จับตาบทบาทยูนนานใน “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว” มองหาโอกาสไทย
3 Jul 2020ความริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) นับเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ (grand strategy) ของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งจะขยายผลประโยชน์ของจีนในเวทีโลกอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทางการค้าการลงทุนผ่านการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับภูมิภาคที่เป็นตลาดสำคัญ โดยการดำเนินบรรดาโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ยังช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศของจีน ทั้งในแง่ภาพลักษณ์การเป็น “มหาอำนาจ” ที่สนับสนุนการพัฒนาเพื่อประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค ตลอดจนการสร้าง “เครือข่าย” ประเทศ BRI ที่จีนสามารถมีอิทธิพลได้โดยตรง เหล่านี้ ล้วนสะท้อนกลับเป็นประโยชน์ต่อวาระทางการเมืองภายในประเทศของจีนเอง โดยเฉพาะ “การฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชาติ” (National Rejuvenation) ซึ่งนับเป็น “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน
หาก “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” (All roads lead to Rome) เป็นคำเปรียบเปรยที่สื่อถึงสถานะ “ศูนย์กลาง” ของจักรวรรดิโรมันในโลกยุคโบราณ เมื่อพิจารณาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ BRI ของจีน ได้แก่ ระบบถนน ระบบราง ระบบท่อขนส่งพลังงาน โครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ท่าเรือ เป็นต้น ก็จะพบว่า โครงการเหล่านี้เล็งผลเลิศที่จะส่งเสริมภูมิรัฐศาสตร์ให้จีนเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่สามารถเชื่อมโยงต่อไปถึงทั่วทั้งโลกได้ไม่ยาก แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อกังขาต่อความโปร่งใสของยุทธศาสตร์นี้ โดยเฉพาะข้อวิพากษ์ในประเด็นความเสี่ยงต่อกับดักหนี้ (debt trap) และการขาดหลักธรรมาภิบาล (governance) ในการดำเนินโครงการทั้งหลายภายใต้ BRI
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณา BRI ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ก็จะพบว่า ในภาพรวมแผนงานส่วนนี้มุ่งที่จะสร้าง “ทางออกทะเล” ให้แก่มณฑลในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนโดยเฉพาะมณฑลยูนนานที่ยังคงมีระดับการพัฒนาไม่มาก ด้วยการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจ” (economic corridor) กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) ที่จะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย และระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว (China-Laos Economic Corridor) ที่ในอนาคตสามารถมีทางออกทะเลเมื่อเชื่อมโยงสู่ประเทศไทยหรือต่อไปถึงสิงคโปร์ ดังนั้น พัฒนาการของระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินและมีความเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน
แนวคิด “สองระเบียงเศรษฐกิจ หนึ่งแม่น้ำ” ของมณฑลยูนนาน ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง
(ที่มาภาพ: https://mp.weixin.qq.com/s/Ttmkopah0H7zlLA3QMO_6g)
ระเบียงเศรษฐกิจที่เป็น “อนาคตร่วมกัน” ของจีนกับลาว
ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวนับเป็นระเบียงเศรษฐกิจโครงการแรกในกลุ่มระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China-Indochina Economic Corridor) ของ BRI ซึ่งจีนกับลาวตั้งเป้าหมายจะพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างกัน โดยในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศลาวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 จีนกับลาวได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุที่จะ “สร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวที่เริ่มต้นจากมณฑลยูนนานของจีน” รวมถึงขับเคลื่อนโครงการสำคัญอย่าง “รถไฟจีน-ลาว” เพิ่มขนาดและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยจีนและลาวมุ่งมั่นที่จะสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของความไว้ใจระหว่างกัน” (a community of shared future with strategic significance on the basis of mutual trust)
ต่อมา ในระหว่างนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศลาว เดินทางเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีสายแถบและเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 (The second Belt and Road Forum for International Cooperation: 2nd BRF) เมื่อเดือนเมษายน 2562 จีนกับลาวได้ลงนาม “แผนปฏิบัติการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ลาว ระหว่างปี 2562-2573” ซึ่งมีส่วนที่กำหนดกรอบความร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว รวมถึงโครงการรถไฟจีน-ลาว โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับลาว “จะสร้างประโยชน์ในระดับสูงต่อความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาและความมั่งคั่งร่วมกัน”
การที่จีนกำหนดให้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวเริ่มต้นจาก “มณฑลยูนนาน” ก็เนื่องมาจากที่ตั้งของยูนนานซึ่งเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีพรมแดรติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึงสามประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมา จึงมีลักษณะที่เปรียบเสมือน “ประตูสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของจีน ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำถึงจุดแข็งดังกล่าวของยูนนานระหว่างการตรวจเยี่ยมมณฑลทั้ง 3 ครั้งตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีนเมื่อปี 2551 และในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนอีก 2 ครั้งในปี 2558 และเมื่อเดือนมกราคม 2563 โดยข้อสั่งการเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างสู่ภายนอก (opening-up) ของมณฑลยูนนานที่มีจุดเน้นในการเชื่อมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลเข้ากับเศรษฐกิจชายแดนและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน อันจะเป็น “ตัวเร่ง” การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมณฑลที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ถึง 26 ชนชาติให้หลุดพ้นจากความยากจนโดยเร็ว รวมถึงเพิ่มโอกาสด้านการพัฒนาให้มีระดับที่เข้าใกล้กับมณฑลทางภาคตะวันออกมากขึ้น
สำหรับลาว โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวภายใต้ BRI ของจีนนับเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สามารถส่งเสริมยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศของลาวที่ต้องการเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลไปสู่ประเทศที่เป็นสะพานเชื่อมในภูมิภาค (from land-locked to land-linked) โดยมีโครงการรถไฟจีน-ลาวที่เชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับบ่อเต็นที่เป็นชายแดนระหว่างแขวงหลวงน้ำทาของลาวกับเขตฯ สิบสองปันนาของมณฑลยูนนานที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 2564 เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ ลาวกับมณฑลยูนนานยังมีความใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ โดยวิสาหกิจของมณฑลยูนนานจำนวนมากได้เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลาว เช่น ถนน ทางด่วน รวมถึงการทำเกษตรแบบมีสัญญา (contract farming) หรือการเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรในแขวงทางภาคเหนือของลาว ทั้งนี้ ในปี 2562 มณฑลยูนนานกับลาวมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 1,259 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับลาวในปีดังกล่าวที่ 3,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงานของลาวซึ่งวิสาหกิจของมณฑลยูนนานได้รับสัมปทานการพัฒนา
ที่เป็น “อนาคตร่วมกัน” ของจีนกับลาว
(ที่มาภาพ: https://mp.weixin.qq.com/s/Ttmkopah0H7zlLA3QMO_6g)
ในภาพรวม ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวนับเป็นตัวอย่างของการถ่ายทอดแนวคิด “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” (A Community of Shared Future for Mankind) อย่างเป็นรูปธรรม โดยแนวคิดดังกล่าวมีลักษณะของการดำเนินการเพื่อปรับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศให้เอื้อต่อการบรรลุ “ความฝันของจีน” ซึ่งในกรณีของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวนี้ “อนาคตร่วมกัน” ที่เป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายแบบ “win-win” ได้แก่ ความมั่งคั่งอันเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพและความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยระเบียงเศรษฐกิจสายนี้จะเพิ่มระดับความเชื่อมโยงทางด้านกายภาพระหว่างมณฑลภาคตะวันตกของจีนที่มีระดับการพัฒนาไม่สูงมากเช่นยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ซึ่งจะสร้างโอกาสจำนวนมากให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้หลุดพ้นจากความยากจนและมีความมั่นคงของยูนนาน รวมถึงโอกาสในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเกือบทั้งประเทศของลาว
นโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ส่งเสริมบทบาทยูนนานในระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว
มณฑลยูนนานในฐานะ “พื้นที่เป้าหมาย” ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวยังนับเป็นหนึ่งในมณฑลยากจนลำดับต้น ๆ ของจีน แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการพัฒนามณฑลยูนนานจะเป็นไปอย่างรวดเร็วจนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในมณฑลต่อหัว (GDP per capita) สามารถเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 29 ของจีนในปี 2557 มาอยู่ที่อันดับที่ 24 ของจีนในปี 2562 แต่มณฑลยูนนานก็ยังนับเป็น “สมรภูมิ” ต่อสู้กับความยากจนกลุ่มสุดท้ายของจีนในขณะนี้ โดยยูนนานยังคงมีประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนสุดขีด (extreme poverty) เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนคนใน 7 อำเภอยากจนสุดขีด
อย่างไรก็ดี มณฑลยูนนานมิได้เป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีระดับการพัฒนาค่อนข้างน้อยเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาทั้งประเทศจะพบว่า ภาคตะวันตกของจีนที่ครอบคลุม 12 พื้นที่ระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานคร ได้แก่ ฉงชิ่ง เสฉวน ยูนนาน กุ้ยโจว ทิเบต ส่านซี กานซู่ หนิงเซี่ย ซินเจียง มองโกเลียใน กว่างซี และชิงไห่ ยังเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งรัฐบาลจีนให้ความสำคัญจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเปิดสู่ภายนอกและดึงดูดการลงทุนเข้ามาเพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่ นับตั้งแต่การประกาศยุทธศาสตร์ “มุ่งสู่ตะวันตก” (Go West) เป็นครั้งแรกในปี 2543 โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านพลังงาน จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในพื้นที่ทั้ง 12 แห่งข้างต้นจากเพียง 1.5 ล้านล้านหยวนในปี 2542 เป็นสูงถึง 20.5 ล้านล้านหยวนในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20.7 ของมูลค่า GDP จีน และมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
ผลสำเร็จในการพัฒนาภาคตะวันตกของจีนได้รับการต่อยอดมาอย่างต่อเนื่องทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลจีนได้ออก “ความเห็นชี้นำว่าด้วยการยกระดับการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่” (A Guideline on Advancing the Development of Western Regions in New Era) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ “มุ่งสู่ตะวันตกในยุคใหม่” ที่มีคุณภาพสูงและมีความสมดุล โดยนอกจากแนวทางการพัฒนาทั่วไปที่ยุทธศาสตร์ฉบับนี้กำหนดเป็นพื้นฐานสำหรับพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง เช่น การพัฒนาระบบนิเวศ การยกระดับการเปิดกว้างสู่ภายนอก การสร้างสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจแล้ว สำหรับมณฑลยูนนานยังได้รับการกำหนดให้มีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา BRI กับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ตลอดจนการกำหนดให้นครคุนหมิงซึ่งเป็น “เมืองเอกของมณฑลชายแดน” เป็น “ผู้ค้ำจุนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค” ซึ่งนับเป็นพื้นฐานทางนโยบายในระดับชาติที่ส่งเสริมบทบาทของมณฑลยูนนานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวอย่างชัดเจน
ที่สำคัญ ในระดับท้องถิ่น คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลยูนนานในนาม “คณะทำงานผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวของมณฑลยูนนาน” ยังได้ออกประกาศเรื่อง “การแบ่งภารกิจตามแผนดำเนินงานของมณฑลยูนนานในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ปี 2563-2568” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 โดยกำหนดแผนงาน 7 สาขา ประกอบด้วย
(1) ความเชื่อมโยง ได้แก่ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทางด่วนเวียงจันทน์-โม่ฮานและทางด่วนบ่อเต็น-ห้วยทราย การยกระดับศักยภาพการขนส่งในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการขนส่งทางอากาศในมณฑลยูนนานและความร่วมมือกับอุตสาหกรรมการบินของลาว การยกระดับโลจิสติกส์และความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าระหว่างจีน-ลาว นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อสร้างความสมดุลในปริมาณสำรองไฟฟ้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและภูมิภาคอินโดจีน โครงการความร่วมมือด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในลาว
(2) เกษตรกรรม ได้แก่ โครงการส่งเสริมกระตุ้นให้วิสาหกิจในยูนนานไปเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในลาว รวมทั้ง การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์และสัตว์น้ำในลาว
(3) ผลิตภาพและการค้า ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมในเมืองสำคัญตามแนวเส้นทางการเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางน้ำ
(4) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ได้แก่ การใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่จากการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวในปี 2564 ดึงทรัพยากรการท่องเที่ยวตามแนวระเบียงเศรษฐกิจมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผลักดันการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและการป้อนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ศึกษาและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวข้ามแดนโดยผลักดันการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการตามแนวเส้นทางจากบ่อเต็นไปยังห้วยทรายเพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแบบคาราวานที่ไร้อุปสรรค และการผลักดันการพัฒนาเขตนิคมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในเมืองหลวงพระบาง
(5) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ลาวโดยผลิตบุคลากรเพื่อรองรับโครงการความร่วมมือที่สำคัญในระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว เช่น การสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านการรถไฟในลาว
(6) ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานกฎระเบียบ ประกอบด้วย การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและการตรวจวัดคุณภาพน้ำในน่านน้ำข้ามแดนระหว่างยูนนานกับลาว การยกระดับศักยภาพด้านการดำเนินงานของฝ่ายลาว เช่น การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ การประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสีเขียว และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งยูนนานและลาว
(7) สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการลดความยากจน ได้แก่ การแก้ปัญหาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวโดยเริ่มต้นในลักษณะพื้นที่ทดลอง การมอบทุนการศึกษาต่อในมณฑลยูนนานให้แก่นักเรียนยากจนของลาว การเพิ่มการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เยาวชนยากจนและการช่วยเหลือด้านอาชีวศึกษาแก่แรงงานไร้ฝีมือ
โดยสรุป มณฑลยูนนานได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวผ่านทั้งพื้นฐานทางนโยบายระดับชาติและการออกแผนดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของรัฐบาลจีนที่ประสงค์ให้ระเบียงเศรษฐกิจสายนี้เป็นโอกาสในการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศโดยตรงผ่านการสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งนำร่องโดยโครงการทางกายภาพที่โดดเด่น ได้แก่ รถไฟจีน-ลาว และวางแผนขยายไปยังด้านอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลยูนนานกับลาวที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว มีการอาศัยพึ่งพากันอย่างซับซ้อนและแนบแน่นยิ่งขึ้น
ผลประโยชน์ “win-win” บนความสัมพันธ์แบบอสมมาตร
จีนเน้นย้ำเสมอว่าโครงการความร่วมมือภายใต้ BRI สร้างประโยชน์ให้แก่จีนและประเทศที่เข้าไปลงทุนซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบ “win-win” ที่แตกต่างจาก “การกินรวบ” (zero-sum game) ที่ประเทศร่ำรวยในอดีตมุ่งแสวงหาเพียงประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่กรอบความคิดแล้ว อาจแสดงให้เห็นถึงทัศนคติด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของจีนในลักษณะที่ว่า การปฏิสัมพันธ์ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นการสะท้อนแง่มุมการพัฒนาที่หลากหลายของมนุษยชาติ ดังนั้น ผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอารยธรรมย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย กล่าวในอีกนัยหนึ่ง แนวคิดผลประโยชน์แบบ “win-win” ของจีนจึงเป็นการประชาสัมพันธ์และพยายามหักล้างข้อกล่าวหาของชาติตะวันตกที่ว่า ความริเริ่ม BRI เป็นการตักตวงผลประโยชน์ของจีนผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รวมถึงคำอธิบายในลักษณะ “การปะทะกันระหว่างอารยธรรม” (The Clash of Civilizations) นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่ขนาดเศรษฐกิจของจีนก็อาจยากที่จะหลีกเลี่ยงการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศโดยรอบในภูมิภาคที่อยู่ในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ BRI ของจีน ล้วนมีขนาดเศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันในระดับที่ด้อยกว่าจีนเกือบทั้งหมด ซึ่งในกรณีของประเทศลาวก็มีลักษณะนี้เช่นเดียวกัน และแม้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวจะสร้างความก้าวหน้าและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับลาวอย่างมหาศาล แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วก็จะพบว่า อำนาจการต่อรองของจีนกับลาวในการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ก็เป็นโอกาสของจีนในการสร้างบทบาทเป็น “ผู้กำหนดแนวโน้ม” (trendsetter) ในภูมิภาค ซึ่งย่อมเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความริเริ่ม BRI รวมถึงการเป็น “ผู้ค้ำจุนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค” ของมณฑลยูนนานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ของจีน
ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวจึงเป็นทั้งการให้ “ความช่วยเหลือ” และ “การรุกคืบ” ลาวรวมทั้งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของจีน ซึ่งนับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของลาวและทุกประเทศในภูมิภาคที่จะบริหารความสัมพันธ์และผลประโยชน์จากการเข้าร่วมความริเริ่ม BRI ของจีนให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการยกระดับการพัฒนาประเทศมากที่สุด ดังนี้แล้ว แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศที่เข้าร่วมโครงการภายใต้ BRI อาจจะมีลักษณะ “อสมมาตร” แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็ย่อมจะสร้างผลประโยชน์แบบ “win-win” ในความร่วมมือกับจีนได้
ระเบียงเศรษฐกิจที่เป็น “โอกาส” ของไทย
แม้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวจะครอบคลุมพื้นที่จากนครคุนหมิงของมณฑลยูนนานจนถึงเวียงจันทน์ของลาวโดยมีโครงการรถไฟจีน-ลาวที่มีกำหนดเปิดเดินรถภายในสิ้นปี 2564 เป็นเส้นเลือดใหญ่ของความเชื่อมโยงด้านกายภาพ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทางยุทธศาสตร์ก็จะพบว่า การบรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ที่คาดหวังจากระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ให้กับทั้งมณฑลยูนนานและลาวย่อมขาดการเชื่อมต่อกับประเทศไทยเพื่อสร้างเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทย” ไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถเป็น “ทางออกทะเล” ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แก่มณฑลยูนนาน อีกทั้งยังเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินที่มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับมณฑลยูนนานมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนประเทศไปสู่ “สะพานเชื่อมในภูมิภาค” ของลาวย่อมประสบผลสำเร็จไม่ได้หากไม่สามารถเชื่อมตลาดใหญ่ “เหนือ” กับ “ใต้” เข้าด้วยกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวและการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทยปรากฏมาตั้งแต่ข้อเสนอการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้” (North-South Economic Corridor: NSEC) ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ที่สนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) แล้ว
เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวย่อมสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของไทย โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมโยงที่ในอนาคตโครงการรถไฟไทย-จีนจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมโยงในภูมิภาคมีลักษณะ “ไร้รอยต่อ” (seamless connectivity) และยังทำให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินที่มีประชากรเกือบ 300 ล้านคนเชื่อมเข้ากับตลาดภาคตะวันตกของจีนที่มีประชากรกว่า 400 ล้านคน โดยนอกจากความเชื่อมโยงผ่านระบบรางในอนาคตแล้ว ถนนสาย R3A ที่สามารถเชื่อมโยงจากด่านโม่ฮาน (Mohan) ในมณฑลยูนนาน มาจนถึงด่านเชียงของในจังหวัดเชียงรายด้วยระยะทางเพียง 247 กิโลเมตร และการขนส่งทางแม่น้ำโขงที่ใช้ระยะเวลาไม่นาน ก็นับเป็นความเชื่อมโยงดั้งเดิมที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ซึ่งเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างช้านาน
ด่านโม่ฮานของมณฑลยูนนานกับด่านบ่อเต็นของลาวซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางความร่วมมือในระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว
(ที่มาภาพ: https://www.donews.com/news/detail/4/3017209.html)
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์แผนงานของมณฑลยูนนานในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวทั้ง 7 สาขาตามที่ได้นำเสนอในช่วงต้นของบทความนี้ ก็อาจประมวล “โอกาส” ของไทยจากระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
(1) โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นในลาวย่อมเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับมณฑลยูนนาน ซึ่งในสภาวะปกติก่อนสถานการณ์โรคระบาด ถนนสาย R3A นับเป็นเส้นทางขนส่งทางบกระหว่างไทยกับจีนซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการทางภาคเหนือของไทย การประกาศลงทุนก่อสร้างทางด่วนระหว่างเวียงจันทน์กับโม่ฮานและทางด่วนระหว่างบ่อเต็นกับห้วยทรายย่อมเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าไทยมายังจีนผ่านถนนสายนี้ โดยเฉพาะในด้านระยะเวลา เนื่องจากถนนสาย R3A ในปัจจุบันยังมีสภาพคับแคบและคดเคี้ยว นอกจากนี้ เมื่อรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นทางเลือกการขนส่งสินค้าไทยมายังมณฑลยูนนานที่สะดวกรวดเร็วอีกทางหนึ่งด้วย
(2) การค้าการลงทุน ประเทศไทยกับมณฑลยูนนานมีความสัมพันธ์ทางการค้ามาอย่างยาวนาน โดยทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ค้าหลักในด้านสินค้าเกษตรที่สำคัญระหว่างกัน โดยผลไม้เมืองร้อนของไทย เช่น มังคุด ทุเรียน ส้มโอ และกล้วยไม้ไทย เป็นที่นิยมในตลาดยูนนาน ขณะที่ผักและผลไม้สดของยูนนานก็ส่งออกไปยังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในทุกด้านจึงย่อมเป็นโอกาสในการขยายมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ การลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงานลาวและการร่วมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในลาวของยูนนาน เช่น เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (Boten Beautiful Land Specific Economic Zone) ยังเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่สามารถเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังจีนหรือประเทศที่สามโดยได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีและศุลกากร
(3) การท่องเที่ยว การเปิดดำเนินการของรถไฟจีน-ลาว รวมถึงการลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวแบบคาราวานของยูนนานในลาว ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ นอกเหนือจากการล่องเรือท่องเที่ยวทางแม่น้ำโขงไปยังจังหวัดเชียงรายที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ไทยเองควรเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้ ทั้งในด้านการทำความเข้าใจกฎระเบียบจราจรและวัฒนธรรม เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างทั้งสองด้านข้างต้นระหว่างจีนกับไทย
(4) พลังงาน ความมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมโยงทางพลังงานของยูนนานผ่านระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ นับเป็นความริเริ่มที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค โดยยูนนานเป็นแหล่งสำรองของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของทวีปเอเชีย อย่างไรก็ดี ควรจับตามองความเคลื่อนไหวในด้านนี้ของยูนนานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปี 2559 ยูนนานได้จัดตั้ง “ศูนย์การแลกเปลี่ยนพลังงานนครคุนหมิง” (Kunming Power Exchange Center) เพื่อเป็นเวทีกลางในการซื้อ-ขายไฟฟ้าภายในมณฑล ระหว่างมณฑล และระหว่างประเทศ นับเป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็น “ผู้กำหนดแนวโน้ม” ด้านพลังงานในภูมิภาค
กล่าวโดยสรุป ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวเป็นโอกาสที่สำคัญของไทย เนื่องจากความสำเร็จของโครงการดังกล่าวที่จะสร้างประโยชน์แบบ “win-win” ให้แก่ทุกฝ่าย จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับไทยเพื่อสร้างเป็นระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทย อย่างไรก็ดี การทำให้ระเบียงเศรษฐกิจสายนี้เป็นโอกาสของไทยอย่างแท้จริงก็ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของโครงการที่เชื่อมโยงกับโครงการในระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ด้วย โดยหากไทยไม่สามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ในอนาคตอันใกล้ ก็อาจส่งผลให้ไทยมีสถานะเป็น “จุดเชื่อมต่อที่ขาดหาย” (missing link) ของภูมิภาคได้ ดังนี้แล้ว นอกจากการเตรียมความพร้อมเพื่อใช้โอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาพร้อมกับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาวแล้ว ทุกภาคส่วนของไทยก็ควรร่วมมือกันผลักดันโครงการความเชื่อมโยงที่สำคัญเพื่อส่งเสริมบทบาทไทยในระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ ซึ่งจะสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวให้แก่ไทยและภูมิภาค
**************************