“กีวี” แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดจากนิวซีแลนด์หรือจีน?
6 Nov 2019กีวี ผลไม้สีเขียวรสเปรี้ยวที่ถูกใจใครหลายๆคน หากถามว่ากีวีมีที่มาจากที่ใด เชื่อว่าเก้าในสิบคนต้องพูดว่ากีวีมีต้นกำเนิดมาจากประเทศนิวซีแลนด์ ดินแดนที่มีชื่อเสียงจากธรรมชาติที่สวยงาม ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และบ้านเกิดของนกขนาดเล็กอย่างนกกีวี ทว่าแท้จริงแล้ว ผลกีวีหาได้มีความเกี่ยวข้องกับนกกีวี อีกทั้งต้นกีวีเองก็หาใช่พืชพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ เช่นนั้น กีวีมาจากที่ใด? กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญได้อย่างไร ภายในบทความนี้เราจะไปหาคำตอบกัน
แผ่นดินแม่ของเหล่ากีวี
กีวีเป็นหนึ่งในผลไม้พื้นเมืองของประเทศจีน เดิมเป็นเพียงเถาไม้เลื้อยที่ขึ้นตามธรรมชาติ น้อยคนที่จะสนใจเก็บผลกีวีมารับประทานหรือเพาะพันธุ์ ก่อนราชวงศ์ฉิน กีวีในภาษาจีนเรียกว่า ฉางฉู่ (苌楚 cháng chǔ) ข้อมูลต้นกีวีมีการบันทึกครั้งแรกในหนังสือรวมบทกลอนและเพลงพื้นบ้าน ซือจิง《诗经 shī jīng》ราว ก่อนพุทธศักราช 503 – 287 และถูกพบเพิ่มในหนังสือสมุนไพร เอ่อร์หย่า-ซือเฉ่า《尔雅·释草 ěr yǎ shì cǎo》ในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าจีนมีการบริโภคกีวีอย่างยาวนาน ยุคราชวงศ์ถัง มีการบันทึกสรรพคุณทางการแพทย์ของกีวีเป็นครั้งแรกในตำราสมุนไพร เปิ่นเฉ่าซื๋ออี้《本草拾遗 běn cǎo shí yí》
จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินใหม่
ปี 2446 ผู้อำนวยการวิทยาลัยสตรี (Whanganui Girls College) นาม Mary Isabel Fraser เดินทางมาเยี่ยมสมาชิกคณะมิชชันนารี่ ณ เขตอี๋หลิง เมืองอี้ฉาง มณฑลหูเป่ย ช่วงที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยสตรีอาศัยอยู่ในประเทศจีน ท่านชื่นชอบกีวีเป็นอย่างมาก (ชื่อกีวีตามภาษาจีนท้องถิ่นเรียกว่า หมีโฮวเถา) 2 ปีถัดมา เมื่อต้องเดินทางกลับประเทศนิวซีแลนด์ เธอได้นำเมล็ดพันธุ์กีวี่กลับไปยังบ้านเกิดด้วย โดยได้มอบเมล็ดพันธุ์แก่คนดูแลสวนในวิทยาลัยฯ ชื่อ Alexander Allison เขาจึงทดลองปลูกเมล็ดพันธุ์ที่คณะมิชชันนารีนำกลับมาจนได้ต้นกีวีต้นแรกในประเทศนิวซีแลนด์ กระทั่งปี 2453 ต้นกีวีที่ปลูกไว้จึงเริ่มออกผล รสเปรี้ยมอมหวานของผลกีวีเป็นที่ถูกอกถูกใจนายสถานีอังกฤษและอเมริกาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากผลไม้ป่าที่ไม่มีใครสนใจในประเทศจีน จึงได้ก้าวกระโดดมาเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ (อ้างอิงข้อมูลจาก https://nzhistory.govt.nz/)
กีวีแห่งเสฉวน สีสันและรสชาติที่รอให้ลิ้มลอง
เสฉวนเพาะปลูกกีวีในพื้นที่ระหว่างเทือกเขาหลงเหมินและเทือกเขาฉงไหล กีวีเมืองตูเจียงเยี่ยน (เครื่องหมายอนุญาต2004-33) และกีวีอำเภอชางซี เมืองกว่างหยวน (เครื่องหมายอนุญาต2007-212) จากมณฑลเสฉวน ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แห่งชาติจีน (China Geographical Indication Products · 中国地理标志产品) โดยกีวีจากสองพื้นที่มีเอกลักษณ์คล้ายกัน คือสีสันสดใส กลิ่นหอมหวานและรสชาติเปรี้ยวอมหวาน นอกจากนี้มณฑลเสฉวนยังมีกีวีจากเมืองผู๋เจียง(เครื่องหมายอนุญาต2010-109) ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน แต่เนื้อกีวีจะมีความกรุบกรอบมากกว่าสองชนิดข้างต้น อ้างอิงผลสำรวจปี 2558 มณฑลเสฉวนมีพื้นที่เพาะปลูกต้นกีวีประมาณ 7แสนเอเคอร์ สามารถทำผลผลิตได้ถึง 4 แสนตัน
ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เปรี้ยวหวานกำลังดี ทำให้กีวีของมณฑลเสฉวนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยว ในช่วงเดือนสิงหาคม ลูกกีวีที่ออกผลใต้ร่มไม้ก็เริ่มสุกงอม ภาครัฐท้องถิ่นและเกษตรกรในพื้นที่ตำบลเคิ่นเจีย หมู่บ้านเซี่ยงเอ๋อ ตำบลหลงฉื่อ ตำบลเทียนหม่า และตำบลยู่ถัง จากเมืองตูเจียงเยี่ยน ร่วมมือกันจัดงานเทศการเก็บเกี่ยวกีวีขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมสวนกีวี ถ่ายรูป แวะชิมและเด็ดผลกีวีสดๆจากต้น รวมทั้งสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกีวี อาทิ มาส์กชีทกีวี ไวน์กีวี น้ำกีวี ซึ่งกิจกรรมข้างต้นได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวในมณฑลเสฉวน และเนื่องจากชาวจีนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นในปัจจุบัน จึงคาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีในปีต่อๆไปเช่นกัน (ที่มา: บัญชีWechat 今日都江堰 (Jinri Dujiangyan)และ 成都农业 (Chengdu Nongye)
ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกกีวีของประเทศจีน ระหว่างปี 2556-2561
|
|||||||||
รายการสินค้า |
ปี |
นำเข้า | ส่งออก | ||||||
จำนวน
(ตัน) |
ร้อยละ/ต่อปี | มูลค่า
(ดอลลาร์) |
ร้อยละ/ต่อปี | จำนวน
(ตัน) |
ร้อยละ/ต่อปี | มูลค่า
(ดอลลาร์) |
ร้อยละ/ต่อปี | ||
กีวี |
2556 | 1478 | 58.2 | 3.03ล้าน | 90.1 | 48243 | -7.2 | 121.63ล้าน | -12.4 |
2557 | 2175 | 47.2 | 4.65ล้าน | 53.5 | 62829 | 30.2 | 195.48ล้าน | 60.8 | |
2558 | 2007 | -77 | 4.66ล้าน | -3.9 | 90178 | 43.5 | 266.72ล้าน | 36.4 | |
2559 | 4133 | 105.9 | 12.93ล้าน | 189.8 | 125988 | 39.7 | 343.12ล้าน | 28.6 | |
2660 | 4304 | 4.1 | 7.06ล้าน | -45.4 | 112532 | -10.7 | 350.10 | 2 | |
2561 | 5102.4 | – | 11.32ล้าน | – | 145471.1 | – | – | – |
อ้างอิงตัวเลขจาก http://www.360doc.com/content/19/0217/08/47740108_815477125.shtml และบัญชีวีแชท 猕猴桃种植宝典(Mihoutao Zhongzhi Baodian)
ปลายทางของลูกกีวี
ปัจจุบันผลไม้จากประเทศจีนยังคงประสบปัญหาผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ประกอบกับเครื่องหมายสินค้าของต่างประเทศมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของกีวี่นั้นมีความไม่แน่นอนและผันผวน ทว่าจากความมุ่งมั่นของเกษตรกรชาวจีนและเกษตรกรชาวมณฑลเสฉวน ทำให้กีวีสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง ไต้หวัน รัสเซีย มาเลเซีย ไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และ ปี 2562 มณฑลเสฉวนมีการส่งออกกีวีจากเมืองตูเจียงเยี่ยนไปยังแคนาดา สเปน และออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ส่วนในประเทศไทยมณฑลเสฉวนได้ส่งออกกีวีจำนวน 9 ตันไปยังประเทศไทย โดยบริษัท Tianci Miyuan Agricultural Co., Ltd. (天赐猕源农业有限公司) จากหมู่บ้านชิงเจียง ตำบลชิงเฉิงซาน เมืองตูเจียงเยี่ยน มีจุดมุ่งหมายการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคในแถบกรุงเทพมหานคร ซึ่งการขนส่งสินค้าใช้ระยะเวลาประมาณสามสัปดาห์จากมณทลเสฉวน ไปที่ท่าเรือในเมืองเซินเจิ้น ก่อนจะเดินเรือมายังประเทศไทย ซึ่งบทความดังกล่าวเป็นข้อมูลความเป็นมาให้ผู้ประกอบการไทยได้ทราบเกี่ยวกับกีวี สามารถเปิดเส้นทางความร่วมมือตลาดผลไม้ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น
จัดทำโดย: นางสาวณัฐริกา ดอนวิจารณ์ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัย Yangtze Normal University
เรียบเรียงโดย: นางสาวชญานุช หนูทอง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู