การเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทจีนยังคงเติบโตในครึ่งปีแรก 2559
1 Nov 2016เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท PricewaterhouseCoopers (PwC) และ China Association of Private Equity (CAPE) ได้ร่วมประกาศ ‘ผลการวิจัยการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจของจีน ประจำครึ่งแรกของปี 2559’ โดยพบว่า การเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจ (Merger & Acquisition: M&A) ในต่างประเทศของบริษัทจีนมีมูลค่าเท่ากับ 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2558 และมากกว่ามูลค่าของปี 2557 และปี 2558 รวมกัน และมูลค่าของทั้ง ปี 2559 จะสร้างสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ และจะคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปี 2563
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจจากผลการวิจัยฯ และข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
บริษัทเอกชนแซงหน้ารัฐวิสาหกิจจีนในการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา รูปแบบการ “ก้าวออก” ไปต่างประเทศของบริษัทจีนเริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าเป็นการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ และการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของบริษัทจีน
รายงานฯ พบว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2559 ลักษณะการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทจีนมีทิศทาง ดังนี้
– มูลค่าการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทเอกชนจีนแซงหน้ารัฐวิสาหกิจ โดยในครึ่งแรกของปี 2559 2 ใน 3 ของบริษัทที่มีมูลค่าการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุดอันดับ 20 แรกเป็นบริษัทเอกชน โดยหนึ่งในเหตุผลมาจากกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและความปลอดภัย ที่อาจมีความเข้มงวดสำหรับรัฐวิสาหกิจมากกว่าบริษัทเอกชน
– สาขาการลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของบริษัทที่มีมูลค่าการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศมากที่สุดอันดับ 20 แรก อยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกเหนือจากสาขาดังกล่าว บริษัทจีนให้ความสนใจในอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไฮเทค และสาขาบันเทิง
นักวิจัยมองว่า บริษัทจีนได้เปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนและมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยความเชี่ยวชาญในการผลิต และชื่อเสียงของบริษัททั้งในด้านการค้า สินค้า และบริการ
– บริษัทมีแนวโน้มลงทุนในยุโรปและอเมริกามากขึ้น บริษัทจีนให้ความสำคัญกับสินทรัพย์และบรรยากาศการลงทุนและดำเนินธุรกิจที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มเน้นการเข้าซื้อและควบรวมกิจการในยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น
บริษัท Snowman Co., Ltd. จากมณฑลฝูเจี้ยน เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัท Snowman ประกอบธุรกิจเครื่องทำน้ำแข็ง ต่อมา ได้ลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท SRM และบริษัท OPCOM ของประเทศสวีเดน และบริษัท RefComp ของประเทศอิตาลี ปัจจุบัน บริษัท Snowman มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีชื่อเสียงด้านการค้าและ และได้พัฒนาตนเองให้เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูงด้านการออกแบบและการผลิตคอมเพรสเซอร์และครองสัดส่วนตลาดเครื่องการผลิตน้ำแข็งอันดับที่ 1 ในทั่วโลก
รัฐบาลจีนสนับสนุนการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ
– ทางการจีนสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสำหรับบริษัทต่าง ๆ ควรมีการพัฒนาธุรกิจให้มีความทันสมัยและรองรับพัฒนาการด้านการค้าใหม่ ๆ และการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบริษัทและวิสาหกิจจีนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของลิขสิทธ์ เครื่องหมายทางการค้า เทคโนโลยี และฐานและข้อมูลการตลาด
– ทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ และกฎระเบียบการขออนุมัติเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ
– นโยบาย “1 แถบ 1 เส้นทาง” ส่งเสริมความร่วมมือรอบด้านระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ตามเส้นทาง ‘1 แถบ 1 เส้นทาง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ผลักดันความร่วมมือกับต่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า และการผลิต
– รัฐบาลจีนยังให้การสนับสนุนด้านการเงิน โดยได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมและธนาคาร AIIB เพื่อให้บริการการระดมเงินทุนในระหว่างการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจที่ต่างประเทศสำหรับบริษัทจีน นอกจากนี้ ในระดับรัฐบาลท้องถิ่นยังดำเนินนโยบายสนับสนุนบริษัทจีนที่ไปเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจที่ต่างประเทศ อาทิ รัฐบาลเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่งกำหนดว่าจะให้การอุดหนุนค่านายหน้าสำหรับการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศที่ร้อยละ 50 ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ล้านหยวนให้กับบริษัทจีนที่ตั้งอยู่ที่เขตไห่เตี้ยน
บริษัทจีนรายใหญ่เข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ
ในครึ่งแรกของปี 2559 การเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศของจีนมีมูลค่าถึง 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้ มีการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจ 24 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงบริษัทจีนรายใหญ่หลายราย อาทิ
บริษัท China National Chemical Corporation ได้ประกาศซื้อบริษัท Syngenta เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยเงินทุน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทจีน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ จากรัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ดี คาดว่าจะสำเร็จภายในปี 2560
บริษัท Tencent ลงทุน 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 86 ของบริษัท Supercell ของประเทศฟินแลนด์ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้บริษัท Tencent พัฒนาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเกมส์ออนไลน์ของโลก
บริษัท Haier ลงทุน 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเข้าซื้อกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของบริษัท General Electric Co. ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของบริษัท Haier ในการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ขึ้น
ความท้าทายและความเสี่ยงในการเข้าซื้อและควบรวมกิจการในต่างประเทศ
การทำความเข้าใจกฎระเบียบพาณิชย์ท้องถิ่น บริษัทจีนมักจะมองข้ามกฎระเบียบท้องถิ่น ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการประเมินมูลค่าและการชดเชยต่าง ๆ อาทิ การชดเชยลูกจ้าง ที่ลาออก
อัตราหนี้สินที่ค่อนข้างสูง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนนิยมเข้าซื้อธุรกิจสโมสรกีฬา ในต่างประเทศ อาทิ บริษัท Suning Group ซื้อหุ้นร้อยละ 70 ของ Football Club Internazionale Milano โดยมีมูลค่าการลงทุน 270 ล้านยูโร อย่างไรก็ดี ต้องแบกรับหนี้สินจำนวน 400 ล้านยูโรของสโมสรดังกล่าว
รายได้จากบริษัทจีนที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของต่างประเทศที่มีรายได้จากต่างประเทศถึงร้อยละ 50
ความห่วงกังวลของรัฐบาลท้องถิ่น เนื่องจากการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน รวมทั้งบริษัทจีนนิยมลงทุนซื้อเทคโนโลยีชั้นสูงจากบริษัทต่างประเทศอย่างเดียว ก็ได้สร้างความห่วงกังวลให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นว่าอาจทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศลดลง
คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
ผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการจีน ดังนี้
การวางแผนอย่างรอบคอบ บริษัทจีนควรวางแผนอย่างละเอียดและชัดเจนก่อนการ เข้าซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งบริษัท จีนสามารถใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความคุ้นเคยกับกฎหมายและสิ่งแวดล้อมได้
การรักษาความร่วมมือให้มั่นคง ภายหลังการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือและรักษาความร่วมมือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตต่อไป
วัฒนธรรมองค์กร การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ไม่เกิดความขัดแย้งในภายหลัง
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตนเพื่อให้มีชื่อเสียงในตลาดสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อไป
ท้ายสุดนี้ มีการวิเคราะห์แนวโน้มว่า บริษัทจีนจะให้ความสนใจกับบริษัทที่มีขนาดกลางมากกว่าและบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เป็นสาขาเจาะจง และจะมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้นเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มั่นคงในระยะยาว