คุยเฟื่อง เรื่อง ‘มะพร้าว’ โอกาสและความท้าทายของไทยในตลาดจีน
3 Nov 2022
เขียนโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
นอกจากทุเรียน และมังคุดแล้ว ปัจจุบัน ‘มะพร้าว’ เป็นพระเอกดาวรุ่งดวงใหม่ของผลไม้เมืองร้อน(ไทย)ในตลาดจีน โดยดีมานด์ในตลาดจีน มีทั้งมะพร้าวอ่อนเพื่อการบริโภคน้ำมะพร้าวสด หรือนำมาปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมการกินสไตล์ท้องถิ่นจีน และมะพร้าวแก่เพื่อนำมาทำน้ำกะทิ หรือการแปรรูปเป็นสินค้าอื่น
ย้อนความไปในอดีต ความนิยมในการบริโภค(น้ำ)มะพร้าวในตลาดจีน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่จีนตอนใต้ สิ่งที่ชวนให้คนไทยต้อง ‘ฉงน’ คือ หากพูดถึง ‘น้ำมะพร้าว’ ที่ชาวจีนนิยมดื่ม มันกลับไม่ใช่น้ำมะพร้าวอ่อนที่เรารู้จัก แต่เป็น ‘น้ำนมมะพร้าว’ ที่คล้ายกับหางกะทิของบ้านเรา โดยมียี่ห้อเยซู่ (椰树牌) จากมณฑลไห่หนาน เป็นเจ้าตลาดในจีน
ด้วยกระแส ‘เที่ยวเมืองไทย’ ของชาวจีน ทำให้น้ำมะพร้าว ‘ตัวจริงเสียงจริง’ ได้เป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายในตลาดจีน หลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนได้มีโอกาสมาดื่มมะพร้าวน้ำหอมสดๆ ที่ไทย ปัจจุบัน นอกจากการดื่มมะพร้าวสดแล้ว ชาวจีนยังนำน้ำมะพร้าวมา Mix and Match เป็นเมนูที่หลากหลายทั้งคาวและหวาน อาทิ อเมริกาโน่น้ำมะพร้าว ชาไข่มุกน้ำมะพร้าว สุกี้ไก่มะพร้าว และซุปน้ำมะพร้าวตุ๋นยาจีน
รู้หรือไม่ว่า… ประเทศจีนก็ปลูกมะพร้าวได้ แหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญในจีนอยู่ที่มณฑลไห่หนาน แต่กำลังการผลิตคิดเป็น 10% ของความต้องการบริโภคเท่านั้น สถิติปี 2564 มณฑลไห่หนานมีกำลังการผลิตมะพร้าวได้ 250 ล้านลูก แต่ตลาดจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวสูงถึง 2,600 ล้านลูก ยังไม่รวมความต้องการมะพร้าวเพื่อการแปรรูปอีก 150 ล้านลูก
เมื่อการส่งออก ‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ กำลังไปได้สวย และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด —– วิกฤตโควิด-19 ได้แพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อพลวัตรทางเศรษฐกิจในวงกว้าง เชื่อว่าทุกคนคงเกิดคำถามเดียวกันว่า วิกฤตดังกล่าวส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทยไปจีนหรือไม่?
ถ้าจะบอกว่า..ไม่กระทบเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ปีแรกของการระบาดเป็นช่วงเวลาของการปรับตัว และเมื่อประเทศจีนตั้งลำได้แล้ว ยอดการนำเข้า ‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ ก็กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562-2564 ประเทศไทย ‘ยืนหนึ่ง’ ในฐานะแหล่งนำเข้ามะพร้าวของจีน การนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลา (พิกัด 08011200) ถือว่าเติบโตได้ดี ทั้งในแง่ปริมาณ (2.49 แสนตัน /2.45 แสนตัน / 3.33 แสนตัน ตามลำดับ) และมูลค่านำเข้า (1,385 ล้านหยวน / 1,313 ล้านหยวน / 1,837 ล้านหยวน ตามลำดับ)
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลาจากไทยไปแล้ว 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.55% (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวน หรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 64.59% (YoY) โดย ‘มะพร้าวไทย’ครองสัดส่วน 48.26% ของปริมาณการนำเข้ารวม และคิดเป็นสัดส่วน 73.38% ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม โดยอินโดนีเซีย (30.77%) เวียดนาม (20.59%) เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่ต้องจับตามอง
หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน โดยในปี 2556 ประเทศจีนนำเข้ามะพร้าวไทย 3,542 ตัน จากตัวเลขข้างต้น คงพอพิสูจน์ได้ว่า… ในตลาดจีน ‘มะพร้าวไทย’ มีอนาคตที่สดใสมากแค่ไหน!!!
ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน แล้วตลาดมะพร้าวไทยในจีนอยู่ตรงแถวไหนกันบ้าง?? ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าของมณฑลที่ตั้งอยู่เลียบชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) มณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง นครเทียนจิน มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเจียงซู เขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลซานตง
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัว ได้นำเสนอข่าวกระแสความนิยมของ ‘มะพร้าวไทย’ ในนครหนานหนิง นายมั่ว เจียหมิง รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Guangxi Youxianyuan Agriculture Techonology (广西优先源农业科技有限公司) ให้ข้อมูลว่า มะพร้าวที่บริษัทฯ จำหน่ายเป็นมะพร้าวที่คัดเลือกมาจากสวนมะพร้าวคุณภาพดีใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ใช้การขนส่งทางทะเล ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินความต้องการมะพร้าวไทยในตลาดจีน พบว่ายังขยายตัวได้อีกตามความชื่นชอบที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ บริษัทฯ จะมียอดนำเข้ามะพร้าวไทยมากกว่า 28,000 ลัง
คุณหวง ลี่ลี่ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท Guangxi Youxianyuan Agriculture Techonology ให้ข้อมูลว่า สมัยก่อน ตลาดมะพร้าวหลักๆ ขายไปที่มณฑลกวางตุ้ง กับเขตฯ กว่างซีจ้วง มาถึงตอนนี้ ขายไปที่ไกลถึงนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครฉงชิ่ง และมณฑลซานตง และ Live streaming หรือการไลฟ์สดขายมะพร้าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพในขณะนี้
ในฐานะ ‘ครัวของโลก’ —- ประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกอาหารเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย (รองจากประเทศจีน) และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในแง่การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน พบว่า… จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทย และเป็นหนึ่งในตลาดที่นิยมบริโภคผลไม้ไทย ปัจจุบัน สัดส่วนการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีมากถึง 70%
บีไอซี เห็นว่า โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘มะพร้าว’ เป็นสินค้าที่หาได้ตลอดทั้งปี ต่างจากผลไม้ประเภทอื่นที่มีตามฤดูกาล การนำมะพร้าวมาผสมเครื่องดื่มจึงสามารถจำหน่ายและตอบรับความนิยมของผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปี
จากการสำรวจราคามะพร้าวในนครหนานหนิงที่จำหน่ายอยู่ใน Pagoda ซึ่งเป็นเฟรนไชส์ค้าปลีกผลไม้ ‘No.1’ รวมทั้งในซุปเปอร์มาเก็ตและร้านผลไม้ท้องถิ่น พบว่า ‘ผลิตภัณฑ์มะพร้าวตัดแต่ง’ ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และมะพร้าวหัวโต ที่ขายอยู่ในร้านมีหลายเกรดหลายราคา ขึ้นอยู่กับขนาด แบรนด์ และบรรจุภัณฑ์ (เฉาะเอง หรือแบบมีฝาเปิดง่าย) โดยทั่วไปแล้ว มะพร้าวไทยมีราคาสูงกว่าราคามะพร้าวในประเทศ
โอกาสของ ‘มะพร้าวไทย’ ในตลาดจีน(กว่างซี) ตลาดเครื่องดื่มในประเทศจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องดื่มชา กาแฟ หรือน้ำผลไม้ โดย iiMedia Research ระบุว่า ปี 2564 ตลาดเครื่องดื่มชาแนวใหม่ในจีนมีมูลค่าสูงถึง 279,590 ล้านหยวน หรือเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าแตะระดับ 374,930 ล้านหยวน หรือเกือบ 2 ล้านล้านหยวน และด้วยความนิยมเครื่องดื่มชาแนวใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างสรรค์เมนูใหม่อยู่ตลอด
ในบรรดาเครื่องดื่มชาแนวใหม่ในปัจจุบัน ต้องบอกว่า เครื่องดื่มชา กาแฟของหมู่วัยรุ่นในจีน จะเห็นเครื่องดื่มที่มี element ของ ‘มะพร้าว’ อยู่จนชินตา ด้วยเหตุนี้เอง ส่งผลให้ดีมานด์ที่มีต่อน้ำมะพร้าวและนมมะพร้าวในตลาดจีนพุ่งพรวด ร้านเครื่องดื่มแฟรนไชส์ชื่อดังในจีน ไม่ว่าจะเป็น HeyTea, Nayuki, Mixue Bingcheng, ChaBaiDao, ARTEASG และ Lucking Coffee รวมถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง KFC ในจีนก็ตามกระแส โดยออกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำมะพร้าวด้วยเช่นกัน
ใน “รายงานผลิตภัณฑ์ในธุรกิจเครื่องดื่มจีน ประจำปี 2565” ระบุว่า จากการสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มชาแนวใหม่ 40 แบรนด์ พบว่ามี 37 แบรนด์ที่ออกเมนูใหม่เอาใจคนรัก ‘มะพร้าว’ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มเมนูกาแฟที่มีการนำ ‘มะพร้าว’ มาผสมกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาโน่มะพร้าวน้ำหอม หรือจะเป็นลาเต้นมมะพร้าว ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภคจีน
เมนู Raw Coconut Latte ที่ทำยอดขายให้กับแบรนด์ Lucking Coffee ได้มากกว่า 1,000 ล้านหยวนด้วยเวลาเพียง 8 เดือน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ทำยอดขายทะลุ 100 ล้านแก้วไปแล้ว) ถือเป็นเมนูที่ช่วย Lucking Coffee ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง
ด้วยคุณประโยชน์ทางธรรมชาติและความงามของ ‘มะพร้าว’ ยังตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในเมืองที่มีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพและมีกำลังบริโภคระดับกลางขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคหญิง (she-economy) ดังนั้น ในการทำการตลาดเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวสามารถพิจารณานำประเด็นดังกล่าวไปปรับใช้กับกลยุทธ์ทางการตลาด สร้างการรับรู้ และสร้างแรงจูงใจให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้ดีขึ้น
ช่องทางส่ง ‘มะพร้าวไทย’ ไปเจาะตลาดจีนผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง ด้วยอานิสงส์จากการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC ช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีรูปแบบที่หลากหลายและคล่องตัว ช่วยให้ผลไม้จากอาเซียน (ไทย) มีตัวเลือกในการขนส่งไปยังประเทศจีน รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าในจีน ไม่ว่าจะทางถนน ทางรถไฟ ทางเรือ และทางอากาศ
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วง มีด่านที่สามารถนำเข้าผลไม้ได้จริงอยู่หลายแห่งให้ผู้ส่งออกได้พิจารณาเลือกใช้ตามสะดวก อาทิ ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านทางบกตงซิง ด่านท่าเรือชินโจว ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง และด่านรถไฟผิงเสียง อย่างล่าสุดที่บีไอซีได้เคยนำเสนอข่าวความคืบหน้าของการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟผ่าน ‘ด่านรถไฟผิงเสียง’ ของกว่างซี ที่ได้ติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้บนขบวนรถไฟสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ตู้ควบคุมอุณหภูมิความเย็น (Reefer Container) ช่วยให้สามารถรักษาคุณภาพความสดใหม่ การขนส่งด้วยรถไฟมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ได้ดึงดูดผู้ประกอบการจากนอกกว่างซีมาใช้การนำเข้าผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่มมากขึ้น
‘มะพร้าวไทย’ โอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย แน่นอนว่า…ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อการขนส่งและกระบวนการตรวจสอบป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศของจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ การรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยตลอดกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) ตั้งแต่สวนมะพร้าว โรงแปรรูปและคัดบรรจุ สถานที่เก็บรักษา ไปจนถึงกระบวนการส่งออกจนถึงด่านปลายทางในประเทศจีน โดยผู้ส่งออกสามารถขอรับคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องได้ที่สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เกษตรกรไทยยังต้องพัฒนาและรักษาคุณภาพผลผลิตให้คง ‘อัตลักษณ์’ ของมะพร้าวน้ำหอมไทย โดยอาจจะพิจารณาร่วมมือกับนักวิชาการเกษตรในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตดก และมีรสชาติหอมหวานสม่ำเสมอ โดยผู้ส่งออกสามารถปรึกษากับทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ในหลายจังหวัด
ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามกำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ ‘มะพร้าวน้ำหอมญวน’ ให้มีความหอมหวานเทียบชั้น ‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ อยู่ในขณะนี้ การที่เวียดนามมีพรมแดนติดกับประเทศจีน ทำให้มีความได้เปรียบด้านการขนส่งและต้นทุนการผลิต หากวันหนึ่งที่เวียดนามสามารถทำได้สำเร็จ บัลลังก์มะพร้าวน้ำหอมไทยคงสั่นคลอนได้เหมือนกัน
ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรม ‘มะพร้าวไทย’ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาตลาดไว้ให้มั่น พร้อมกับการแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดในจีนให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตัว ‘ผลิตภัณฑ์มะพร้าวตัดแต่ง’ นั้น การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์มะพร้าวที่ง่ายต่อผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวสินค้าได้แล้ว นี่เป็นอีกเหตุผลของการตัดสินใจซื้อเลยทีเดียว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ —- ‘ผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป’ อาทิ ไอศกรีมกะทิสด น้ำมะพร้าวพาสเจอไรซ์ 100% วุ้นในลูกมะพร้าว และนมมะพร้าว เพราะนอกจากมะพร้าวสดและเครื่องดื่มมะพร้าวแล้ว กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพในจีนเริ่มหันมาบริโภค plant protein beverage หรือเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชมากขึ้น และ ‘นมมะพร้าว’ โดยเฉพาะนมมะพร้าวที่เป็นเครื่องดื่มหางกะทิบ้านเราที่สามารถนำไปเพิ่มรสชาติใหม่ หรือทำเป็น functional drink แบบไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ แคลลอรีศูนย์ หรือนมมะพร้าวที่ใช้เป็นส่วนผสมในเมนูร้านเครื่องดื่มชากาแฟแนวใหม่ได้ จึงกล่าวได้ว่า… ‘นมมะพร้าว’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งสินค้า(ไม่)ใหม่ที่ประเทศไทยสามารถนำไปบุกตลาดคนรักสุขภาพที่มีมูลค่าสูงในจีนได้
โจทย์ใหญ่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ผลิตไทย คือ นวัตกรรมการถนอมอาหาร (Food preservation) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป จากที่เมื่อไม่นานมานี้ ในจีนมีประเด็นร้อนเรื่องการใช้สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วยี่ห้อ Haitian ซึ่งรวมถึงวัตถุกันเสียด้วย ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความตื่นตัวและรู้สึกอ่อนไหวมากขึ้นเรื่องการใช้สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์อาหาร หากประเทศไทยสามารถ ‘ไร้สารแต่งกลิ่น ไร้สีผสมอาหาร ไร้สารกันบูด’ แล้วหล่ะก็ เชื่อว่า…จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับ ‘ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย’ ของไทย และติดปีก ให้ธุรกิจส่งออกมะพร้าวไทยให้ไปได้ไกล (ถึงดาวพลูโต) เป็นแน่!!
…เกาะติดทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในจีนได้ทางเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com…
***************************