กุ้ยโจว “มณฑลแห่งพิพิธภัณฑ์สะพาน” ของจีน
16 May 2023มณฑลกุ้ยโจวตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นมณฑลเขตชั้นในที่ไม่มีทางออกทะเล มีภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst Topography)[1] พื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 ถูกปกคลุมด้วยภูเขาและเนินเขา รวมทั้งมีภูเขามากถึง 1,258,000 ลูก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบคมนาคมและเศรษฐกิจของมณฑลเป็นอย่างมาก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กุ้ยโจวได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ และทางอากาศ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะทางถนนและการเชื่อมหุบเขาสองลูกซึ่งมีสายน้ำกั้นกลางด้วยสะพาน ในปี 2565 มณฑลกุ้ยโจวมีทางหลวงที่เปิดใช้งานแล้ว 209,600 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นทางหลวงในชนบท 175,100 กิโลเมตร และทางด่วน 8,331 กิโลเมตร ครอบคลุมทุกอำเภอ ซึ่งระยะทางของทางด่วนที่เปิดใช้งานแล้วสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน
ในส่วนของสะพานเชื่อมระหว่างหุบเขา กุ้ยโจวมีสะพานที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง 28,023 แห่ง รวมระยะทาง 4,400 กิโลเมตร ในระยะทางดังกล่าวมีสะพานที่เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วน 14,230 แห่ง ระยะทาง 3,900 กิโลเมตร สร้างความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนในชนบทกว่า 17 ล้านคน หรือเกือบ 200,000 หมู่บ้าน
สำหรับรูปแบบของสะพาน กุ้ยโจวมีสะพานครอบคลุมเกือบทุกประเภทของสะพานในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสะพานแบบคาน (Beam Bridge) แบบโค้ง (Arch Bridge) แบบแขวน (Suspension Bridge) และแบบขึง (Cable Stayed Bridge) รวมถึงมีสะพานสูงคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของสะพานสูงที่สุด 100 อันดับแรกของโลก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มณฑลแห่งพิพิธภัณฑ์สะพาน” ของจีนและของโลก
กุ้ยโจวได้ใช้เวลาหลายปีในการสะสมประสบการณ์การสร้างสะพานทั้งในแง่ของปริมาณ ความหลากหลายของรูปแบบ และการใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน จนปัจจุบันมีสะพานที่ได้รับรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล (Gustav Lindenthal Medal) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในวงการสะพานและด้านการออกแบบวิศวกรรมระดับโลกอันเทียบได้กับรางวัลโนเบล จากการประกาศผลในงานการประชุมสะพานนานาชาติ (International Bridge Conference: IBC) รวมจำนวน 4 แห่ง จากสะพาน 9 แห่งของจีนที่ได้รับเกียรตินี้ ได้แก่
- สะพานเป่ยผานเจียง (The First Beipan River Bridge) เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนหังโจว-รุ่ยลี่ และเป็นสะพานข้ามหุบเขาและแม่น้ำเป่ยผานเจียงที่เชื่อมระหว่างตำบลตูเก๋อของเมืองลิ่วผานสุ่ย มณฑลกุ้ยโจว กับตำบลผู่ลี่ของเมืองฉวี่จิ้ง มณฑลยูนนาน ทำให้การเดินทางจากเมืองลิ่วผานสุ่ยถึงเมือง (ระดับอำเภอ) เซวียนเวยของเมืองฉวี่จิ้งที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ร่นเวลาเหลือเพียง 1 ชั่วโมง สะพานเป่ยผานเจียงเริ่มก่อสร้างในปี 2556 เปิดใช้งานในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 และได้รับรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล ในปี 2561 จุดเด่นต่อมาคือในปีเดียวกัน สถิติโลก “กินเนสส์ เวิล์ด เรคคอรด์ส” (Guinness World Records) ยกให้สะพานเป่ยผานเจียงเป็นสะพานที่มีความสูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงจากแม่น้ำเบื้องล่าง 565.4 เมตร ความยาว 1,4 เมตร ความกว้าง 27.9 เมตร และเป็นถนนสี่ช่องจราจร
- สะพานยาฉือเหอ (Yachihe Bridge) เป็นสะพานข้ามหุบเขาและแม่น้ำยาฉือเหอที่เชื่อมระหว่างนครกุ้ยหยางกับเมืองปี้เจี๋ยของมณฑลกุ้ยโจว เริ่มก่อสร้างในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 มีความยาวของสะพานทั้งสิ้น 1,450 เมตร ความสูง 434 เมตร ความกว้าง 24.5 เมตร ถนนสี่ช่องจราจร ได้รับรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล ในปี 2561 และเป็นสะพานแบบขึงโครงถักเหล็ก (steel-truss cable-stayed bridge) ที่มีช่วงสะพานหลัก (Main Span) ยาวที่สุดในโลกถึง 800 เมตร
- สะพานผิงถัง (Pingtang Bridge) ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน มณฑลกุ้ยโจว เป็นสะพานข้ามหุบเขาแม่น้ำฉาวตู้ และเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายอำเภอผิงถัง-อำเภอหลัวเตี้ยน ช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างผิงถัง-หลัวเตี้ยนจากกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เหลือราว 1 ชั่วโมง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 มีช่วงสะพานยาว 2,135 เมตร ความกว้าง 30.2 เมตร และเป็นถนนสี่ช่องจราจร จุดเด่นของสะพานแห่งนี้ คือ การได้รับรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล ในปี 2564 และรางวัลโครงสร้างพื้นฐานยอดเยี่ยมระดับโลกในงานมอบรางวัลสิ่งก่อสร้างดีเด่นประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยสมาคมสะพานและวิศวกรรมโครงสร้างนานาชาติ (IABSE)
- สะพานฮวาหวีต้ง (Huayudong Bridge) ตั้งอยู่นครกุ้ยหยาง เป็นสะพานขนาดใหญ่ที่ข้ามสวนสาธารณะพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติทะเลสาบหงเฟิงและเขตคุ้มครองแหล่งน้ำดื่ม เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ตัวสะพานมีความยาว 269.6 เมตร และได้รับรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล ในปี 2565 โดยสะพานแห่งนี้มีความพิเศษ คือ แนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการออกแบบและเทคนิคการก่อสร้างสะพาน ด้วยการรื้อสะพานเก่าควบคู่กับการสร้างสะพานใหม่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและความเสียหายทางระบบนิเวศที่อาจเกิดจากการระเบิดสะพาน โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการสร้างสะพาน 4 ประการ ได้แก่ ไม่สร้างมลพิษแก่แหล่งน้ำ ไม่รบกวนจุดชมวิว สามารถรีไซเคิลขยะของสะพาน และสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่
ล่าสุด มณฑลกุ้ยโจวได้ก่อสร้างสะพานข้ามหุบเขาฮวาเจียง (Huajiang Canyon Bridge) ซึ่งตั้งอยู่อำเภอเจินเฟิงของเขตปกครองตนเองเฉียนซีหนาน เป็นสะพานข้ามหุบเขาลึกระหว่างอำเภอเจินเฟิงกับอำเภอกวนหลิ่งของเมืองอานซุ่น เริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2568 โดยมีความยาวรวมของสะพาน 2,890 เมตร และช่วงสะพานหลักยาว 1,420 เมตร ตัวพื้นสะพานอยู่สูงเหนือระดับน้ำราว 625 เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นสะพานข้ามหุบเขาที่มีความสูงมากที่สุดในโลก แซงหน้าสะพานเป่ยผานเจียง (Beipan River Bridge) ซึ่งมีความสูง 565.4 เมตร สิ่งสำคัญคือ เมื่อสะพานแห่งนี้เปิดใช้งานจะทำให้การเดินทางของทั้งสองฝั่งหุบเขาระหว่างหมู่บ้านหยิงผานของอำเภอเจินเฟิงและหมู่บ้านอู๋หลี่ของอำเภอกวนหลิ่งจากเดิมที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ลดเหลือเพียง 2 นาที รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูชนบทให้กับท้องถิ่น เช่น กีฬาเอ็กซ์ตรีม (Extreme Sports) จุดชมวิวที่สูง และรีสอร์ทเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
ใครจะคิดว่า จากมณฑลที่ล้าหลังและเป็นหนึ่งในมณฑลที่ยากจนที่สุดจะสามารถใช้เทคโนโลยีเอาชนะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยสร้างสะพานหลายแห่งเพื่อเดินทางแลกเปลี่ยนความมั่งคั่งกับโลกภายนอก การก่อสร้างสะพานไม่เพียงสร้างชื่อเสียงด้านวิศวกรรมโยธาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก แต่ยังช่วยให้กุ้ยโจวเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมภายในประเทศถึงกันได้อย่างสะดวก นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนความเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลอีกด้วย
***********************************************
แหล่งข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1756636956015869519&wfr=spider&for=pc
https://travel.sohu.com/a/653032165_121106902
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1713949762093522357&wfr=spider&for=pc
http://www.gz.chinanews.com.cn/jjgz/2023-05-09/doc-ihcphmup3082119.shtml
[1] ภูมิประเทศแบบหินปูน สูง ๆ ต่ำ ๆ หน้าผาสูงชัน ยอดแหลม มักพบรอยแตกกว้างซึ่งพัฒนาเป็นถ้ำอยู่ทั่วไป ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th