คุยเฟื่อง เรื่อง ‘มะม่วง’ : โอกาสและความท้าทายของมะม่วงไทยในตลาดจีน
5 Jul 2022เขียนโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
รู้หรือไม่…เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้กว่างซีได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สวนผลไม้หลังบ้าน’ ของจีน
ในขณะที่ประเทศไทย …ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา…. แต่ที่กว่างซี เมื่อย่างเข้าเดือนหกเป็นช่วงที่ผลไม้หน้าร้อนจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่ มะม่วง และลำไย ตอนที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความฉบับนี้อยู่ ก็เป็นช่วงที่กว่างซีกำลังเข้าสู่ ‘หน้ามะม่วง’ ในบทบความฉบับนี้ ขอถือโอกาสมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘มะม่วง’ ของกว่างซีกัน
“มะม่วง” เป็นหนึ่งในผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ทั้งการรับประทานผลสด มะม่วงแปรรูป หรือแม้กระทั่งการนำไปปรุงกับอาหารคาว เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่จีนตอนใต้และภาคตะวันตกของจีนเป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญ มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย (บางสายพันธุ์ซ้ำซ้อนกับที่นิยมปลูกในไทย เช่น เขียวเสวย งาช้าง)
เมื่อพูดถึงมะม่วงของกว่างซี ต้องพูดถึง...เมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) เพราะเป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ กว่าจะเป็น ‘ที่หนึ่ง’ ในวงการมะม่วงจีน ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วที่รัฐบาลไป่เซ่อได้เริ่มวางยุทธศาสตร์ให้ “มะม่วง” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 เมืองไป่เซ่อมีพื้นที่ปลูกที่พร้อมให้ผลผลิต 4.58 แสนไร่ ชาวสวนมะม่วงในเมืองไป่เซ่อมีการปลูกมะม่วงมากกว่า 30 สายพันธุ์ เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายน ยาวไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยคาดว่า ปี 2565 ผลผลิตมะม่วงจะทะลุ 1 ล้านตันเป็นครั้งแรก กำลังการผลิตคิดเป็น 30% ของทั้งประเทศ และคาดว่าเฉพาะมะม่วงสด จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,500 ล้านหยวน หรือเกือบ 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองไป่เซ่อเพิ่งจัดแถลงข่าวการเริ่มเก็บเกี่ยวและจำหน่ายมะม่วงในเมืองไป่เซ่ออย่างเป็นทางการ ผู้อ่านหลายท่านอาจมีคำถามว่า… ชาวสวนจะเก็บ จะขายมะม่วง ทำไมต้องรอสัญญาณจากรัฐบาล???
เพราะนี่เป็น “มาตรการจัดระเบียบตลาดมะม่วง” ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการกำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวมะม่วง เพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมะม่วงไป่เซ่อ และเป็นการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของผลมะม่วงที่ออกสู่ตลาด ที่สำคัญ เป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้มะม่วงได้ราคาดี ซึ่งภาคเกษตรไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้กับผลไม้ไทยได้
เมืองไป่เซ่อยังมีแนวทางการพัฒนา “อุตสาหกรรมมะม่วง” ที่หลากหลาย และน่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยนอกเหนือจากมีนโยบายสนับสนุนการปลูกแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมการลงทุนด้านการแปรรูปมะม่วงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า และแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด รวมถึงมีการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยมะม่วง” เพียงแห่งเดียวในจีน เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบการเรียนรู้สำหรับประเทศไทยได้แทบทั้งสิ้น
แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถปลูกมะม่วงได้ แต่ผลผลิตยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มที่ และปฏิเสธไม่ได้ว่า… มะม่วงนำเข้าจากต่างประเทศมีคุณภาพ รสชาติ และเนื้อสัมผัสที่พิเศษแตกต่างจากมะม่วงท้องถิ่น จากสถิติศุลกากรจีน พบว่า ปี 2564 ประเทศจีนนำเข้ามะม่วง (พิกัดศุลกากร 08045020) น้ำหนักรวม 14,460 ตัน มูลค่าการนำเข้า 135 ล้านหยวน ในภาพรวม ‘มะม่วงไทย’ ยังครองแชมป์ในตลาดจีนทั้งในด้านมูลค่าและปริมาณ (43.02% ในเชิงมูลค่า และ 39.08% ในเชิงปริมาณ)
อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้ามะม่วงของจีนมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการขนส่ง กระบวนการทางพิธีการศุลกากร การตรวจสอบกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และการตรวจและฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ด้านนอก (ผลไม้ชนิดอื่น ส่นใหญ่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน)
ทั้งนี้ หากพิจาณาจากปริมาณการนำเข้าเป็นรายมณฑล(เทียบเท่า) พบว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยังคงเป็นมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้ามะม่วงมากที่สุดในประเทศจีน (คิดเป็น 34.88% ของทั้งประเทศ) ตามมาด้วยมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลยูนนาน และมณฑลกวางตุ้ง (ในแง่มูลค่าการนำเข้ารายมณฑล ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะม่วงไต้หวัน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลกวางตุ้ง เขตฯ กว่างซีจ้วง และนครเซี่ยงไฮ้)
อย่างไรก็ดี การนำเข้ามะม่วงของเขตฯ กว่างซีจ้วง ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีพรมแดนติดกัน (51.06% ของปริมาณนำเข้าจากต่างประเทศ) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมมะม่วงที่นำเข้าผ่านการค้าชายแดน (และมะม่วงไทยใส่อ๋าวหญ่ายเพื่อใช้สิทธิการค้าชายแดน) ซึ่งไม่ได้ถูกรวมในระบบข้อมูลของศุลกากรแห่งชาติด้วย รองลงมาเป็นมะม่วงกัมพูชา (สัดส่วน 47.51%) และมะม่วงไทย ปริมาณ 72 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.43% เท่านั้น
ภาพรวมปี 2564 การนำเข้า ‘มะม่วงไทย’ ของจีน แม้ว่ามะม่วงไทยยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ ในตลาดจีน ด้วยสัดส่วน 39% ของปริมาณนำเข้ามะม่วง (ในเชิงมูลค่า มีสัดส่วน 43.02% ของมูลค่านำเข้า) แต่การนำเข้ากลับมีแนวโน้มลดลงกว่าครึ่ง (จาก 11,710 ตันในปี 2563 เหลือ 5,651 ตันในปี 2564) เนื่องจากปริมาณการนำเข้าของมณฑลที่เคยนำเข้ามะม่วงไทยเป็นจำนวนมากกลับ ‘ลดฮวบ’ ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน (ลดลง 2,457 ตันจากปี 2563) มณฑลฝูเจี้ยน (ลดลง 1,958 ตัน) มณฑลกวางตุ้ง (ลดลง 1,254 ตัน) เขตฯ กว่างซีจ้วง (ลดลง 1,120 ตัน) มณฑลซานตง (ลดลง 451 ตัน)
ด้วยเหตุไฉน…. ทำไมจีนถึงนำเข้ามะม่วง(ไทย) ‘ลดฮวบ’ เดิมทีปี 2563 เกือบ 50% ของการนำเข้ามะม่วงไทย เป็นการนำเข้าของมณฑลชายแดนอย่างยูนนาน (37.89%) และกว่างซี (10.19%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งด้วยรถบรรทุก จึงพอประเมินได้ว่า… เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งและการดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านชายแดน (การเปิด-ปิดด่านกระทันหัน รถบรรทุกรอคิวนาน/ตกค้าง) ทำให้ผู้นำในพื้นที่เกิดความไม่มั่นใจและชะลอการนำเข้าก็เป็นได้ เนื่องจากมะม่วงสดเป็นผลไม้ที่มีความบอบบางและเน่าเสียง่าย
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้…. แล้วตลาดมะม่วงไทยในจีน ยังมีโอกาสเติบโตอยู่หรือไม่ ต้องบอกว่า…ท่ามกลางข่าวร้าย ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง ปี 2564 มณฑลเจ้อเจียงเป็น ‘พระเอกเบอร์ 1’ ในการนำเข้ามะม่วงไทย ชนิดที่เรียกว่า ‘พุ่งสวนกระแส’ เลยก็ว่าได้ คิดเป็นปริมาณนำเข้าจากไทย 1,501 ตัน (เพิ่มขึ้น 1,089 ตันจากปี 2563) คิดเป็นมูลค่านำเข้า 16.75 ล้านหยวน นับเป็นมูลค่าสูงสุดของมณฑลในจีน (ปี 2563 มูลค่า 5.6 ล้านหยวน) ยังไม่นับรวมตลาดใหม่อย่างนครฉงชิ่ง และมณฑลเจียงซู ที่มีแนวโน้มการนำเข้ามะม่วงไทยมากขึ้นเช่นกัน
มองหา ‘โอกาส’ ของมะม่วงไทย ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติจากโควิด-19 ทำให้ชาวจีน ‘คิดถึงเมืองไทย’ ‘คิดถึงอาหารไทย’ เชื่อว่าเมนู ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ เป็นรายการของหวานบนเมนูร้านอาหารไทยในจีนแทบทุกแห่ง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการบริโภค ‘มะม่วงน้ำดอกไม้ไทย’ ในตลาดจีน เพราะด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัสของมะม่วงน้ำดอกไม้ไทยแล้ว ไม่สามารถทดแทนด้วยมะม่วงท้องถิ่นได้เป็นแน่
ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดที่คลาดกัน ก็เป็นโอกาสทางการตลาดที่มะม่วงไทยจะเข้ามาขยายตลาดในพื้นที่กว่างซีและกระจายสู่มณฑลรอบข้างได้ เพราะว่ามะม่วงไทยออกสู่ตลาดก่อนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ขณะที่มะม่วงไป่เซ่อจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้จุดแข็งด้านที่ตั้งของกว่างซีที่อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยในการส่งออกมะม่วงไปทำตลาดจีนผ่านกว่างซีได้ โดยเฉพาะด่านท่าเรือ ในเส้นทางขนส่งท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว ซึ่งมีอยู่สัปดาห์ละหลายเที่ยว และมะม่วงเขมรก็ใช้ช่องทางการขนส่งนี้อยู่ด้วย หรืออาจพิจารณาใช้การขนส่งทางเครื่องบินผ่าน “ด่านท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) ใช้เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ล่าสุดที่สามารถใช้ตอบโจทย์ผลไม้พรีเมี่ยม/บอบช้ำง่ายอย่างมะม่วง
ประเด็น ‘มะม่วงเขมร’ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะปีที่ผ่านมา มะม่วงกัมพูชาถือเป็น “ม้ามืด” ในวงการส่งออกมะม่วงที่เข้ามาตีตลาดจีน หลังจากที่ศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC เพิ่งอนุญาตให้ “มะม่วง” เป็นผลไม้สดชนิดที่ 2 ของกัมพูชา (ต่อจากกล้วยหอม) ที่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้เมื่อปี 2563 และเพิ่งจะมีการนำเข้าล็อตแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ด้วยระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปี มะม่วงเขมรเข้าไปทำส่วนแบ่งตลาดได้ 23.12% ของปริมาณนำเข้าทั้งประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า…ราคาเฉลี่ยของมะม่วงเขมรที่เข้าประเทศจีนมี ‘ราคาถูกมาก’ เพียงกิโลกรัมละ 2.02 หยวนเท่านั้น (เวียดนามกิโลกรัมละ 5.14 หยวน) ขณะที่ราคานำเข้าเฉลี่ยของมะม่วงไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 10.30 หยวน สูสีกับมะม่วงไต้หวัน ที่เป็นเจ้าตลาดรองจากไทย ที่กิโลกรัมละ 14.17 หยวน (ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเปรู กิโลกรัมละ 74.03 / 49.05 และ 30.70 หยวน ตามลำดับ)
แม้ว่าขณะนี้ กัมพูชาจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพียง 2 ชนิด แต่กัมพูชากำลังเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร ไปตีตลาดจีนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่หลายชนิดมีลักษณะทับซ้อนกับผลไม้ไทย อาทิ ลำไย (ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากศุลกากรแห่งชาติจีนเมื่อ 19 พ.ค. 2565) ทุเรียน (กำลังประสานกับฝ่ายจีนเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไข/มาตรการด้านสุขอนามัยที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ปล.ขณะที่เวียดนามได้ส่งหนังสือพิธีสารไปยัง GACC แล้ว รอเพียง GACC จรดปลายปากกาเท่านั้น) แก้วมังกร ส้มโอ และมะพร้าวน้ำหอม
การบ้านสำหรับผู้ส่งออกมะม่วงไทย คือ การจัดการด้านสุขอนามัยพืชของสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุ การรักษาคุณภาพให้ได้ระดับพรีเมี่ยม โดยเฉพาะการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่ง เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบางที่บอบช้ำง่าย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทาน และมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย ร่วมกับการใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่
ในกลุ่มผลไม้ตามฤดูกาล มะม่วงเป็นผลไม้ที่ถูกค้นหา (คำค้นหายอดนิยมสูงสุด) มากที่สุดกันติดต่อกัน 3 ปีตั้งแต่ปี 2562 – 2564 ปีที่ผ่านมา (ปี 2564) มะม่วงมีอัตราการเปลี่ยนแปลงไปสู่ e-Commerce สูงถึง 60% และมียอดขายผ่านช่องทาง e-Commerce รวมมูลค่าราว 4,600 ล้านหยวน
ดังนั้น การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะด้วยพลเมืองเน็ต (Netizen) ของจีน ณ สิ้นปี 2564 ที่มีมากมายมหาศาลกว่า 1,032 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทย 14 เท่า) และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 1,029 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง อาทิ
- แพลตฟอร์ม e-Commerce อาทิ com (淘宝) jd.com (京东商城) suning.cn (苏宁易购)
- แอปพลิเคชันบนมือถือ อาทิ โปรแกรมชิทแชทอย่าง Wechat ที่สามารถห้อย Mini program ของร้านผลไม้เฟรนไชส์น้อยใหญ่ และ Wechat moment ของผู้ค้าผลไม้รายย่อย
- แอปพลิคชัน Food Delivery อาทิ Meituan (美团) และ e leme (饿了么) ที่มักจะมีร้านผลไม้เฟรนไชส์น้อยใหญ่ และร้านค้าผลไม้รายย่อยเปิดอยู่
- แอปพลิเคชันไลฟ์สด (Live streaming) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ อาทิ Tiktok (抖音) Kuaishou (快手) taobao (淘宝直播/点淘)
ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า…
หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก
ประเทศไทยเราจะสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน??
ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และแทบจะแฝงตัวในทุกกิจกรรมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมย่อมสร้างโอกาส “ทำเงิน” ให้กับผู้ที่พร้อมและมองเห็นโอกาสเสมอ
***********************