ขุมทองเสฉวน ดึงดูดวิสาหกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง
19 Dec 2017
มณฑลเสฉวน เป็นหนึ่งในแหล่งการลงทุนยอดนิยมในภูมิภาคตะวันตกของจีนที่นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจ “ก้าวเข้ามา” ลงทุนอย่างไม่ขาดสาย สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขจำนวนวิสาหกิจต่างชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และหลายฝ่ายคาดว่าจำนวนนักลงทุนต่างชาติจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กรมพาณิชย์มณฑลเสฉวนแถลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ “ผลการพัฒนาของวิสาหกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวนประจำปี 2560” เพื่อรายงานผลงานความคืบหน้าและพัฒนาการ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของวิสาหกิจต่างชาติในมณฑลเสฉวน
ในรายงานฯ สรุปว่า ณ เดือนตุลาคม 2560 มณฑลเสฉวนมีวิสาหกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จำนวน 3,004 บริษัท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 435 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และมีมูลค่าการลงทุนรวม 88,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในมณฑลของจีนตอนในทั้งหมด และจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของจีน
ในขณะที่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจต่างชาติในมณฑลเสฉวนในปี 2559 ที่ผ่านมา รายได้ของวิสาหกิจต่างชาติมีมูลค่า 515,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 มีกำไรสุทธิมูลค่า 25,620 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 มีบุคลากรทำงานจำนวน 411,000 คน ลดลงร้อยละ 9.9 และมีการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามูลค่า 31,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และในจำนวนวิสาหกิจต่างชาติ 3,004 บริษัทเป็นวิสาหกิจ TOP 500 ของโลกจำนวน 235 บริษัท (ปัจจุบันวิสาหกิจ TOP 500 ของโลกลงทุนในมณฑลเสฉวนแล้ว 321 บริษัท ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนที่รวมทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทของจีนเอง)
สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) การผลิต 2) การบริการทางพาณิชย์และการบริการเช่าเครื่องจักรกล 3) การค้าส่งและค้าปลีก 4) อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 5) การบริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟร์แวร์ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 32.2 ของประเภทอุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาลงทุนทั้งหมด
ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีวิสาหกิจเข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวนมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน สหรัฐฯ สิงคโปร์ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อังกฤษ และซามัวร์
ทั้งนี้ วิสาหกิจต่างชาติดังกล่าวได้กระจายการลงทุนไปยังเมืองต่าง ๆ ในมณฑลเสฉวน ประกอบด้วย 1) นครเฉิงตู (ศูนย์กลางการผลิต เทคโนโลยี โลจิสติกส์และการเงิน) มีการลงทุนจำนวน 2,323 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90.1 ของวิสาหกิจต่างชาติทั้งหมด 2) เมืองเหมียนหยาง 109 บริษัท (ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) 3) เมืองเต๋อหยาง 104 บริษัท (ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนัก การผลิตเครื่องจักรกลและสินค้าการบิน) และอื่น ๆ
นายหลิว ซิน ผู้อำนวยการกรมพาณิชย์มณฑลเสฉวน กล่าวว่า “ก้าวต่อไป กรมพาณิชย์จะเดินหน้าดำเนินการตามนโยบายเปิดกว้างอย่างเสรีและนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐบาลมณฑลฯ โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยการยกระดับสภาพแวดล้อมทางการลงทุน ประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่เพื่อโอกาสทางการลงทุน และจัดตั้งศูนย์บริการวิสาหกิจต่างชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการลงทุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดความร่วมมืออันดีด้านความร่วมมือและการลงทุนจากต่างประเทศ”
ศูนย์บีไอซีเฉิงตู มีข้อคิดเห็นว่า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่มีศักยภาพสูงถือเป็นแนวโน้มปกติ อย่างไรก็ดี ในกรณีของมณฑลเสฉวนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งการลงทุนที่มีศักยภาพสูงมาก แต่การที่มีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มถึงถึงเกือบ 5 เท่าในรอบปีที่ผ่านมา (ปี 2559 จำนวนวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 100 ราย และ ณ เดือนตุลาคม 2560 เพิ่มขึ้น 435 ราย) สะท้อนว่า มณฑลเสฉวนได้สร้างแรงดึงดูดเป็นพิเศษด้านการลงทุน โดยเฉพาะการก่อตั้งขึ้นของเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลเสฉวน ที่มีพื้นที่ครอบคลุมแหล่งศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี การผลิต การเงินการธนาคารและการโลจิสติกส์ กอปรกับการมีนโยบายส่งเสริมในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านภาษีอากร การให้บริการพื้นที่สำนักงานโดยไม่คิดค่าเช่า การลดค่าเช่าโกดัง และการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับชาวต่างชาติและการให้สวัสดิการในด้านต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยโน้มน้าวให้ต่างชาติก้าวเข้ามาลงทุนได้แล้วถึง 94 ราย
รวมทั้ง การขยายรางเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งของรถไฟสินค้าเฉิงตู-ยุโรป (หรงโอว) ที่ขณะนี้มีเส้นทางขนส่งสินค้ากระจายสู่ 10 แห่งในยุโรป และล่าสุดยังได้เริ่มต้นโครงข่าย “หรงโอว+” ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่ง ที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรป-นครเฉิงตู-เอเชียตะวันออก-อาเซียน ทำให้วิสาหกิจต่างชาติบนแนวเส้นทางการขนส่งสายนี้ เริ่มเห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดและมีความสนใจจึงก้าวเข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวน มากขึ้น
นอกจากนี้ การก่อตั้งขึ้นของหน่วยงานราชการต่างประเทศ อาทิ สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานส่งเสริมการค้า ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ในนครเฉิงตูมีสถานกงสุลใหญ่ต่างชาติแล้วจำนวน 16 ประเทศ มากเป็นอันดับที่ 4 ในจีน เปรียบเสมือนเป็นการเปิดทางและช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในเมืองนั้น ๆ ให้แก่วิสาหกิจของประเทศต่าง ๆ ก่อนการเลือกตัดสินใจออกมาลงทุนยังต่างประเทศ”
ภาคการลงทุนที่มณฑลเสฉวนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและมีนโยบายส่งเสริม ได้แก่ 1) การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน การผลิตเครื่องจักรกล 2) เทคโนโลยีและสารสนเทศ นวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์ 3D เทคโนโลยีภาพเสมือน หรือ Virtual Reality 3) การผลิตสินค้าไอที คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน 4) การคมนาคมทางอากาศ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน พลังงานทดแทน 5) หุ่นยนต์อัจฉริยะ 6) การแพทย์พยาบาล และการผลิตยาเวชภัณฑ์ 7) อาหารและเครื่องดื่ม และ 8) การค้าระหว่างประเทศและการขนส่งโลจิสติกส์
ทั้งนี้ จีนได้กำหนดรูปแบบในการจัดตั้งบริษัทต่างชาติในจีนไว้ 3 รูปแบบ คือ สำนักงานตัวแทน(representative office), บริษัทร่วมทุน (joint venture company : JV) และบริษัทต่างชาติ (wholly foreign owned enterprise : WFOE) และที่สำคัญนักธุรกิจ-นักลงทุนควรจะศึกษานโยบายที่เกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อประโยชน์ทางการลงทุนที่สูงสุด โดยสาขาการลงทุนจากไทยที่มีโอกาส ได้แก่ ธุรกิจบริการ เช่น สปา สมุนไพร ร้านอาหาร เฟรนไชส์การศึกษา ออกแบบก่อสร้าง และบันเทิง ตลอดจน อุตสาหกรรมไอที และอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมการเสริมความงาม
อนึ่ง ปัจจุบัน บริษัทไทยที่มาลงทุนในมณฑลเสฉวนตามที่มาขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลเสฉวนมีจำนวน 97 ราย แต่ลงทุนจริงเพียง 45 โครงการ โดยการลงทุนหลักได้แก่ 1) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ก่อตั้ง 21 บริษัท อาทิ โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ขึ้นในอำเภอผีเสี้ยน โรงงานชาจีนที่เมืองหย่าอัน และโรงงานผลิตไวน์ที่เมืองซีชาง เป็นต้น 2) บริษัท อีซีไอ-เมโทร (ECI-Metro) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอีซีไอ กับบริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายเครื่องจักรกลหนักของ Caterpillar ในประเทศไทย และ 3) ธนาคารกสิกรไทย สาขานครเฉิงตู ซึ่งเป็นสาขาที่สองในประเทศจีน และถือเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างมณฑลเสฉวนและภาคตะวันตกของจีนกับประเทศไทยและประเทศอาเซียน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้นำคณะวิทยากร/ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศนครเฉิงตู คณะกรรมการพาณิชย์นครเฉิงตู หน่วยงาน One Stop Service จดทะเบียนบริษัทต่างชาติ สำนักงานกักกันและตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออก มณฑลเสฉวน และเป็นต้น ร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ “ลู่ทางการค้าและการลงทุนในมณฑลเสฉวน โอกาสและกฎระเบียบที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบ” ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับข้อมูลตลาดเสฉวน ลู่ทางการค้า/การลงทุน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่างชาติ ระเบียบการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และพฤติกรรมทั่วไปของผู้บริโภคในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้แทนบริษัทเอกชนไทยในมณฑลเสฉวน อาทิ ธนาคารกสิกรไทย สาขานครเฉิงตู บริษัท CP ประจำมณฑลเสฉวน บริษัท ECI-Metro ประจำมณฑลเสฉวน ผู้แทนสำนักงานกฏหมายในไทยและผู้แทนบริษัทโลจิสติกส์ เพื่อให้ข้อมูลทางด้านโอกาสและกลยุทธ์การบุกตลาดเสฉวน ตลอดจนร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในมณฑลเสฉวนและคำแนะนำอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยที่กำลังศึกษาและสนใจขยายกิจการสู่มณฑลเฉวน ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยและสื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจและเข้าร่วมงานจำนวน 165 ราย