การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน และโอกาสความร่วมมือกับไทย
23 Feb 2023นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของจีน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (Carbon Emission Peak) ภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2060 ตั้งแต่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา จีนยึดมั่นแนวคิด “น้ำใสและเขาเขียวเปรียบเสมือนภูเขาเงินและทอง” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวคือ ธรรมชาติเป็นทรัพย์สินล้ำค่าและเป็นฐานรากสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติและสังคม และจีนจะมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสีเขียวทุกมิติอย่างรอบด้าน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพลังงาน การยกระดับอุตสาหกรรมและระบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดตลาดคาร์บอนระดับชาติ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนสีเขียว โรงเรียนสีเขียว และสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน เป็นต้น
ความมุ่งมั่นในการผลักดันการพัฒนาสีเขียวของจีน ทำให้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยในช่วง 10 ปี (2555 – 2565) จีนลงทุนงบประมาณกว่า 1 แสนล้านหยวนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 10 / ปริมาณการผลิตอุปกรณ์พลังงานสะอาดสูงเป็นอันดับแรกของโลก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่สูงเป็นอันดับแรกของโลกติดต่อกัน 8 ปี / ปริมาณการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565 ลดลงร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับปี 2555 เทียบเท่ากับการประหยัดพลังงานถ่านหินประมาณ 1.4 พันล้านตัน และการสร้างสวนสาธารณะในเขตเมืองเฉลี่ย 14.8 ตารางเมตรต่อคน การปลูกป่าเพิ่มขึ้น 6.77 ล้านเฮกตาร์ โดยมีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้ขยายพื้นที่ป่าไม้ใหม่ประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่ป่าไม้ใหม่ทั่วโลก
ฐานการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก solar cell ที่ใหญ่ที่สุดของจีน แต่เดิมมีพื้นที่ดินทรายคิดเป็นร้อยละ 98.5 ของพื้นที่ทั้งหมด
ที่ทะเลทรายทาลาชิงไห่ รวม 609 ตร.กม.
ในปี 2565 อุตสาหกรรมสีเขียวของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และวัสดุใหม่ อาทิ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7.06 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 97 / จำนวนแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.1 ล้านแห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.3 / ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจาก solar cell เพิ่มขึ้นกว่า 233 GW เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 และปริมาณการผลิตอุปกรณ์พลังงานใหม่ อาทิ กังหันลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 คิดเป็นร้อยละ 70 ของการผลิตส่วนประกอบของกังหันลมทั่วโลก ส่งเสริมให้จีนเป็นฐานการผลิตกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน และกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีนได้ร่วมประกาศ “สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาสีเขียวของจีนในยุคใหม่” โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และการส่งเสริมค่านิยมการดำเนินชีวิตที่ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ จีนได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม[1] (节能环保产业) การยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตที่สะอาดขึ้น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การให้บริการเทคโนโลยีด้านการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โดยมากกว่า 20 มณฑลของจีนได้เร่งการพัฒนาสีเขียวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง มณฑลไห่หนาน มณฑลเหอเป่ย และมณฑลเจียงซู ได้บรรจุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 ของมณฑล โดยระบุสาขาการพัฒนาหลัก ดังนี้
การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในมณฑลต่าง ๆ ของจีน
พื้นที่ภาคเหนือ | ปักกิ่ง | พลังงานไฮโดรเจน พลังงานลม ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ |
เทียนจิน | ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ วัสดุใหม่ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจน | |
เหอเป่ย | ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานใหม่ และยานยนต์ที่เชื่อมต่อระบบอัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles – ICV) | |
ลุ่มแม่น้ำฮวงโห | ซานตง | อุตสาหกรรมเคมีสีเขียว พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ สถาปัตยกรรมสีเขียว และการปกป้องสิ่งแวดล้อม |
เหอหนาน | วัสดุใหม่ การประหยัดพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม พลังงานใหม่ พลังงานไฮโดรเจน และการกักเก็บพลังงาน | |
ฉานซี | การรีไซเคิลขยะมูลฝอย พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และเคมีภัณฑ์ชั้นดี (fine chemical) | |
ซานซี | พลังงานใหม่ ยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า การใช้ถ่านหินอย่างสะอาดและมีประสิทธิภาพ | |
ชิงไห่ | พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุลิเธียม และการกักเก็บพลังงาน | |
มองโกเลียใน | พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ พลังงานไฮโดรเจน | |
แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี | เสฉวน | พลังงานแสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ วัสดุแร่ธาตุ Vanadium และ Titanium |
เจียงซู | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน พลังงานลม และการรีไซเคิลทรัพยากร | |
เซี่ยงไฮ้ | การประหยัดพลังงาน การเงินสีเขียว และการรีไซเคิลในนิคมอุตสาหกรรม | |
เจ้อเจียง | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม การประหยัดพลังงาน โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว และยานยนต์ไฟฟ้า | |
เจียงซี | พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ เกษตรอินทรีย์สีเขียว บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม | |
หูหนาน | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม การประหยัดพลังงาน และอาคารสีเขียว | |
หูเป่ย | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน พลังงานลม และการประหยัดพลังงาน | |
ฉงชิ่ง | พลังงานไฮโดรเจน พลังงานลม และการประหยัดพลังงาน | |
อานฮุย | พลังงานแสงอาทิตย์ การประหยัดพลังงาน การรีไซเคิลทรัพยากร และยานยนต์ไฟฟ้า | |
ชายฝั่งภาคใต้ | ฝูเจี้ยน | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทางทะเล วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า และป่าไม้ |
กวางตุ้ง | พลังงานแสงอาทิตย์ การกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ลิเธียม การรีไซเคิลทรัพยากร พลังงานลมทางทะเล ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และการเงินสีเขียว | |
กว่างซี | วัสดุใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ประหยัดพลังงาน | |
ไห่หนาน | พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และการสร้างพื้นที่ Blue Carbon [2] |
ภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน
มณฑลฝูเจี้ยนมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายภายใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาปี 2568 ครอบคลุมหลายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และอุตสาหกรรมป่าไม้ เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมให้สูงกว่า 500 GWh มูลค่าการผลิตของห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั้งหมดให้สูงกว่า 6 แสนล้านหยวน เพิ่มจำนวนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 560,000 คัน เพิ่มจำนวนสถานีชาร์จและสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วมณฑล มูลค่าของอุตสาหกรรมพลังงานใหม่สูงกว่า 1 แสนล้านหยวน และมูลค่าการผลิตทางอุตสาหกรรมการป่าไม้สูงกว่า 1.2 แสนล้านหยวน
ที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้มีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาสีเขียว การให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565 รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเร่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน (ปี 2565 – 2568) โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ อาทิ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และคมนาคม และภาคส่วนอื่น ๆ โดยมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ อาทิ การผลิตพลังงานฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า เรือยนต์ไฟฟ้า และเรือพลังงาน solar cell ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสียที่ล้ำสมัย และการก่อสร้างศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสีเขียวคาร์บอนต่ำของ Chinese Academy of Sciences ที่มณฑลฝูเจี้ยน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสีเขียวคาร์บอนต่ำ อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) โดยตั้งเป้าหมายการก่อสร้างโรงงานสีเขียว 150 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว 15 แห่งภายในปี 2568
(2) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเน้นการพัฒนาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงอุปกรณ์กักเก็บไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง ส่วนประกอบและวัสดุหลัก โดยตั้งเป้าหมายมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนสูงกว่า 5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มปริมาณยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงมากกว่า 4,000 คัน การสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมากกว่า 40 แห่งภายในปี 2568 นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะในภาคพลังงาน โดยเร่งการก่อสร้างโครงการนวัตกรรมพลังงานแบบครบวงจรที่เมืองเซี่ยเหมิน ฝูโจว เฉวียนโจว จางโจว หนานผิง และผิงถาน อาทิ การก่อสร้างเขตสาธิตนวัตกรรมอุตสาหกรรมพลังงานใหม่แห่งชาติที่เมืองเฉวียนโจว และศูนย์วิจัยวิศวกรรมแห่งชาติด้านการผลิต solar cell และชิ้นส่วนประกอบที่เมืองเซี่ยเหมิน ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตของฐานพลังงานลมนอกชายฝั่งของมณฑลให้สูงกว่า 4 ล้านกิโลวัตต์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าใหม่สูงกว่า 2 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ภายในปี 2568
(3) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาข้าว ผลไม้และผักออร์แกนิค และส่งเสริมการสร้างฟาร์มเชิงนิเวศ และผลิตภัณฑ์ GI อาทิ “น้ำดื่มภูเขาอู่อี๋ซาน” และ “ใบชากู่เถียนแดง” เพื่อส่งเสริม การสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน รวมทั้งการปรับปรุงแพลตฟอร์มการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายอัตราการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงกว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2568
(4) การส่งเสริมความตระหนักรู้ของประชาชนในการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรม/อาคารให้เอื้อต่อการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปรับวิถีการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและคาร์บอนต่ำ เช่น การใช้รถโดยสารประจำทาง รถไฟใต้ดิน ขี่จักรยานไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่นครฝูโจว โครงการฐานการผลิตฟิล์ม BOPLA ชีวภาพที่ย่อยสลายได้
ของบริษัท Xiamen Changsu Industry จำกัด
ศักยภาพด้านเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน
การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยนมีความก้าวหน้าจากปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ได้แก่
(1) ความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ มณฑลฝูเจี้ยนมีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมทั้งหมดกว่า 50.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของพื้นที่มณฑลทั้งหมด สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกัน 44 ปี และได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่สาธิตอารยธรรมเชิงนิเวศแห่งชาติแห่งแรกของจีนตามนโยบายการสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศวิทยาของจีน
(2) โครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่แข็งแกร่ง โดยมีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ อาทิ solar cell พลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานนิวเคลียร์ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2565 มณฑลฝูเจี้ยนมีสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั่วมณฑลคิดเป็นร้อยละ 58 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งมณฑล ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนได้รับการยกย่องให้เป็นมณฑลแห่งพลังงานสะอาดของจีน และตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed Capacity)[3] รวมกว่า 80 ล้านกิโลวัตต์ในมณฑลภายในปี 2568 นอกจากนั้น รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนยังส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดในภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่น เช่น เมืองซานหมิงซึ่งเป็นแหล่งผลิตหน่อไม้อบแห้งคุณภาพสูงของจีน ได้เปลี่ยนวิธีการอบแห้งผลิตภัณฑ์หน่อไม้จากการเผาไหม้เป็นการอบแห้งด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 15,000 ตันต่อปี
(3) วิสาหกิจชั้นนำ มณฑลฝูเจี้ยนเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีสีเขียว อาทิ บริษัท Fujian Longking จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรายใหญ่ที่สุดของมณฑลฝูเจี้ยน รวมถึงการให้บริการและเทคโนโลยีด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง การกำจัดขยะ มูลฝอย และการฟื้นฟูหน้าดินเพื่อการเกษตร โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมปี 2566 บริษัท Fujian Longking ได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา และนำเทคโนโลยีการกำจัดกำมะถันแบบแห้งที่อุณหภูมิสูง และเทคโนโลยีการกรองฝุ่นละอองและสารไนเตรตด้วยแผ่นเซรามิก มาทดลองใช้เป็นครั้งแรกเพื่อบำบัดก๊าซเสียจากอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นกระจก solar cell ของบริษัท Clenergy (Xiamen) Technology จำกัด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการกำจัดมลพิษจากฝุ่น ก๊าซ Sulfur dioxide / ก๊าซ Nitrogen Dioxide โลหะหนัก และมลพิษอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบทางเดินหายใจ ทำให้บริษัท Fujian Longking ได้ขึ้นเป็นวิสาหกิจประหยัดพลังงานสีเขียวระดับ A (ระดับสูงสุดของมณฑณลฝูเจี้ยน) และเทคโนโลยีดังกล่าวยังได้รับการรับรองจากสมาคมอุตสาหกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศจีน และประสบความสำเร็จในการนำไปใช้ในโครงการกำจัดมลพิษมากกว่า 20 โครงการในอุตสาหกรรมเตาหลอมแก้ว เตาเผาแก้วน้ำ หม้อต้มชีวมวล และเตาเผาปูนขาว ฯลฯ
นอกจากนี้ มณฑลฝูเจี้ยนยังมีวิสาหกิจการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพ อาทิ บริษัท Chengtun Mining Group จำกัด วิสาหกิจชั้นนำของเมืองเซี่ยเหมินด้านการพัฒนาวัสดุโลหะประเภทไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferous Metals) โดยเฉพาะทรัพยากรโลหะประเภทไม่ใช่เหล็กที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่พลังงานใหม่ อาทิ โลหะประเภทโคบอลต์ นิกเกิล คอปเปอร์ และสังกะสี / บริษัท Weiming Environment จำกัด ผู้พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะมูลฝอยชุมชนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศ และบริษัท Zijin Mining Group จำกัด ผู้พัฒนาเหมืองแร่ข้ามชาติขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีศักยภาพด้านการสำรวจและแปรรูปทองแดง ทอง สังกะสี และทรัพยากรแร่ของเมืองเซี่ยเหมิน และมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงกลางน้ำ
โครงการการบำบัดก๊าซอุตสาหกรรมจากการผลิตแผ่นกระจก โรงงานผลิตแผ่นกระจก solar cell ของบริษัท Clenergy
Solar cell ของบริษัท Fujian Longking จำกัด (Xiamen) Technology จำกัด
ปัจจุบัน เศรษฐกิจสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 43 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน ในจำนวนนี้ อุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าการผลิตกว่า 2.3 แสนล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล สูงเป็นอันดับ 10 ของประเทศ และเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจในอุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่า 320 แห่ง
เมืองที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยน พื้นที่สำคัญของการพัฒนาสีเขียวของมณฑลฝูเจี้ยนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยเหมิน นครฝูโจว เมืองจางโจว และเมืองหนิงเต๋อ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองเซี่ยเหมินมีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 7 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 43 ของอุตสาหกรรม การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งมณฑล
เมืองเซี่ยเหมิน นอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสะอาดและน่าอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของจีนแล้ว เมืองเซี่ยเหมินยังได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองสีเขียวและคาร์บอนต่ำที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 3 ของจีน ประจำปี 2565 รองจากเมืองเซินเจิ้น และกรุงปักกิ่ง โดยเซี่ยเหมินมีการวางผังเมืองที่เน้นการจัดสรรพื้นที่สีเขียวอย่างเหมาะสม โดยมีสวนสาธารณะต่อประชากร 1 คน เฉลี่ย 14.6 ตารางเมตร และมุ่งดำเนินการเพื่อลดปริมาณการปล่อยสิ่งปฏิกูลของเขตเมืองและการปล่อยคาร์บอนต่อหัวประชากร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดของเสียและสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทด้วย
ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เมืองเซี่ยเหมินเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และใช้เขตไห่ชางเป็นพื้นที่หลักในการดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจชิ้นส่วนแบตเตอรี่ไฟฟ้า พร้อมออกมาตรการและสิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน อาทิ การซื้อที่ดินและลดภาษีร้อยละ 20 ของรายได้นิติบุคคลของวิสาหกิจชิ้นส่วนแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และการให้เงินอุดหนุน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ และการใช้งานในฟังก์ชั่นต่าง ๆ เช่น รถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับสถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม การขนส่งภายในท่าเรือ รถทำความสะอาด เป็นต้น รวมทั้งเร่งเพิ่มอุปสงค์การซื้อยานยนต์ไฟฟ้าผ่านนโยบายการให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูงกว่า 300,000 หยวน จำนวน 3,000 หยวนต่อคัน
เส้นทางรถโดยสารประจำทางพลังงานไฮโดรเจนที่เมืองเซี่ยเหมิน ฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมของบริษัท CATL ที่เมืองเซี่ยเหมิน
ขณะที่เมืองเซี่ยเหมินยังมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม solar cell ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม solar cell ตั้งแต่กลางน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การผลิตผลึกซิลิคอนและอุปกรณ์ยึดแผงโซล่าเซลล์ โดย 3 พื้นที่ของเมืองเซี่ยเหมินได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ เขตไห่ชาง เขตถงอัน และเขตเสียงอัน และเมืองเซี่ยเหมินมีบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรม solar cell หลายบริษัท อาทิ บริษัท Clenergy (Xiamen) Technology จำกัด และบริษัท Serve (Xiamen) New Energy จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัทติดอันดับบริษัทผู้ผลิต solar cell ที่มีรายได้สูง 20 อันดับแรกของจีนประจำปี 2565 ขณะเดียวกัน บริษัท Xiamen Faratronic จำกัด ซึ่งมีบริษัทแม่ตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยเหมิน ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องกักเก็บพลังงาน solar cell ภายในประเทศถึงร้อยละ 60 และมีพันธมิตรสำคัญรวมถึงผู้ผลิตเครื่อง Inverter แปลงไฟจาก solar cell เช่น บริษัท Huawei และ Sungrow และบริษัท Xiamen Faratronic เร่งส่งเสริมการวิจัยเทคนิคด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก solar cell ประเภท perovskite[4] ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ solar cell ที่ทำจากซิลิคอนแบบดั้งเดิมแล้ว มีข้อได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพการแปลงพลังงานที่สูง มีต้นทุนต่ำกว่า น้ำหนักเบาแต่ทนทาน และมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่มีแสงน้อยได้ดี โดยปัจจุบัน ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตผลึกซิลิคอนของบริษัทชั้นนำอยู่ที่ประมาณ 1.6 หยวน และต้นทุนต่อหน่วยด้านเทคนิคอยู่ที่ประมาณ 1 หยวน ในขณะที่เทคโนโลยี perovskite สามารถลดต้นทุนต่อหน่วยได้เหลือประมาณ 0.5 – 0.6 หยวน
ท่าเรืออัจฉริยะสีเขียวที่เขตไห่ชาง เป็นท่าเรือแห่งแรกในมณฑลที่ใช้ระบบไฟฟ้าอย่างครบวงจร โดยพาหนะสัญจรในบริเวณท่าเรือล้วนใช้พลังงานไฟฟ้า และยังมีระบบผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับกริด solar cell สำหรับจ่ายไฟให้กับอาคารสำนักงาน และการใช้พลังงานโดยรวมของท่าเรือฯ ลดลงร้อยละ 36.5 และได้รับรางวัล “Asia-Pacific Green Port” โดย Asia-Pacific Port Service Organization (APSN) และรางวัล “China Green Port ระดับ 4 ดาว” โดยสมาคมท่าเรือแห่งชาติจีน
นครฝูโจว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุปกรณ์เครื่องจักร ชีวการแพทย์ วัสดุใหม่ และพลังงานใหม่ เพื่อเร่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสีเขียวของเมือง ในปี 2565 นครฝูโจวได้ประกาศแผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของนครฝูโจว (ปี 2565 – 2568) โดยเร่งการเปลี่ยนผ่านทั้งด้าน hardware อาทิ ระบบอุตสาหกรรม พลังงาน ระบบโลจิสติกส์และคมนาคม และ software อาทิ นโยบายด้านการเงิน และมาตรการการดึงดูดการลงทุน
ปัจจุบัน นครฝูโจวมีวิสาหกิจที่มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำ อาทิ บริษัท Hengshen Holding Group จำกัด ผู้วิจัยและผลิตสารเคมี เส้นใยเคมี วัสดุใหม่และพลังงานใหม่ชั้นนำของมณฑลฝูเจี้ยน ได้วิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบ food grade จากก๊าซเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และสร้างกำไรให้บริษัทมากกว่า 10 ล้านหยวนต่อปี และปัจจุบัน บริษัท Hengshen มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักด้านการผลิตพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงอุปกรณ์กักเก็บไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง ส่วนประกอบและวัสดุหลักของเซลล์เชื้อเพลิง
นอกจากนี้ นครฝูโจวยังเป็นหนึ่งในฐานการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของจีน โดยเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูชิง “หัวหลง-1” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของจีน และด้วยข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ในการเป็นที่ตั้งของช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ทะเลที่มีลมแรงที่สุดของจีน โดยเฉพาะเขตผิงถานเป็น 1 ใน 3 ช่องลม (wind gap) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีลักษณะความเร็วลมสูง คลื่นขนาดใหญ่ และกระแสน้ำเร็ว ฝูโจวได้กลายเป็นฐานการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่สำคัญของจีน โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งเขตผิงถาน 1.4 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตามปกติของ 700,000 ครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คนต่อปี
โครงการผลิตไฮโดรเจนของบริษัท Hengshen Holding โครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งเขตผิงถาน
Group จำกัดที่เขตฉางเล่อ
เมืองหนิงเต๋อ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเมืองหนิงเต๋อมุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การสำรวจและแปรรูปแร่ธาตุ ทองแดง ทอง สังกะสี และทรัพยากรโลหะอื่น ๆ ที่มีมลพิษสูงสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนระดับโลก
เมืองหนิงเต๋อเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจยานยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำจำนวนหลายราย อาทิ บริษัท SAIC Motor Group เมืองหนิงเต๋อ จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลฝูเจี้ยน และบริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ระดับโลก โดยในปี 2565 บริษัท CATL ได้เปิดตัวแบตเตอรี่ฉีหลิน (Qilin) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ CTP รุ่นที่ 3 ของบริษัท ประสิทธิภาพความจุทำลายสถิติที่ร้อยละ 72 และความหนาแน่นของพลังงานสูงสุดถึง 255 Wh/kg และสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า 1,000 กม. ทำให้แบตเตอรี่รุ่นนี้กลายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงของวงการแบตเตอรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน ปัจจุบันมีวิสาหกิจยานยนต์ 2 รายได้เริ่มใช้แบตเตอรี่รุ่นนี้ ได้แก่ ZEEKR 001 และ SERES AITO ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของเมืองหนิงเต๋อมีมูลค่าการผลิตกว่า 2.75 แสนล้านหยวน ขณะที่เมืองหนิงเต๋อได้พัฒนาเป็นหนึ่งใน “ฐานการผลิตสแตนเลส” ที่สำคัญของโลกด้วยการขับเคลื่อนของบริษัท Tsingtuo Group จำกัด ผู้ผลิตสแตนเลสซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ มีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณการผลิตสแตนเลสทั่วโลก และรัฐบาลหนิงเต๋อตั้งเป้าหมายมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนให้ได้สูงกว่า 3.6 แสนล้านหยวน และวัสดุสแตนเลสใหม่ 2.3 แสนล้านหยวน ภายในปี 2566
โรงงานผลิตแบตเตอรี่ฉีหลินของบริษัท CATL แบตเตอรี่ฉีหลิน รถยนต์ไฟฟ้า ZEEKR 001 ที่ไช้แบตเตอรี่ฉีหลิน
โดยสรุป การพัฒนาสีเขียวกลายเป็นโมเดลการพัฒนาใหม่ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนพลังงานที่หลายประเทศกำลังเผชิญในปัจจุบัน จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มุ่งปรับกระบวนทัศน์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพ และยั่งยืน โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมครอบคลุมทุกมิติ เร่งส่งเสริมการบูรณาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับระบบดิจิทัล Big data และ AI เพื่อยกระดับโครงสร้างพลังงาน และการบำบัดของเสียและการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในระดับมณฑลนั้น มณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจากปัจจัยส่งเสริมด้านระบบนิเวศและทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุใหม่ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการปรับโครงสร้างสังคมให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งมณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชั้นนำในสาขาที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพในการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสีเขียวที่แข็งแกร่งระดับต้น ๆ ของจีน
การพัฒนาสีเขียวของจีนสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติและการอนุรักษ์ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน รวมทั้งวิสาหกิจรายใหญ่ที่มีศักยภาพในด้านพลังงาน และวิสาหกิจในสาขาที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ไทยจึงควรติดตามนโยบายและแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของจีนและระดับท้องถิ่นของมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อสำรวจโอกาสด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมสีเขียวของไทยในอนาคตต่อไป
* * * * * * * * * *
แหล่งที่มา
http://www.ce.cn/xwzx/gnsz/gdxw/202301/28/t20230128_38362362.shtml
http://www.gov.cn/zhengce/2023-01/19/content_5737923.htm
https://www.spb.gov.cn/gjyzj/c100200/202107/34c2f7585cfc462ab24e6f79fce7f50b.shtml
https://www.cnr.cn/fj/yw/20220828/t20220828_525989762.shtml
https://fgw.fujian.gov.cn/zwgk/fgzd/szcfg/202209/t20220909_5989866.htm
http://fjnews.fjsen.com/2022-09/02/content_31122283.htm
https://new.qq.com/rain/a/20220828A00SSW00
http://fj.people.com.cn/n2/2022/1122/c181466-40204242.html
http://fj.people.com.cn/n2/2023/0112/c181466-40263745.html
http://m.gxfin.com/article/finance/xw/default/2022-12-23/5918897.html
http://www.caam.org.cn/chn/40/cate_93/con_5236541.html
https://www.163.com/dy/article/H1FR6OKG0514R9KQ.html
http://fjnews.fjsen.com/2021-07/29/content_30797829.htm
http://www.taihainet.com/news/fujian/gcdt/2022-10-10/2656007.html
https://www.ningde.gov.cn/zwgk/gzdt/jryw/202201/t20220124_1585760.htm
http://www.fuzhou.gov.cn/zgfzzt/shbj/zz/hjzc/202212/t20221203_4479126.htm
http://www.longking.com.cn/qy_news/534.html
https://new.qq.com/rain/a/20221025A06JMX00
https://www.solidwaste.com.cn/news/338028.html
https://www.chang-su.com.cn/aboutInfo.aspx
https://finance.sina.com.cn/tech/roll/2023-01-11/doc-imxzutfr8915900.shtml
https://fj.sina.cn/news/2022-08-25/detail-imizirav9623314.d.html?vt=4&cid=56302&node_id=56302
[1] อุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม (节能环保产业) ครอบคลุมหลากหลายสาขาการผลิต อาทิ (1) การผลิตอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน (2) การผลิตวัสดุก่อสร้างสีเขียว รวมถึงวัสดุผนังและฉนวนผนัง กระจก และผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสีเขียวอื่น ๆ (3) การผลิตอุปกรณ์เพื่อการรีไซเคิล อาทิ การรีไซเคิลซากอิฐหรือของเสียจากการก่อสร้างอาคารและถนน และรีไซเคิลขยะในครัวเรือน และ (5) การควบคุมมลพิษ อาทิ การควบคุมฝุ่นในเมือง
[2] Blue Carbon คาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยพื้นที่ Blue Carbon หรือระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเลมีประโยชน์ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กักเก็บไว้ในใต้ดิน ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
[3] กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งหมายถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่โรงไฟฟ้าสามารถผลิตได้
[4] แร่ Perovskite ประกอบด้วยตะกั่วหรือดีบุกกับเฮไลด์ สามารถผสมกับสารละลายเพื่อแปรรูปทำเป็น solar cell ได้ด้วยการพิมพ์สามมิติ