การวิเคราะห์ราคาทุเรียนในนครเซี่ยงไฮ้
3 Jan 2019เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนหลักของไทยโดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นประเทศที่ริเริ่มการขายทุเรียนทางออนไลน์ ทำให้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับทุเรียนในจีนเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และกำหนดทิศทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในอนาคต ฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้มีการสำรวจราคาทุเรียนในนครเซี่ยงไฮ้ซึ่งแบ่งได้เป็นตลาดพรีเมี่ยม ตลาดระดับกลาง และร้านแฟรนไชส์ผลไม้ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับราคาทุเรียนหมอนทองเกรด A ณ ตลาดสี่มุมเมือง ระหว่างเดือน ม.ค. ปี ๒๕๕๘ ถึงเดือน ก.ค. ปี ๒๕๖๑ โดยคิดราคาทุเรียนเฉลี่ยในนครเซี่ยงไฮ้เป็นเงินบาทด้วยข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยรายเดือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเทียบกับข้อมูลปริมาณการส่งออกทุเรียนจากฐานข้อมูลกรมศุลกากร ได้ดังแสดงในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 เปรียบเทียบราคาทุเรียนที่นครเซี่ยงไฮ้และที่ตลาดสี่มุมเมือง
จากข้อมูลพบว่าราคาทุเรียนเฉลี่ยในเซี่ยงไฮ้ช่วงเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการส่งออกทุเรียน มาจีนเป็นปริมาณมากในปี 2558 และ 2559 คือ 182 และ 206 บาท/กก. ตามลำดับ ราคาสูงกว่าไทย ประมาณ 96 บาท/กก. ทั้งสองปี ส่วนราคาทุเรียนปี 2560 และ 2561 คือ 291 และ 305 บาท/กก. ตามลำดับ ราคาสูงกว่าในไทย 168 และ 180 บาท/กก. เห็นได้ว่าราคาทุเรียนในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี 2560 โดยในระยะเวลาสี่ปีราคาทุเรียนเฉลี่ยช่วงเดือนดังกล่าวที่เซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นร้อยละ 68
ภาพที่ 2 การบริโภคทุเรียนภายในประเทศ ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
จากรายงานสถานการณ์และแนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญปี 2561 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า การบริโภคทุเรียนในประเทศในปี 2559 คือ 86,230 ตัน (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างน้อย โดยเป็นผล มาจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อการติดดอกออกผลของทุเรียน และคาดว่า ปริมาณทุเรียนที่มีน้อยต่อเนื่องถึงปี 2560 เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทุเรียนที่เซี่ยงไฮ้สูงขึ้น สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น (ภาพที่ 3) คาดว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนส่งผลบ้างต่อราคาทุเรียนที่เซี่ยงไฮ้แต่ไม่มากนัก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเข้มงวด
ภาพที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าปี 2561 จะมีการบริโภคทุเรียน ภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.0 และมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาทุเรียนในเซี่ยงไฮ้ปี 2561 ณ ปัจจุบันยังคงสูงกว่าปี 2560 ทำให้เชื่อว่ามีปัจจัยอื่นที่ส่งผลอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของราคาที่เซี่ยงไฮ้ คำอธิบายที่เป็นไปได้ต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทุเรียนคือ ความต้องการทุเรียนในเซี่ยงไฮ้มีการขยายตัวมากกว่าความสามารถในการส่งออกของไทย ซึ่งอาจเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็วของจีนซึ่งมีจำนวนประชากรถึง 1,379 ล้านคน ดังเห็นได้จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ShangHai Municipal Commission of Commerce ที่ระบุว่าดัชนี PMI ของจีนในปี 2560 มีค่าเฉลี่ย 51.6 คะแนน มากกว่าปี 2559 จำนวน 1.3 คะแนน และการเติบโตของ GDP ตลอดทั้งปีคาดว่าจะเป็นร้อยละ 6.8
ภาพที่ 4 แนวโน้มราคาทุเรียน
นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มราคาทุเรียนเดือน เม.ย. – ก.ค. ระหว่างปี 2558-2561 จะพบว่าราคาทุเรียนในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 44 บาท ในขณะที่ราคาที่ตลาดสี่มุมเมืองเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 12 บาท แสดงให้เห็นว่าความต้องการทุเรียนในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้านำเข้าซึ่งมีราคาแพงตามสถานะทางเศรษฐกิจดีที่ดีขึ้น จะทำให้ราคาทุเรียนในเซี่ยงไฮ้สูงขึ้นตาม และยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่านอกเหนือจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้บริโภคในเซี่ยงไฮ้จะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนมากขึ้น ทางการไทยจึงควรพิจารณากลยุทธ์การนำเสนอทุเรียนสายพันธุ์อื่นสู่ตลาดระดับบนและการสร้างชื่อเสียงหรือแบรนด์ทุเรียน รวมถึงการควบคุมคุณภาพทุเรียนในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับผู้ส่งออกทุเรียนรายอื่นที่อาจจะเข้ามาในตลาดจีนในอนาคต เช่น ประเทศมาเลเซีย
จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำฮ่องกง เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2559 ประเทศมาเลเซียมีความพยายามนำทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีนอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2554 และได้มีการทำการตลาดเชิงรุกเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนมาเลเซีย เช่น การใช้สื่อโฆษณา และการจัดส่วนแสดงบนห้างสรรพสินค้าเพื่อนำเสนอทุเรียนมาเลเซียโดยเฉพาะ นอกจากนี้ทาง สคร. ฮ่องกงยังได้ให้ข้อสังเกตุว่าอาหารแปรรูปจากทุเรียนนั้นได้ราคาที่ดี ร้านอาหารยังนำเสนอว่าใช้ทุเรียนพันธุ์ Musang King ของมาเลเซียทำอาหารแปรรูป ซึ่งไทยสามารถนำเสนอทุเรียนที่สามารถแปรรูปเป็นอาหารคาวหรืออาหารหวานได้เช่นกัน
ภาพที่ 5 ราคาที่เกษตรกรขายได้
จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่สวนเฉลี่ยเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. ช่วง ปี 2558-2561 คือ 48, 70, 75, และ 79 บาท/กก. ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ในช่วงเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับราคาที่เพิ่มขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ แต่เมื่อเทียบราคาที่เกษตรกรขายได้และราคาที่เซี่ยงไฮ้จะเห็นได้ว่าส่วนต่างของราคาเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือผู้นำเข้าทุเรียนในจีนสามารถทำกำไรได้มาก เป็นเหตุจูงใจให้พยายามเพิ่มปริมาณทุเรียนนำเข้าเพื่อสร้างผลกำไร หากประเทศไทยไม่สามารถผลิตทุเรียนส่งออกได้อย่างเพียงพอความต้องการทุเรียนที่สูงขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้นำเข้าของจีนต้องการหาแหล่งสินค้าใหม่ ดังนั้นท่าทีของทางการจีนต่อทุเรียนสดจากมาเลเซียอาจเปลี่ยนแปลงไปหากความต้องการภายในจีนยังคงเติบโตในลักษณะดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
ปัจจุบันทุเรียนมาเลเซียที่เข้ามาในจีนมีปริมาณน้อยเพราะติดเงื่อนไขเรื่องสุขอนามัย ทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนคือพันธุ์ Musang King ซึ่งมีราคาแพงกว่าทุเรียนไทย และมีกลุ่มเป้าหมายคือตลาดบน อย่างไรก็ตาม หากมาเลเซียสามารถขออนุญาตส่งออกทุเรียนสดมาจีนได้สำเร็จ คาดว่าจะทำให้ราคาทุเรียนไทยในเซี่ยงไฮ้ลดลงเนื่องจากเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน และมาเลเซียมีแนวโน้มจะทำตลาดทุเรียนระดับกลางและระดับล่างดังเห็นได้จากสถานการณ์ราคาทุเรียนในมาเลเซียตกต่ำในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด
ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการทุเรียนในจีนมีมากขึ้นใน การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในระยะยาว แนวทางแรกรัฐบาลสามารถ สนับสนุนให้เกษตรกรสวนทุเรียนผลิตทุเรียนเกรดส่งออกเพื่อสร้างผลกำไรให้มากขึ้น และสร้างกลไกให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากที่สุดตามอำนาจต่อรองที่มีมากขึ้น แต่เกษตรกรจะถูกกดราคาจนขาดทุนหากผลผลิตล้นตลาดในอนาคต เพราะผู้ประกอบการจะไม่รับทราบถึงราคาต่่ำสุดที่เกษตรกรรับได้ ลักษณะเดียวกับการเพิ่มราคาหน้าสวนเมื่อสินค้าขาดตลาด ในทางกลับกัน แนวทางที่สอง รัฐบาลสามารถกำหนดมาตรฐานราคาและคุณภาพผลผลิตหน้าสวนโดยให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรและผู้ประกอบการพึงพอใจ ซึ่งคาดว่าเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการขยายตลาดและรับทราบถึงต้นทุนชาวสวน เป็นการป้องกันการกดราคาในอนาคตเพราะราคาผลผลิตไม่ผันผวนตามตลาด วิธีการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เพราะทุเรียนไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยต้องควบคุมมาตรฐานและกำหนดภาพลักษณ์สินค้าให้ผู้บริโภครับทราบ นอกจากนี้ ในอีกทางหนึ่งเกษตรกรยังสามารถเพิ่มรายได้ด้วยการรวมกลุ่มสหกรณ์ส่งออกเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการ
จัดทำโดย นายสิทธา เกตุประทุม สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
รูปภาพจาก: www.mypenang.gov.my