จับตาความคืบหน้า 3 โครงการสำคัญบนเส้นทางขนส่งจีน-ลาว-ไทย ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม
14 Sep 2017ช่วงวันที่ 7-8 กันยายน 2560 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้มีโอกาสติดตามนายพรภพ อ่วมพิทยา กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เดินทางไปอำเภอเหมิ่งล่า เขตปกครองตนเองชนชาติไทลื้อสิบสองปันนา ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของมณฑลยูนนาน ติดกับ สปป. ลาว และห่างจากภาคเหนือของไทยเพียง 200 กว่ากิโลเมตร รวมถึงยังเป็น National Key Development and Opening-up Experimental Zone ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านสำคัญ 2 แห่ง ที่เชื่อมเส้นทางขนส่งจีน-ลาว-ไทย คือ ด่านกวนเหล่ย และด่านบ่อหาน
การเดินทางไปอำเภอเหมิ่งล่าครั้งนี้ เป้าหมายของเราอยู่ที่ท่าเรือกวนเหล่ยและชายแดนบ่อหาน เพื่อติดตามความคืบหน้า 3 โครงการสำคัญบน 3 เส้นทางขนส่งจีน-ลาว-ไทย ได้แก่ 1) ทางน้ำ ท่าเรือกวนเหล่ยกับการกำหนดให้เป็น“ด่านจำเพาะนำเข้าเนื้อสัตว์”แห่งเดียวของมณฑลยูนนานที่นำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทยบนเส้นทางขนส่งสินค้าไทย-จีนทางแม่น้ำโขง 2) ถนน โครงการก่อสร้างช่องทางเฉพาะสำหรับขนส่งสินค้าข้ามแดนจีน-ลาวที่ด่านบ่อหานบนทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) 3) รถไฟ โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟบ่อหานและอุโมงค์มิตรภาพที่ชายแดนบ่อหานบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
เริ่มต้นการเดินทางวันแรก จากเมืองจิ่งหงหรือเมืองเชียงรุ้ง เมืองเอกของเขตฯ สิบสองปันนาไปยังท่าเรือกวนเหล่ย ระยะทาง 140 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถเกือบ 4 ชั่วโมง เพราะถนนในช่วงครึ่งหลังของการเดินทางมีสภาพเป็นหลุม บ่อ และแอ่งน้ำขนาดใหญ่วางเรียงรายตลอดเส้นทาง และยังเป็นถนน 2 ช่องจราจรที่มีทั้งรถยนต์ รถขนสินค้า และรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งสวนกันไปมา ทำให้คนขับรถต้องเบี่ยงซ้ายที ขวาที เพื่อหลบหลุมขนาดใหญ่ ผู้โดยสารก็ต้องเกาะพำนักที่นั่งให้แน่น และโยกไปตามแรงเหวี่ยงของรถที่มีลักษณะคล้ายการเลื้อยของงู ถือเป็นการทดสอบความอึดทั้งของคนและของรถเลยทีเดียว (ขอแนะนำว่าควรใช้รถสไตล์แอดเวนเจอร์ในการเดินทาง) พอถึงจุดนัดพบ ยังไม่ทันหยุดพักให้โลกหายเหวี่ยง นายหลี่ ซ่วย ผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารงานท่าเรือกวนเหล่ย พร้อมด้วยตัวแทนจากศุลกากรและหน่วยงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) ได้พาคณะชมท่าเรือกวนเหล่ยและเขตตรวจเนื้อสัตว์นำเข้าทันที
ท่าเรือกวนเหล่ยมีความสำคัญในการเป็นท่าเรือหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขงระหว่างไทย-จีน เชื่อมกับท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ห่างกันเพียง 263 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางในช่วงน้ำหลาก (ก.ย. – ม.ค.) 1-3 วัน สามารถรองรับสินค้าได้ปีละ 150,000 ตัน มีท่าเรือและเครนสำหรับรองรับตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 15,000 TEU มีบริษัทขนส่งสินค้า 33 ราย ที่รวม ๆ แล้วมีเรือลำเลียงสินค้าเกือบ 100 ลำ ซึ่งโดยทั่วไปมีระวางอยู่ที่ 300-400 ตัน และสูงสุดมีขนาด 500 ตัน สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ลำไยอบแห้ง เบียร์ลาว วัสดุไม้ และสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ แอปเปิล ทับทิม มันฝรั่ง กระเทียม รถมอเตอร์ไซต์ เครื่องจักร
ปัจจุบัน ท่าเรือกวนเหล่ยได้รับการกำหนดให้เป็น“ด่านจำเพาะนำเข้าเนื้อสัตว์”เพียงแห่งเดียวในมณฑลยูนนาน โดยฝ่ายจีนได้ก่อสร้างเขตตรวจเนื้อสัตว์นำเข้าพื้นที่ 20,000 ตร.ม. ห่างจากท่าเรือกวนเหล่ยประมาณ 500 เมตร ซึ่งปัจจุบันมีอาคารสำนักงานและอาคารตรวจสอบ/พักสินค้าระบบเย็น (Cold Chain Inspection and Storage Facilities) 1 หลัง ขนาดพื้นที่ 3,450 ตร.ม. ซึ่งสามารถรองรับสินค้าได้ 3,800 ตัน โดยสร้างเสร็จไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอ General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China (AQSIQ) ตรวจรับอาคารในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2560 ซึ่งหากผ่านมาตรฐาน อาคารดังกล่าวก็มีความพร้อมที่จะใช้งานได้ทันที
ฝ่ายจีนได้เล่าขั้นตอนการตรวจสอบเนื้อสัตว์อย่างคร่าว ๆ ให้ฟังว่า กระบวนการทางห้องแล็บตั้งแต่การสุ่มตัวอย่างสินค้า การเพาะเชื้อ การตรวจสอบและติดตามผล รวม ๆ แล้วจะใช้เวลาในการตรวจสอบและปล่อยของประมาณ 7 วัน และหากบริษัทมีประวัติที่ดี สินค้าผ่านการตรวจสอบและได้มาตรฐานทุกครั้ง อาจได้รับการพิจารณาปล่อยของเร็วขึ้น และสำหรับเนื้อสัตว์ที่รอการตรวจสอบสามารถนำเข้าไปเก็บในห้องเย็นหรือหากเป็นตู้คอนเทนเนอร์เย็นจะพักรถไว้นอกอาคารก็ได้ เพราะมีเครื่องชาร์จไฟให้บริการ
จากการซักถาม เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า“ด่านจำเพาะนำเข้าเนื้อสัตว์”ในประเทศจีนมีอยู่หลายแห่ง (ประมาณ 65 ด่าน) และมุ่งเน้นนำเข้าเนื้อสัตว์ต่างกัน โดยด่านกวนเหล่ยเน้นเฉพาะนำเข้าสัตว์ปีก (เนื้อสัตว์ชนิดอื่นยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า) ทั้งนี้ อย่าเข้าใจผิดว่า ด่านกวนเหล่ยจะนำเข้าได้เฉพาะสัตว์ปีกเท่านั้น แต่ยังนำเข้าสินค้าอื่นได้ เช่น อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป (ผลไม้สดต้องนำเข้าผ่านด่านบ่อหาน)
นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งว่า ทางการจีนอยู่ระหว่างการสร้างทางด่วน 4 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมท่าเรือกวนเหล่ยกับเส้นทาง R3A (กวนเหล่ย-เหมิ่งหยวน) เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะร่นระยะทางจาก 41 กิโลเมตร เหลือเพียง 27 กิโลเมตร คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2562
วันที่ 2 ของการเดินทาง เริ่มต้นจากตัวเมืองอำเภอเหมิ่งล่าไปชายแดนบ่อหาน ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร ขึ้นทางด่วนใช้เวลา 45 นาทีก็ถึงที่ทำการเขต Mengla (Mohan) National Key Development and Opening-up Experimental Zone ทางด่วนที่ใช้เดินทางยังเป็น 2 ช่องจราจรที่มีรถวิ่งสวนไปมา พื้นผิวถนนเรียบ เดินทางคล่องตัว และสังเกตเห็นว่า ถนน 2 ช่องจราจรด้านข้าง ๆ ซึ่งมีเกาะกลางกั้นอยู่ได้สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งภายหลังได้ทราบจากนายหู เหวินชาง รองผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศของเขตฯ ว่า ทางด่วน 4 ช่องทางจราจร (2 ช่องจราจรสำหรับขาไป และอีก 2 ช่องจราจรสำหรับขากลับ) จากจิ่งหงที่เสียวเหมิ่งหยางถึงบ่อหานได้สร้างเสร็จแล้ว และจะเปิดใช้ในวันที่ 28 ก.ย. 2560 เท่ากับว่าเส้นทาง R3A ในฝั่งจีนได้กลายเป็นทางด่วนตลอดสายแล้ว ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากคุนหมิงถึงบ่อหานสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ด่านบ่อหานกำลังก่อสร้างช่องทางเฉพาะสำหรับขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างด่านบ่อหานของจีนกับด่านบ่อเต็นของลาว เพื่อแก้ไขปัญหาการผ่านแดนจีน-ลาวของประชาชนและสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาใช้ช่องทางเดียวกันและเกิดปัญหาแออัด กระทบต่อประสิทธิภาพของกระบวนการศุลกากร และจากการลงพื้นที่พบว่า ขณะนี้ ถนนฝั่งจีน 4 ช่องจราจรได้สร้างเสร็จแล้ว ส่วนถนนฝั่งลาวยังสร้างไม่เสร็จ จากการคาดคะเนด้วยสายตาน่าจะขึ้นรูปถนนคอนกรีตได้ระยะทางประมาณ 100 เมตร ยังมีรถตักดินและคนงานเร่งทำงานกันอยู่ นายหูฯ บอกกับเราว่า ถนนฝั่งลาวน่าจะสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2560 และหลังจากนั้น สองข้างทางของถนนเส้นนี้ซึ่งปัจจุบันยังเป็นป่าและเขา จะพัฒนาให้มีสิ่งก่อสร้าง อาทิ อาคารสำนักงาน
จากนั้นเราใช้เวลาประมาณ 10 นาที เดินทางไปยังพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟบ่อหาน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางของเส้นทางรถไฟคุนหมิง-บ่อหานในช่วงมณฑลยูนนาน มีพื้นที่ 2,464 หมู่ (ประมาณ 1,027 ไร่) เมื่อมองไปรอบ ๆ จะเห็นพื้นดินสีแดงขนาดกว้างใหญ่ มีรถก่อสร้าง อาทิ รถเครน รถตักดิน รถขุดดิน และรถบรรทุก จอดอยู่จำนวนมาก บางคันก็กำลังปรับหน้าดินให้เรียบ ยังไม่มีการขึ้นโครงสร้างของอาคารสถานีรถไฟ ยกเว้นมีอาคารสำนักงานและบ้านพักคนงานของ China Railway NO.2 Engineering Group Co.,Ltd (CREGC) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างตั้งตระหง่านอยู่หลังเดียว และบริเวณใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของอุโมงค์รถไฟที่มีชื่อว่า“มิตรภาพ”ซึ่งจะเชื่อมระหว่างเส้นทางรถไฟฝั่งจีนกับเส้นทางรถไฟฝั่งลาว อุโมงค์มิตรภาพจีน-ลาวได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 ระยะทางรวม 9.68 กิโลเมตร เป็นความยาวฝั่งจีน 7.17 กิโลเมตร และฝั่งลาว 2.51 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
เส้นทางรถไฟช่วงมณฑลยูนนาน เป็นรถไฟที่ใช้ขนส่งทั้งคนและสินค้า แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ 1) สถานีคุนหมิง-สถานียวี่ซี เปิดใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2559 มีระยะทาง 110 กิโลเมตร ความเร็ว 200 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 32 นาที 2) สถานียวี่ซี-สถานีบ่อหาน มี 13 สถานี โดยสถานียวี่ซี-สถานีสิบสองปันนา เป็นรถไฟรางคู่ ส่วนสถานีสิบสองปันนา-สถานีบ่อหาน เป็นรถไฟรางเดี่ยว รวมระยะทาง 504 กิโลเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความเร็ว 160 กม./ชม. และความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2564 และจะไปเชื่อมกับสถานีรถไฟบ่อเต็น-สถานีรถไฟเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ซึ่งมีระยะทาง 414 กิโลเมตร เป็นรถไฟรางเดี่ยว และคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2564 พร้อมกันกับเส้นทางรถไฟในมณฑลยูนนาน
จะเห็นได้ว่า อำเภอเหมิ่งล่าได้รับการพัฒนาเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางน้ำ ถนน รถไฟ และล่าสุดทางอากาศ ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย. 2560 รัฐบาลท้องถิ่นได้ยื่นเสนอสถานที่ก่อสร้างสนามบินเหมิ่งล่าต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน คาดว่าอีก 1 ปีข้างหน้าจะเริ่มการก่อสร้างได้ ทั้งนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงการขนส่งจีน-ลาว-ไทย นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการเป็น“ทางเลือก”สำหรับผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าข้ามแดนแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ภาครัฐและเอกชนไทยควรติดตามและจับตามองอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศให้คู่ขนานเท่าทันการพัฒนาในจีนและลาว เพื่อให้ไทยได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการพัฒนาอย่างเต็มที่