จับตาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ “ดาวรุ่งดวงใหม่” ในโครงสร้างการค้าต่างประเทศของจีน
25 Jan 2022ท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติจากโควิด-19 แต่ปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่) ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดี นับเป็นความก้าวหน้าใหม่ของการพัฒนาท่าเรือสู่เป้าหมายการเป็น Gateway การค้าระหว่างประเทศ และ Hub ท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศ
สถิติที่น่าสนใจ พบว่า ปี 2564 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” เป็นหนึ่งในท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในประเทศจีน กล่าวคือ
- ทั้งปี 2564 ปริมาณขนถ่ายสินค้า 358 ล้านตัน อันดับที่ 9 ของท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล เพิ่มขึ้น 21.2% (YoY) คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ล้านตันจากปีก่อน เป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล
- ทั้งปี 2564 ปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์01 ล้าน TEUs อันดับที่ 8 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเล เพิ่มขึ้น 19% (YoY) เป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาท่าเรือหลักเลียบชายฝั่งทะเล
- มกราคม – พฤศจิกายน 2564 เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในกระบวนการนำเข้าสินค้าเหลือเพียง 43 ชั่วโมง ลดลง 45% จากปี 2562 ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 72 ชั่วโมง และเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในกระบวนการส่งออกสินค้า 19 ชั่วโมง ลดลง 30% จากปี 2562 ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 27 ชั่วโมง
- มกราคม – พฤศจิกายน 2564 ค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในกระบวนการนำเข้าสินค้าเหลือเพียง 1,750 หยวน/TEUs ลดลง 47% จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 3,326 หยวน/TEUs และค่าใช้จ่ายรวมที่ใช้ในกระบวน
การส่งออกสินค้าเหลือ 1,537 หยวน/TEUs ลดลง 33% จากปี 2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2,309 หยวน/TEUs
ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โมเดลการขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ในบริเวณท่าเรือช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกให้กับผู้ค้าอย่างมาก
ปีที่ผ่านมา ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือใหม่ 12 เส้นทาง ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือรวม 64 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือสำคัญทั้งในและต่างประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 37 เส้นทาง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยด้วย และเป็นเส้นทางเดินเรือกับประเทศสมาชิก RCEP (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) 28 เส้นทาง
ปี 2564 เที่ยวขบวนรถไฟที่วิ่งให้บริการในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” มากกว่า 6,000 เที่ยวขบวนแล้ว ขยายตัวมากกว่า 30% นับเป็นขบวนรถไฟระหว่างประเทศที่มีอัตราขยายตัวสูงสุดของจีนตลอดช่วงหลายปีมานี้ สถิติสูงสุดของการลำเลียงสินค้าต่อวันอยู่ที่ 603 โบกี้ และนับตั้งแต่เปิดให้บริการขนส่ง “เรือ+ราง” มีเที่ยวขบวนสะสม 14,000 เที่ยวแล้ว
บริษัท China Railway สาขาหนานหนิง เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว โมเดลการขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีปริมาณการลำเลียงตู้สินค้ารวม 5.7 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 57.5% เส้นทางการขนส่ง 13 เส้นทางครอบคลุม 47 เมืองใน 13 มณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยมี Hub สำคัญ คือ นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ และมณฑลซินเจียง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย
นอกจากนี้ สินค้าของจาก(ภาคตะวันตกของ)จีนสามารถใส่งออกผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไปยัง 311 ท่าเรือใน 106 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สถิติสูงสุดของรถไฟที่วิ่งให้บริการต่อวัน 22 เที่ยวขบวน ข้อมูลช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 ระบุว่า การนำเข้า-ส่งออกของ 14 มณฑลในจีนผ่านด่านในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีมูลค่ารวม 4.599 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.3% (YoY)
ปีที่ผ่านมา บริษัท Beibu-gulf Port Group (北部湾港集团) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนและการบริหารจัดการท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และต่างประเทศ ในสายงานธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเข้าอาหารในห่วงโซ่ความเย็น ทั้งผลไม้และเนื้อสัตว์ (ท่าเรือชินโจวและท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้าผลไม้และเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ) โดยเฉพาะการนำเข้าผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงกว่า 37% รวมถึงการบุกเบิกตลาดสินค้ากลุ่มใหม่ให้มาใช้โมเดลการขนส่งดังกล่าว เช่น อะไหล่ยานยนต์ และเยื่อกระดาษ ปัจจุบัน มีสินค้าที่ใช้การขนส่งด้วยรถไฟเพื่อการลำเลียงสินค้านำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือแล้วมากกว่า 600 ประเภท
ล่าสุด โครงการพัฒนาระบบรางไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงสินค้าในสถานีรถไฟชินโจวตะวันออกภายในท่าเรือชินโจวได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วยให้การลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟแบบเต็มขบวน 50 โบกี้ ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น (จากเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 4.5 ชั่วโมง) และสามารถทำเวลาได้เร็วสูงสุด 1.5 ชั่วโมง
ในรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนที่มีต่อแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ระหว่างปี 2554-2578 ซึ่งเผยแพร่โดยกรมคมนาคมขนส่งเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อนานมานี้ ได้วางแผนที่จะพัฒนาเส้นแนวชายฝั่งท่าเรือระยะทาง 158 กิโลเมตร ท่าเทียบเรือ 610 ท่า และตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 ปริมาณขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะแตะระดับ 500 ล้านตัน เป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 10 ล้าน TEUs และในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านตัน เป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 25 ล้าน TEUs โดยมีสินค้าหลัก อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และน้ำมันดิบ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดตำแหน่ง (positioning) ของท่าเรือแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ในลักษณะแบ่งงานกันทำ กล่าวคือ “ท่าเรือชินโจว” เป็น Hub การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และ Hub เชื่อมต่อการขนส่งทางทะเล+แม่น้ำ ส่วน “ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” เป็นฐานเก็บสำรองและเปลี่ยนถ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และวัตถุดิบ และ “ท่าเรือเป๋ยไห่” เน้นอุตสาหกรรมบริการและการขนส่งผู้โดยสารเรือสำราญ
บีไอซี เห็นว่า การใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี โดยเฉพาะ “ท่าเรือชินโจว” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตกอย่างนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครคุนหมิง และนครซีอาน มีบริการทุกวัน
อีกทั้งยังสามารถใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เชื่อมต่อกับโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้า (ไทย) ไปขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้โดยตรงอีกด้วย การขนส่งโมเดลนี้สามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ทั้งตู้สินค้าธรรมดา ตู้ที่มีเครื่องทำความเย็น (reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้สินค้าแบบ open top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกองด้วย
ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.cnr.cn (央广网 ) วันที่ 16 มกราคม 2565
เว็บไซต์ www.cyol.net/ (中国青年报客户端) วันที่ 14 มกราคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 11 มกราคม 2565
เว็บไซต์ http://jtt.gxzf.gov.cn (广西交通运输厅 ) วันที่ 10 มกราคม 2565
ภาพประกอบ www.bbwgw.com