ค้าขายจีน 102 : ข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนบุกตลาดออนไลน์จีน
24 Sep 2019ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce : CBEC) ในจีนได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่เศรษฐกิจจีน โดยในปี 2561 ตลาด CBEC ของจีนมีมูลค่า 9 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 11.6 และเติบโตจาก 5 ปีก่อนกว่าเท่าตัว โดยมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้าส่งออกของจีน และคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 37 หรือมีมูลค่าประมาณ 12 ล้านล้านหยวน จึงนับเป็นช่องทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่จะจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศจีน
ดังนั้น CBEC จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการขยายตลาดการค้ากับจีน แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความไม่เข้าใจการทำธุรกิจ CBEC ในจีน ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนก่อน ในเรื่องนี้ทางสมาคมอีคอมเมิร์ชนครคุนหมิงได้ให้ความรู้เบื้องต้นว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนมี 2 ประเภท คือ 1) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับภายในประเทศ ซึ่งมีโกดังเก็บสินค้าและระบบโลจิสติกส์ในประเทศจีน เช่น taobao.com, tmall.com และ jd.com 2) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับทั่วโลก หรือเรียกว่าแพลตฟอร์ม CBEC ซึ่งเป็นการค้าระหว่างประเทศที่ต้องผ่านกระบวนการทางศุลกากร โดยที่บริษัทเจ้าของสินค้า/แบรนด์อยู่ในต่างประเทศ และเป็นสินค้าที่ส่งมาจากประเทศที่ผลิตโดยตรง ซึ่งแพลตฟอร์ม CBEC ยอดนิยมในจีน 3 อันดับแรก ได้แก่ kaola.com (网易考拉) tmall.hk หรือ tmall global (天猫国际) และ jd.hk หรือ jd worldwide (海囤全球) โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน 2 ประเภทหลัก คือ
- สต็อกสินค้าไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนหรือพื้นที่ทดลอง CBEC [1] ในจีน ก่อนมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า ข้อดีคือ การจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าจีนได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-7 วัน เนื่องจากมีสต๊อกของไว้ในโกดังที่จีนแล้ว และยังสร้างความสะดวกให้กับนักช้อปจีนในกรณีการเปลี่ยนหรือคืนสินค้า จึงมีนักช้อปจีนเข้าถึงจำนวนมาก รวมถึงไม่มีการเก็บอากรและภาษีในกรณีที่ยังไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง แต่ข้อเสียคือ ต้นทุนสูง เนื่องจากต้องมีการกักตุนสินค้าในโกดังไว้จำนวนหนึ่ง มีทั้งค่าเช่าโกดังและความเสี่ยงต่อสินค้าหมดอายุ จึงเหมาะกับสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาด CBEC ปัจจุบันของจีน เช่น เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว อาหารเสริมหรืออาหารบำรุงสุขภาพ เครื่องใช้ในบ้านระบบดิจิทัล นมผง ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า
- สั่งซื้อตรงจากต่างประเทศ (Direct Purchasing Model) หลังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า โดยส่งสินค้าเป็นชิ้นแบบพัสดุไปรษณีย์หรือใช้โกดังในประเทศต้นทางเพื่อรวมส่งทีเดียว ข้อดีคือ ไม่ต้องรับภาระในการจัดเก็บและกระจายสินค้า ข้อเสียคือ ลูกค้าต้องรอสินค้านานหลายสัปดาห์ จึงเหมาะสำหรับการค้าปริมาณไม่มากหรือสินค้าที่ต้องการทดลองตลาด
อย่างไรก็ตาม หลายแพลตฟอร์ม CBEC ของจีนส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านโกดังในต่างประเทศ ผู้ขายออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีนจึงนิยมสต็อกสินค้าไว้ในจีน แต่หากไม่ติดปัญหาดังกล่าว ร้านค้า CBEC หลายแห่งในปัจจุบันก็เลือกดำเนินการทั้ง 2 ประเภทในคราวเดียวกัน
มาถึงตอนนี้อาจมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การตั้งเว็บไซต์อยู่นอกประเทศจีน (Company standalone website (outside China)) มีความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจและต้นทุนถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรพิจารณาข้อด้อยที่มีอยู่หลายประการ เช่น ผู้บริโภคชาวจีนไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายหรือการเข้าถึงมีความไม่เสถียร เนื่องจากจีนควบคุมเรื่องของการเข้าถึงเว็บไซต์ในระดับเข้มข้น รวมถึงปัญหาเรื่องการคืนหรือเปลี่ยนสินค้า และความไม่สะดวกในการชำระเงินในรูปแบบที่ชาวจีนนิยม เช่น WeChat Pay และ Alipay
ขณะเดียวกัน สมาคมอีคอมเมิร์ซนครคุนหมิงยังได้ให้ข้อแนะนำสำหรับชาวต่างชาติที่ปรารถนาทำธุรกิจ CBEC ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- การเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน โดย 1) ในกรณีเข้าไปตั้งบริษัทในจีน ต้องมีการจดทะเบียนบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์หลักเป็นบริษัทด้านเทรดดิ้งที่มีขอบเขตการดำเนินงานในด้านนำเข้าส่งออกและด้าน E-Commerce ซึ่งต้องมีร้านค้าออนไลน์ของตนเอง หากต้องการลดต้นทุนการจัดตั้งบริษัทก็สามารถให้บริษัทจีนที่ได้รับสิทธิ์จากเจ้าของแบรนด์เป็นตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ เช่น การให้สิทธิ์ในลักษณะของ Flagship Store 2) การเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ เช่น การลงทะเบียนกับศุลกากรเพื่อการตรวจสอบและกักกันสินค้า การยื่นเรื่องกับหน่วยงาน China E-port เพื่อขออนุญาตเปิดบัญชีพอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมไปถึงช่องทางการโฆษณาร้าน เป็นต้น หากมอบอำนาจหรือแต่งตั้งให้บริษัทจีนได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนก็ให้ส่งมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนฝ่ายจีนเพื่อใช้ในการนำเข้าสินค้าผ่านพิธีการทางศุลกากร
- ตลาด CBEC ในจีนมีการแข่งขันสูง หากผู้ประกอบการไทยต้องการบุกตลาดจีน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งจากตัวบริษัทไทย ภาครัฐของไทย และแพลตฟอร์ม CBEC จีน ในการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เช่น แพลตฟอร์มเฉพาะกลุ่มสินค้าไทย (泰国馆) ใน JD เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการ CBEC ที่มีอยู่มากมายในจีน อีกทั้งยังสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้ เนื่องจากการทำ CBEC ในจีนมีค่าใช้จ่ายหลายด้าน เช่น 1) ต้นทุนด้านโฆษณา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 25-35 ของต้นทุนทั้งหมด เพื่อให้ร้านอยู่ในลำดับต้น ๆ 2) ต้นทุนด้านการบริหารงาน ซึ่งปกติมักใช้คนในการบริหารงาน 4-8 คน โดยทำหน้าที่ดูแลร้าน 4 คน ดูแลโกดังและการขนส่งอีก 4 คน รวมไปถึงต้นทุนการเป็นเจ้าของร้านออนไลน์ในแพลตฟอร์ม CBEC ที่มีชื่อเสียงของจีน เช่น เงินประกัน 5,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ค่าธรรมเนียมรายปีในการใช้แพลตฟอร์มประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าบริการระบบชำระเงิน และค่าคอมมิชชั่นต่อยอดขาย 3) ต้นทุนโลจิสติกส์และโกดังสินค้า การขนส่งจากไทยถึงผู้บริโภคจีนจะใช้เวลาเฉลี่ย 5-7 วัน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากสนามบินประเทศไทยถึงสนามบินนครคุนหมิงโดยเฉลี่ยประมาณ 14 หยวนต่อ1 ชิ้น บวกกับค่าขนส่งภายในประเทศจีนโดยเฉลี่ยประมาณ 8-10 หยวน
- พื้นที่ทดลอง CBEC ของจีนในแต่ละพื้นที่จะให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นที่ทดลอง CBEC นครคุนหมิงจะให้เงินช่วยสนับสนุนสำหรับค่าเช่าพื้นที่หรือให้เงินคืนกลับจากสัดส่วนของยอดขาย เพื่อดึงดูดให้ธุรกิจ CBEC เข้ามาลงทุนในนครคุนหมิงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ พื้นที่ทดลอง CBEC นครคุนหมิงยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
- ศึกษาพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีน เช่น ประเภทสินค้าและกลุ่มลูกค้า ความน่าสนใจของสินค้า ราคาสินค้า และชื่อเสียงของสินค้า โดยในเรื่องนี้ cifnews.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการข้อมูล CBEC ของจีนได้รายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนประจำปี 2561 ไว้ดังนี้
- จาก CBEC 9 ล้านล้านหยวนของจีน มีสัดส่วนของการส่งออกร้อยละ 78.9 และนำเข้าร้อยละ 21.1 นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นสัดส่วนโมเดล B2B ร้อยละ 83.2 และB2C ร้อยละ 16.8
- ด้านผู้ส่งออกหรือผู้ขายออนไลน์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู เซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน ปักกิ่ง ซานตง และเหอเป่ย สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์/สื่อสาร/อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน สุขภาพและความงาม รองเท้าและกระเป๋า ของใช้แม่และเด็ก อุปกรณ์รถยนต์ อุปกรณ์ให้แสงสว่าง และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ บราซิล แคนาดา เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
- ด้านผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อออนไลน์ ในปี 2561 นักช็อปออนไลน์ข้ามพรมแดนชาวจีนมีจำนวนถึง 88.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 และมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศคุณภาพสูงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 25-35 ปี ครองสัดส่วนร้อยละ 56.3 รองลงมาคือ ช่วงอายุ 19-24 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 20.2 และช่วงอายุ 36-40 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 17.8 และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 85.3 นักช้อปออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู ซานตง เสฉวน เหอหนาน ฝูเจี้ยน และเหอเป่ย รวมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 87 สินค้ายอดนิยม Top10 ได้แก่ เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับและกระเป๋า ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก ของใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าดิจิทัล ผลไม้สด และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในส่วนของสินค้าประเภทอาหารนั้นมักนำเข้าจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศไทย
สุดท้าย สมาคมอีคอมเมิร์ซนครคุนหมิงยังชี้ให้เห็นถึงพลังของชาวจีนกว่า 10 ล้านคนที่เดินทางไปเที่ยวเมืองไทย โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยลองทดสอบสินค้าจากคนจีนที่ไปเที่ยวเมืองไทยก่อนเปิดร้านออนไลน์ที่จีน ซึ่งเป็นการศึกษารสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนก่อนบุกตลาด CBEC จีนได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับหมอนยางพารา ยาหม่องสมุนไพรสีเขียว มาสก์หน้าและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายแบรนด์ที่คนไทยไม่คุ้นเคย แต่กลับฮิตมากในตลาดจีน หลังจากนั้น หากมีร้านค้าออนไลน์ในจีนแล้วก็สามารถแนะนำให้ชาวจีนที่ยังติดใจสินค้าไทยจากครั้งที่มาเที่ยวเมืองไทยไปซื้อออนไลน์ในจีนต่อได้
*******************************************************
[1] พื้นที่ทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในจีน จนถึงสิ้นปี 2561 ได้รับอนุมัติจากมนตรีแห่งรัฐแล้วใน 37 เมืองของจีน ได้แก่ หังโจว เจิ้งโจว ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนิงโป กว่างโจว เซินเจิ้น เทียนจิน ฝูโจว ผิงถาน เหอเฝย เฉิงตู ต้าเหลียน ชิงต่าว ซูโจว ปักกิ่ง ฮูฮอต เสิ่นหยาง ฉางชุน ฮาร์บิน หนานจิง หนานชาง อู่ฮั่น ฉางซา หนานหนิง ไห่โข่ว กุ้ยหยาง คุนหมิง ซีอาน หลานโจว เซี่ยเหมิน ถังซาน อู๋ซี เวยไห่ จูไห่ ตงก่วน อี้อู