คณะนักธุรกิจและสื่อกว่างซีไปทำอะไรที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

21 May 2019

 

ชาวจีนที่เดินทางไปไทย ไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยวหรือการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับจังหวัดหลักๆ อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา(ชลบุรี) เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง จึงได้จัดให้คณะผู้แทนกว่างซีได้ไปสัมผัสกับจังหวัดและสถานที่ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกว่างซี ภายใต้โครงการนำคณะนักธุรกิจและสื่อมวลชนกว่างซีเยือนไทย ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2562

ด้วยระยะทางเกือบ 2,400 กิโลเมตรจากนครหนานหนิง ไปยังภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา และสิ้นสุดปลายทางที่อำเภอใต้สุดแดนสยามอำเภอเบตง ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่กว่างซีสนใจขยายความร่วมมือตามยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) โดยมีกว่างซีเป็นข้อต่อยุทธศาสตร์

โครงการในปีนี้มีผู้บริหารระดับสูงจาก 7 บริษัทชั้นนำของกว่างซี และผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประจำมณฑลและนครหนานหนิงเมืองเอกของมณฑลอีก 2 แห่งเข้าร่วม โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงานไทยและกว่างซีจะได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะสาขาที่มีศักยภาพ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน การบริหารจัดการด่านชายแดน และการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้กับหัวเมืองรองอย่างจังหวัดสงขลาและยะลาได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในจีนโดยเฉพาะกว่างซี และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติต่างๆ ให้สาธารณชนกว่างซีรับทราบผ่านสื่อมวลชนหลักของกว่างซี โดยเฉพาะบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโอกาสทางการค้าและการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) และยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ของจีนผ่านเส้นทางการค้า ILSTC อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกระชับและขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับกว่างซีในทุกด้าน

คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมด่านศุลกากรสะเดา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ท่าอากาศยานเบตง ได้เข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ช่วยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายกเทศมนตรีอำเภอเมืองเบตง รวมทั้งได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ได้แก่ หาดสมิหลาที่สงขลา อุโมงค์ปิยะมิตรและทะเลหมอกอัยเยอร์เวงที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

โดยคณะนักธุรกิจกว่างซีให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในเรื่องการค้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ภาคใต้มีจุดแข็งอย่างทุเรียน มังคุด ลองกอง และไม้ยางพารา และงานขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ เชื่อมโยงการค้า ตลอดจนส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างพื้นที่ภาคใต้ของไทยกับกว่างซี

เป็นที่ทราบกันดีว่า จังหวัดทางภาคใต้ของไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะยางพาราและผลไม้เมืองร้อน ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการบริโภค(อย่างไม่จำกัด)ของตลาดจีนได้โดยตรง ทำให้จีนมีความสำคัญในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศและเป็นปลายทางการส่งออกสินค้าของจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

จุดหมายแรกของคณะ คือ จังหวัดสงขลา หัวเมืองเศรษฐกิจและฐานการส่งออกยางพาราที่สำคัญของไทย ซึ่งได้รับการขนานนามเป็น “ประตูการค้า” ของภาคใต้ตอนล่าง นอกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์แล้ว จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศคู่ค้าหลักของจังหวัดสงขลา โดยจีนมีความต้องการใช้ไม้ยางพาราจำนวนมากเพื่อแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยโครงการปีนี้ช่วยให้บริษัท GCON Furniture Group สามารถเปิดดีลค้าขายกับบริษัทไม้ยางพารารายใหญ่ของจังหวัดสงขลาได้สำเร็จหลังจบโครงการเพียงหนึ่งสัปดาห์

ปัจจุบัน การส่งออกมีอยู่หลายช่องทาง ได้แก่

ท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นท่าเรือหลักในภาคใต้ตอนล่างชายฝั่งอ่าวไทยที่ใช้ส่งสินค้าไปยังจีน โดยกว่าครึ่งเป็นไม้ยางพาราและยางพารา และอาหารทะเลแช่แข็ง แต่ท่าเรือแห่งนี้มีข้อจำกัด โดยเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ มีเที่ยวเรือตรงไปจีนไม่มาก (2 เส้นทาง คือ แวะเมืองฮ่องกง และเมืองเซินเจิ้น/ท่าเรือเหยียนเถียน) จึงต้องสร้างท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ด่านพรมแดนสะเดาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ส่งออก โดยการลำเลียงสินค้าไปขึ้นเรือที่ท่าเรือปีนังและท่าเรือสิงคโปร์เพื่อส่งต่อไปจีน จากข้อมูลพบว่า ด่านแห่งนี้มีรถบรรทุกเข้าออกเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 40,000 คัน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางรมควันอัดแท่ง แม้ว่าเส้นทางขนส่งต้องอ้อมแหลมมลายูก็ตาม แต่ท่าเรือปีนังสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่และมีเที่ยวเรือถี่ เนื่องด้วยปริมาณการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ด่านสะเดาเตรียมทดลองเปิดด่าน 24 ชั่วโมงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 และกำลังเร่งก่อสร้างด่านแห่งใหม่บนพื้นที่ 600 ไร่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับปริมาณการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากจังหวัดสงขลา คณะได้เดินทางมุ่งลงใต้ไปยังจังหวัดยะลา อีกหนึ่งพื้นที่เพาะปลูกยางพาราและผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่ออย่างทุเรียน มังคุด และลองกอง ซึ่งจังหวัดยะลาสนใจผลักดันการส่งออกลองกองไปจีน แต่เนื่องจากผลไม้ชนิดนี้มีอายุการเก็บรักษาสั้นมากเพียง 2-3 วัน จึงต้องมีการพัฒนาวิธีการขนส่งและบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุและรักษาความสดใหม่ของผลไม้ชนิดนี้ โดยนักธุรกิจจีนด้านซัพพลายเชนที่ร่วมคณะได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเรื่องการขนส่งและบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ทางจังหวัดนำไปต่อยอดด้วย

จุดหมายปลายทางของคณะ สิ้นสุดที่อำเภอเบตง เมืองพหุวัฒนธรรมไทย จีน และอิสลาม อำเภอเบตงเป็นที่รู้จักสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์มานาน และการมี “ทะเลหมอก 365 วัน” ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มหลั่งไหลมาชมความงดงามของทะเลหมอกและชิมรสอาหารท้องถิ่นที่อำเภอเบตง ซึ่งอำเภอแห่งนี้มีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นชาวจีนที่มาจากกว่างซีจนได้รับการขนานนามเป็น Little Guangxi

เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำเภอเบตงอยู่ระหว่างการก่อสร้างสนามบินเบตง

โดยคาดว่าตัวอาคารผู้โดยสารและรันเวย์จะแล้วเสร็จในปลายปี 2562 ยกเว้นหอบังคับการบิน และยังมีแผนขยายรันเวย์เพิ่ม จากเดิม 1,800 ม. เป็น 2,100 ม. เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถทำการบินระยะไกลได้

กล่าวได้ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีข้อได้เปรียบและศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญบนคาบสมุทรมลายู และสามารถเชื่อมโยงกับจีนภายใต้กรอบ BRI และเส้นทาง ILSTC ได้ การเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

 

 

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

บทความที่เกี่ยวข้อง


บทความยอดนิยม

อ่านบทความอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน