การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน และโอกาสการความร่วมมือกับไทย
23 Feb 2023ปัจจุบัน หลายประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลเพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่เหมาะสม โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลขนาดใหญ่ของโลก ด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ ลักษณะภูมิประเทศของจีนที่มีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 18,000 กม. ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมทางทะเลที่แข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรมทางทะเลที่สำคัญแบ่งเป็นการท่องเที่ยวทางทะเล (ร้อยละ 44.9 ของรายได้จากอุตสาหกรรมทางทะเลทั้งหมด) การขนส่ง/โลจิสติกส์ (ร้อยละ 21.9) การประมง (ร้อยละ 15.6) และวิศวกรรมทางทะเล (ร้อยละ 4.2) โดยจีนมีความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมทางทะเลสูง เช่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของโลก มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบสื่อสารไร้สายใต้ทะเลด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ตลอดจนการขนส่งทางทะเลที่เชื่อมโยงกับ 142 ประเทศทั่วโลก และปริมาณการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือชายฝั่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2564 เศรษฐกิจทางทะเลของจีนมีมูลค่าสูงกว่า 9 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศ
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านการประมง การท่องเที่ยวทางทะเล และการขนส่งทางทะเลทั่วโลกต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเลของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยส่งเสริมด้านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของรัฐบาลจีน และการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติชี้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจทางทะเลของจีนมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในจำนวนนี้ อุตสาหกรรมการเดินเรือแบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ขณะปริมาณการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือชายฝั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ส่งผลให้การค้าทางทะเลของจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่ารวมของการนำเข้าและส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ทางทะเลของจีนมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2564 ร้อยละ 57.7 ของวิสาหกิจในสาขาอุตสาหกรรมทางเกิดใหม่ทางทะเล สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นโยบายเศรษฐกิจทางทะเลของจีน
ตั้งแต่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำว่าจีนต้องเร่งการพัฒนาท่าเรือชั้นนำระดับโลก การส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมทางทะเลที่ทันสมัยและครบวงจร และการสร้างสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทางทะเลที่ยั่งยืน เพื่อสร้างจีนให้เป็นประเทศแข็งแกร่งทางทะเลชั้นนำของโลก โดยในช่วงการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ประธานาธิบดีสีฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล การปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจทางทะเลของจีน
ปัจจุบัน เศรษฐกิจทางทะเลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) และเป้าหมาย ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) ของจีน ในการพัฒนาจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ โดยมุ่งดำเนินมาตรการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
(1) การสร้างระบบอุตสาหกรรมทางทะเลที่ทันสมัย โดยเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักด้านวิศวกรรมทางทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสิ่งแวดล้อมทางทะเล การแพทย์หรือการผลิตยาจาก สิ่งชีวภาพจากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล การส่งเสริมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล (desalination) และการประยุกต์ใช้พลังงานทางทะเล รวมทั้งในปริมาณมาก และการยกระดับการพัฒนาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล รวมทั้งการปรับโครงสร้างของการสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งที่ยั่งยืน การสร้างเขตสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่มีลักษณะเฉพาะที่แถบเศรษฐกิจทางทะเลที่สำคัญในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ของจีน และกระชับความร่วมมือทางทะเลกับต่างประเทศเพื่อเปิดกว้างสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น
(2) การสร้างระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ยั่งยืน โดยเน้นการการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเลและชายฝั่ง และเร่งการสร้างกลไกการป้องกันและควบคุมมลพิษบริเวณลุ่มแม่น้ำ-ปากแม่น้ำ-ใกล้ชายฝั่ง เพื่อจำกัดยอดปริมาณ การปล่อยมลพิษลงสู่ทะเล รวมทั้งยกระดับความสามารถในการแก้ไขภัยพิบัติทางธรรมชาติทางทะเลและเหตุฉุกเฉิน ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การรั่วไหลของน้ำมันในทะเล และการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย
(3) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลกับต่างประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลไกการกำกับดูแลมหาสมุทรระหว่างประเทศและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกระชับความร่วมมือกับประเทศชายฝั่งในด้านต่าง ๆ อาทิ การตรวจสอบและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และการประเมินทรัพยากรใต้ท้องทะเล
ทั้งนี้ ปัจจุบันมณฑลชายฝั่งของจีนได้เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยมณฑลชายฝั่ง 11 แห่ง ของจีน อาทิ มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง มณฑลไห่หนาน มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเหอเป่ย และมณฑลเจียงซู เป็นต้น ได้บรรจุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 ของมณฑล เพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น
ภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน
เศรษฐกิจทางทะเลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยตั้งเป้าหมายปี 2568 อาทิ การเพิ่มอัตราการเติบโตของมูลค่าการผลิตทางทะเลสูงกว่าร้อยละ 8 ปริมาณการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือในมณฑลให้สูงกว่า 700 ล้านตัน และ 21.5 ล้านตู้มาตรฐานตามลำดับ การก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 10,000 ตันใหม่ 30 ท่า การเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลใหม่ 5 เส้นทาง ปริมาณผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต่อหัวสูงกว่า 220 กิโลกรัม รายได้ต่อหัวของชาวประมงไม่ต่ำกว่า 30,000 หยวน และปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นกว่า 10.3 ล้านกิโลวัตต์
ที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้มีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเศรษฐกิจทางทะเล การให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางทะเลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยในปี 2565 รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเร่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลคุณภาพสูง (ปี 2565 – 2578) โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล นวัตกรรมทางเทคโนโลยีทางทะเล การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลกับต่างประเทศ การพัฒนากลไกการบริหารจัดการทางทะเลและสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทางทะเลให้มีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับมณฑลชายฝั่งแนวหน้าของประเทศ ภายในปี 2578
(2) ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน 2 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการท่องเที่ยวทางทะเล คลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 แสนล้านหยวน 4 สาขา ได้แก่ การประมงสมัยใหม่ การขนส่งทางทะเล ข้อมูลทางทะเล และการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำมันในถ้ำใต้ทะเล และการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 หมื่นล้านหยวน ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ทางทะเล อุตสาหกรรมวิศวกรรมทางทะเล พลังงานทางเลือก และวัสดุใหม่ รวมถึงมุ่งเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อก่อสร้างระบบอุตสาหกรรมทางทะเลที่ทันสมัยของมณฑลฝูเจี้ยนภายในปี 2568
(3) การสร้างคลัสเตอร์ท่าเรือที่ทันสมัยและอัจฉริยะชั้นหนึ่งระดับโลก โดยส่งเสริมการพัฒนาเขตสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติจำนวน 2 แห่งที่นครฝูโจวและเมืองเซี่ยเหมิน และอำเภอสาธิตการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลจำนวน 3 แห่งที่อำเภอจิ้นเจียง อำเภอจาวอานและอำเภอตงซาน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเรือประมงมหาสมุทรน้ำลึก 40 ลำ ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในสาขาการประมงมากกว่า 600,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนยังเร่งการพัฒนาเมืองเซี่ยเหมินให้เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ชายฝั่งทะเลที่สำคัญ โดยมุ่งพัฒนาให้เป็น Ocean City ที่มีความแข็งแกร่งและมีอัตลักษณ์ของจีน
(4) การดำเนินโครงการ “วิศวกรรมทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอัจริยะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล อาทิ การกำจัดขยะทางทะล การป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีสู่ทะเล เทคโนโลยีการแจ้งเตือนและกู้ภัยฉุกเฉินทางทะเล การก่อสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง และการผลิตผลิตภัณฑ์ทางทะเล เพื่อพัฒนามณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลสาธิตมาตรฐานแห่งอารยธรรมระบบนิเวศทางทะเลของจีน
นิคมอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของจีนที่นครฝูโจว ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่เมืองจางโจว
ศักยภาพด้านเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน
ในปี 2564 เศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่า 1.15 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 24 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล สูงเป็นอันดับ 3 ของจีนติดต่อกัน 7 ปี รองจากมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลซานตง และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 1 ของจีนเป็นเวลาหลายปี อุตสาหกรรมทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นครฝูโจวและเมืองเซี่ยเหมิน โดยเศรษฐกิจทางทะเลของนครฝูโจวมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล หรือคิดเป็นร้อยละ 3.3 ของมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของประเทศ ขณะที่เมืองเซี่ยเหมินเป็น 1 ใน 14 เมืองกลุ่มแรกของจีนที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติ มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) โดยในปี 2564 เศรษฐกิจทางทะเลของเมืองเซี่ยเหมินมีมูลค่าการผลิต 1.65 แสนล้านหยวน และปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน 12 ล้านตู้มาตรฐาน สูงเป็นอันดับ 7 ของจีน และอันดับ 13 ของโลก
เศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนเติบโตจากปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ (1) ลักษณะภูมิประเทศ มณฑลฝูเจี้ยนมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,000 กม. และพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 3 ล้าน ตร. กม. ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนเป็นเเหล่งประมงที่สำคัญและมณฑลแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลชั้นนำของจีน (2) ระบบนิเวศอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล โดยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมทางทะเลแบบดั้งเดิม อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงนอกชายฝั่ง ปริมาณผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลเกิดใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และพลังงานใหม่ นอกจากนี้ มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยทางทะเลจำนวนมาก อาทิ สถาบันวิจัยมหาสมุทรที่ 3 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์วิจัยมหาสมุทรภาคใต้ของจีน ศูนย์ความร่วมมือมหาสมุทรจีน-อาเซียน และศูนย์การพัฒนาที่ยั่งยืนทางทะเลของ APEC (3) วิสาหกิจชั้นนำ มณฑลฝูเจี้ยนเป็นที่ตั้งของบริษัทอุตสาหกรรมทางทะเลชั้นนำ อาทิ บริษัท Fujian Hongdong Holding จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการทำประมงนอกชายฝั่งชั้นนำของมณฑลฝูเจี้ยน บริษัท Fujian Wanhong Ocean Bio-Tech จำกัด ผู้ผลิตเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล แปรรูปสัตว์น้ำ และระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) ของการขนส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแบบครบวงจร และบริษัท SIJIA Group จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนากรรมวิธีในการสกัด สารคอนดรอยตินซัลเฟตจากกระดูกอ่อนของปลาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสารคอนดรอยตินซัลเฟตเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตยารักษาโรคกระดูกและข้อ โดยส่วนใหญ่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสเปน (4) ความพร้อมด้านบุคลากร มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลชายฝั่งที่เป็นต้นแบบของการส่งเสริมการศึกษาเศรษฐกิจทางทะเลของจีน โดยมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านสมุทรศาสตร์ 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษา Quanzhou Ocean และวิทยาลัยอาชีวศึกษา Xiamen Ocean และมหาวิทยาลัยจำนวนมากในมณฑลมีการเปิดเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางทะเล อาทิ มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน มหาวิทยาลัยจี๋เหม่ย มหาวิทยาลัยฝูโจว และมหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้ฝูเจี้ยน โดยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินมีชื่อเสียงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก Ocean University of China ของมณฑลซานตง นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนมีแผนที่จะก่อสร้างมหาวิทยาลัยด้านสมุทรศาสตร์ใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัย Ocean Fujian ที่นครฝูโจวและมหาวิทยาลัย Ocean Engineering ที่เมืองเซี่ยเหมิน
เมืองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน
นครฝูโจว เป็นหนึ่งในฐานการประมงขนาดใหญ่ของจีน และเขตสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติ โดยปริมาณผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสูงกว่า 2.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งมณฑล และมีปริมาณการทำประมงนอกชายฝั่งของนครฝูโจวคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการประมงนอกชายฝั่งของมณฑล ปัจจุบัน ฝูโจวเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจด้านการเพาะเลี้ยงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำกว่า 3,607 ราย และวิสาหกิจประมงนอกชายฝั่ง 13 ราย มีเรือทำประมงนอกชายฝั่ง 450 ลำ ซึ่งสามารถทำการประมงนอกชายฝั่งในทะเลหลวงของ 3 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติก รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศชายฝั่งกว่า 20 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา กินี และมอริเตเนีย และได้มีการจัดตั้งฐานการประมงนอกชายฝั่งแบบครบวงจรรวม 9 แห่ง และฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในต่างประเทศ 5 แห่ง ในภูมิภาคอาเซียนและแอฟริกา
นครฝูโจวยังเป็นตลาดการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมากกว่า 300 ชนิดจากทั่วโลก อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าสูงกว่า 3 หมื่นล้านหยวนต่อปี และเขตการค้าเสรีฝูโจวได้จัดตั้งศูนย์การแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจีน-อาเซียน ใกล้กับท่าเรือหมาเหว่ย ซึ่งเป็นท่าเรือประมงที่เชื่อมต่อกับตลาดสินค้าสัตว์น้ำหลักของมณฑล โดยได้ดึงดูดวิสาหกิจด้านการผลิต การแปรรูป และการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากจีนและอาเซียนมาจัดตั้งสำนักงานสาขาจำนวนมาก ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์ประมงนอกชายฝั่งจากอาเซียนผ่านเข้าสู่ตลาดจีนทางนครฝูโจว นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการประมงกับต่างประเทศ โดยนครฝูโจวมีการจัดงานนิทรรศการแสดงสินค้าประมงนานาชาติ (ฝูโจว) ของจีน เป็นประจำ ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเกษตรและประมงกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก BRI และอาเซียน
ศูนย์การค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระหว่างประเทศฝูโจว ศูนย์การแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจีน-อาเซียน
งานแสดงสินค้าประมงนานาชาติ (ฝูโจว) ของจีน ฐานทำการประมงนอกชายฝั่งแห่งชาติ
เมืองเซี่ยเหมิน เมืองเซี่ยเหมินตั้งเป้าหมายจะพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่ง และศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจทางทะเลที่มีลักษณะสากลภายในปี 2578 ปัจจุบัน รัฐบาลเซี่ยเหมินให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ทางทะเล ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่าการผลิตกว่า 6.4 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ นิคมอุตสาหกรรมทางทะเลที่ใช้เทคโยโลยีขั้นสูงที่เขตเสียงอัน โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัสดุใหม่ ข้อมูลและดิจิทัล การประมงและการเพาะพันธุ์ อาทิ การวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมปลาที่มีคุณภาพเนื้อปลาดี ปริมาณการผลิตสูง โรคน้อย และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและยกระดับการผลิตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน เมืองเซี่ยเหมินเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลที่มีศักยภาพ อาทิ บริษัท Xiamen Blue Bay Science & Technology จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารพอลิแซ็กคาไรด์จากสาหร่ายทะเลมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท Xiamen Huison Biotech จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันสาหร่าย DHA /บริษัท Xiamen Kingdomway Group จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสารสกัดในทะเล และบริษัท Zeesan Biotech จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพทางทะเล นอกจากนี้ รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินยังส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันสมุทรศาสตร์แห่งที่ 3 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเคมีปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สกัดสารจากเปลือกกุ้งและปูทะเล ซึ่งมีการจำหน่ายไปยังกว่า 200 เมืองทั่วประเทศ
เมืองจางโจว ตั้งเป้าหมายการสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยรัฐบาลจางโจวร่วมมือกับบริษัท China Three Gorges Corporation (CTG) ซึ่งเป็นวิสาหกิจสาขาการพัฒนาพลังงานน้ำและผลิตพลังงานสะอาดรายใหญ่ของจีนและบริษัท Mingyang Smart Energy Group จำกัด วิสาหกิจด้านการพัฒนากังหันลมสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าชั้นนำของจีน แบ่งเป็นการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งด้วยเงินทุน 3 หมื่นล้านหยวน และฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในจีนด้วยเงินทุน 1.2 พันล้านหยวน คาดว่าภายหลังการสร้างเสร็จสิ้น สวนอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งจะสร้างรายได้กว่า 3 หมื่นล้านหยวนต่อปี นอกจากนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (ปี 2565 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยนได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของเมืองจางโจวให้สูงกว่า 50 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 2568 ปัจจุบัน มณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลแห่งอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานสะอาดสะสมสูงกว่า 69.8 ล้านกิโลวัตต์ ในจำนวนนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานลมสูงกว่า 40.5 ล้านกิโลวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 58 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของมณฑลฝูเจี้ยน นอกจากนี้ รัฐบาลฝูเจี้ยนกำลังเดินหน้าการพัฒนาฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในเมืองต่าง ๆ ในมณฑล อาทิ ฝูโจว หนิงเต๋อ ผู่เถียน จางโจว และผิงถานอย่างต่อเนื่อง
โดยสรุป ปัจจุบันจีนเร่งพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่มีความแข็งแกร่งในทุกมิติครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทรทั้งที่อยู่บนน้ำและใต้น้ำ อาทิ การประมงหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำ การต่อและซ่อมบำรุงเรือ การขนส่งและโลจิสติกส์ทางทะเล การท่องเที่ยว ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง โดยเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพการเติบโตสูงจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมทางทะเลดั้งเดิมและเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลเกิดใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และพลังงานใหม่ อีกทั้งมณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยทางทะเลที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และมีวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพในการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางทะเลที่แข็งแกร่งระดับต้น ๆ ของจีน สำหรับไทยมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาและสร้างความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น จึงควรติดตามแนวโน้มการพัฒนาและศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (best practices) ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยเฉพาะการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล วิศวกรรมทางทะเล ตลอดจนความร่วมมือด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวทางทะเล รวมทั้งการบ่มเพาะวิสาหกิจ MSMEs และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรผ่านการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาหรือบริษัทรายใหญ่ที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของไทยในอนาคตต่อไป
* * * * * * * * * *