จากชานอ้อยสู่ Smart Products : นวัตกรรมสร้างถนน โอกาสที่น่าเรียนรู้ของไทย
10 Dec 2021ไฮไลท์
- “ชานอ้อย” วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำกากอ้อยทำเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิงทั้งในรูปแบบกากปกติ อัดเม็ด และอัดก้อน นำไปผลิตเอทานอล นำไปผลิตเป็นกระดานไม้อัด และนำไปผลิตเยื่อกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
- ทราบหรือไม่ว่า… “ชานอ้อย” ยังสามารถนำไปใช้ทำถนนได้ด้วย โดยทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (bagasse fiber) สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรเป็นที่แรกของประเทศจีน
- นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการประยุกต์ใช้จุดแข็งของท้องถิ่น (ฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาล) เข้ากับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับยางมะตอยได้
- “ประเทศไทย” ถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก (โครงสร้างอุตสาหกรรมคล้ายคลึงกับเขตฯ กว่างซีจ้วง) และทุกภาคส่วนอยู่ระหว่างการผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งพลิกโฉมการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะศึกษาแนวทางการวิจัย หรือพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับกว่างซีในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ “การเติบโตสีเขียว” (Green growth) และยังนับว่าเป็นการ “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อีกทาง
เมื่อโลกเราต้องการ “ทางเลือกใหม่” ทั้งในด้านพลังงานและทรัพยากร ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและพยายามพัฒนานวัตกรรมมาประยุกต์ดัดแปลงกับเศษวัสดุเหลือใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดขยะ และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดย “เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” ที่เคยถูกมองว่าเป็นของไร้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร มาในวันนี้ เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายชนิดได้กลายเป็นสิ่งของที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่น้อย
วันนี้ บีไอซี จะพูดถึง “ชานอ้อย” วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีดีมากกว่านำไปทิ้งเปล่า ปัจจุบัน ชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำกากอ้อยทำเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิงทั้งในรูปแบบกากปกติ อัดเม็ด และอัดก้อน นำไปผลิตเอทานอล นำไปผลิตเป็นกระดานไม้อัด และนำไปผลิตเยื่อกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ท่านทราบหรือไม่ว่า… “ชานอ้อย” ยังสามารถนำไปใช้ทำถนนได้ด้วย สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง พื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของทั้งประเทศ ชานอ้อยเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. (广西交科集团) ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (bagasse fiber) สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรเป็นที่แรกของประเทศจีน
กระบวนการพัฒนางานวิจัยดังกล่าว เป็นการนำชานอ้อยเหลือทิ้งในโรงงานน้ำตาลมาผ่านกระบวนการบดย่อยด้วยเครื่องจักร ปรับสภาพด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ และแยกเส้นใย จนได้เป็น “เส้นใยชานอ้อย” ที่มีคุณสมบัติในการเป็นวัสดุผสม (Composite Material) กับแอสฟัลต์หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ยางมะตอย” สำหรับการก่อสร้างพื้นผิวจราจร โดยพื้นผิวจราจรที่มีส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับแอสฟัลต์ที่ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลส และมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานของพื้นผิวถนน ความทนทานต่อสภาพอากาศ และความต้านทานต่อการล้า (fatigue resistance) ได้ดี
ความสำเร็จของนวัตกรรมงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาใช้จริงกับโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่เชื่อมเมืองชินโจวกับเมืองเป๋ยไห่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงถนนเฟิ่งเฉิงสาย 4 (凤城四路) ในนครซีอาน มณฑลส่านซีแล้วด้วย
ที่ผ่านมา บริษัท Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. มุ่งมั่นกับงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร (Comprehensive Utilization) ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในงานก่อสร้างถนนมาโดยตลอด อาทิ การใช้ยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ให้เป็นผงยางสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ การปรับปรุงวัสดุรีไซเคิลคอนกรีต (Recycled Concrete Aggregate, RCA) และเศษเหล็ก
นับเป็นมิติใหม่ของการใช้ประโยชน์จากชานอ้อยที่มีความหลากหลาย เป็นการประยุกต์ใช้จุดแข็งของท้องถิ่น (ฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาล) เข้ากับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อย และช่วยลดการพึ่งพาการใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับแอสฟัลต์ได้ ที่สำคัญ เป็นการบุกเบิกหนทางใหม่ในการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมุ่งไปสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของรัฐบาลกลาง
จะเห็นได้ว่า… ชานอ้อยมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านการเกษตร พลังงาน กระดาษ และวัสดุก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ดัดแปลงของผู้ใช้ โดยที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก (โครงสร้างอุตสาหกรรมคล้ายคลึงกับเขตฯ กว่างซีจ้วง) และทุกภาคส่วนอยู่ระหว่างการผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งพลิกโฉมการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะศึกษาแนวทางการวิจัย หรือพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับกว่างซีในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ “การเติบโตสีเขียว” (Green growth) และยังนับว่าเป็นการ “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อีกทาง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง ที่ผ่านมาในช่วงต้นปี 2560 ทีมนักวิจัยทีมนักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมร่วมด้านวัสดุพลังงานหมุนเวียน (Collaborative Innovation Center of Renewable Energy Materials/可再生能源材料协同创新中心) ของมหาวิทยาลัยกว่างซีได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุกราฟีน (Graphene) สำหรับการปูพื้นผิวสะพานได้สำเร็จเป็นที่แรกของโลก
โดยทีมวิจัยได้ร่วมมือกับกับบริษัท Guangxi Zhenglu Machinery Technology Co., Ltd. (广西正路机械科技有限公司) ในการทดลองเติมวัสดุผงกราฟีนลงในยางผง (Powder Rubber) ได้เป็นเทคโนโลยีพื้นผิวถนนแอสฟัลต์ที่ปรับปรุงคุณภาพด้วยวัสดุยางผสมกับวัสดุกราฟีนโครงสร้างแบบ 3 มิติ และนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยจุดเด่นของแอสฟัลต์ที่ปรับปรุงคุณภาพด้วยวัสดุยางผสมกับวัสดุกราฟีน คือ ปราศจากสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีค่าความเสถียรในอุณหภูมิสูง ทนต่อการแตกร้าวในอุณหภูมิต่ำ มีค่าความหนืดและการยึดเกาะพื้นผิว
ในเวลานั้น การพัฒนาวัสดุกราฟีนโครงสร้าง 3 มิติในเชิงอุตสาหกรรม นับเป็นผลความสำเร็จครั้งสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงในแวดวงวัสดุใหม่สำหรับงานคมนาคมขนส่ง เป็นการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบเชิงปริมาณสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเป็นต้นแบบแรกของจีนและของโลก แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราว 15% แต่มีประสิทธิภาพสูง คาดว่าสามารถแก้ไขปัญหาถนนในจีนที่มีอายุการใช้งานสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://news.gxtv.cn/ (广西广播电视台新闻频道) วันที่ 07 ธันวาคม 2564
เว็บไซต์ www.bgigc.com (广西交科集团) วันที่ 09 ตุลาคม 2564
เว็บไซต์ www.gxnews.com (广西新闻网) วันที่ 30 กันยายน 2564
ภาพประกอบ https://kuaibao.qq.com