะวันออก-ตะวันตก” ที่ยาวที่สุดของจีน
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองเหลียนหยุนก่าง-นครอุรุมชี มีระยะทาง 3,422 กิโลเมตร เริ่มเปิดให้บริการตลอดสายเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 ชั่วโมง เริ่มต้นจากเมืองเหลียนหยุนก่าง ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือในชายฝั่งทะเลของจีน และสิ้นสุดลงที่นครอุรุมชี เมืองเอกที่อยู่ฝั่งตะวันตกที่สุดของประเทศ จึงนับเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทิศทางตะวันออก-ตะวันตกที่ยาวที่สุดของจีน
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ผ่าน 6 มณฑลในจีน ได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเหอหนาน มณฑลส่านซี มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ และเขตปกครองตนเองซินเจียง จึงพูดได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่วิ่งจากฝั่งทะเลไปสู่ที่ราบสูง และไปจนถึงพื้นที่ทะเลทราย หากเทียบกับการแบ่งเขตเวลา (Time Zone) นานาชาติก็นับได้ว่ารวม 3 เขต ได้แก่ UTC+6, UTC+7 และ UTC+8 เลยทีเดียว (แต่ในจีนใช้ 1 Time Zone ตามกรุงปักกิ่งคือ UTC+8)
Land Bridge Passage ในโครงข่าย “แนวนอน 8 สาย + แนวตั้ง 8 สาย”
ตาม แผนพัฒนาเครือข่ายความเร็วสูงระยะกลาง–ยาว (ปี 2559-2573) โครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนประกอบด้วย เส้นทางรถไฟความเร็วสูงแนวนอน (ตะวันออก-ตะวันตก) 8 สายหลัก เช่น กรุงปักกิ่ง-นครหลานโจว และนครเซี่ยงไฮ้-นครคุนหมิง และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแนวตั้ง (เหนือ-ใต้) 8 สายหลัก เช่น กรุงปักกิ่ง-นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง-นครคุนหมิง
สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเมืองเหลียนหยุนก่าง-นครอุรุมชีนั้น ในแผนพัฒนาฯ กำหนดชื่อเป็น “Land Bridge Passage (陆桥通道)” อย่างไรก็ดี เนื่องจากเขตปกครองตนเองซินเจียงห่างจากบรรดามณฑลในภาคตะวันออกในจีน จึงมีความล่าช้าในการเข้าไปเป็นจุดเชื่อมโยงในโครงข่ายดังกล่าว จนถึงปี 2557 เส้นทางรถไฟความเร็วสูงหลานซิน (兰新高铁 เชื่อมโยงมณฑลกานซู-มณฑลชิงไห่-เขตปกครองตนเองซินเจียง) เริ่มเปิดให้บริการ นับเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกของเขตปกครองตนเองซินเจียง และวันที่ 8 ก.พ. 2564 เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสวีโจว-เหลียนหยุนก่างเริ่มเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นการเปิดตอนสุดท้ายของ Land Bridge Passage เส้นนี้ และทำให้โครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง “แนวนอน 8 สาย + แนวตั้ง 8 สาย” ของจีนกลายเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์แบบ
ข้อมูลจากการรถไฟแห่งชาติจีนชี้ว่า ณ สิ้นปี 2563 จีนมีระยะทางเส้นทางรถไฟทั้งหมด 146,300 กิโลเมตร ในจำนวนดังกล่าว ส่วนระยะทางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ 37,900 กิโลเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2558 และติดอันดับแรกของโลก และปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงได้กลายเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของชาวจีน เนื่องจากมีความสะดวกและราคาไม่แพงมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ในแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมฉบับใหม่ของจีนได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 (ค.ศ. 2035) ชาวจีนไม่ว่าจะอยู่เมืองใดของประเทศจะสามารถเข้าถึงรถไฟความเร็วสูงได้ภายในเวลา 45 นาที
จัดทำโดย: นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (วันที่ 26 ก.พ. 64)
แหล่งข้อมูล:
从“花果山”到“火焰山” “西游记铁路线”要来了
https://m.gmw.cn/baijia/2021-01/09/1302018818.html
“八纵八横”高铁网最长横向通道连云港至乌鲁木齐全线贯通徐州至连云港高速铁路2月8日开通运营
http://www.nra.gov.cn/xwzx/tpsp/tpxw/202102/t20210208_125446.shtml
乌鲁木齐全面融入全国高速铁路主网
https://new.qq.com/rain/a/20210219A0C14L00
中共中央 国务院印发国家综合立体交通网规划纲要
http://www.gov.cn/zhengce/2021-02/24/content_5588654.htm
ภาพประกอบ: