การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน และโอกาสความร่วมมือกับไทย
12 Jun 2023นโยบายเกษตรอัจฉริยะของจีน
ปัจจุบัน หลายประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรที่เหมาะสม ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาเครื่องจักรกล ระบบประมวลผล วิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบที่ทันสมัย และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและยกระดับการเกษตรแม่นยำ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะที่ล้ำสมัยเพื่อรองรับความต้องการการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ภายในประเทศร้อยละ 17 และเพื่อการส่งออกร้อยละ 3 โดยอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นกุญแจไขความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ พื้นที่ทางการเกษตร 740 ล้านไร่ ปริมาณผลิตผลทางการเกษตรกว่า 1.37 ล้านล้านกิโล มูลค่าการผลิตขั้นปฐมภูมิประมาณ 8.83 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศ และจำนวนวิสาหกิจเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงจำนวนมาก
สมาร์ทฟาร์มเจี้ยนซานเจียง บนพื้นที่ 700,000 ไร่ที่มณฑลเฮอหลงเจียง เป็นสมาร์ทฟาร์มที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของจีน
ซึ่งบริหารจัดการด้วยระบบอัจฉริยะคิดเป็นร้อยละ 99 โดยเฉลี่ยใช้บุคลากรประมาณ 20 คน บริหารจัดการพื้นที่ปลูกมากกว่าหลายหมื่นไร่
ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำถึงความสำคัญของการพาจีนไปสู่การพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทางการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างจีนให้เป็นประเทศแข็งแกร่งทางการเกษตรชั้นนำของโลก โดยเกษตรอัจฉริยะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) และวิสัยทัศน์ปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) ของจีน ในการสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่และมีความทันสมัยใหม่ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงกว่าร้อยละ 64 ภายในปี 2568
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกษตรอัจฉริยะของจีนได้เติบโตรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากวิสาหกิจอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba / Tencent NetEase / Huawei / JD และ Baidu เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจด้านเกษตรอัจฉริยะของจีนและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับฐานข้อมูลด้านการเกษตรแล้ว ยังมีบริษัทต่างชาติอย่าง เครือ CP ของไทยซึ่งมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรในหลายมณฑลของจีนอยู่แล้ว มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมผ่านการก่อสร้างสวนนิคมอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรประมาณ 100 แห่งทั่วจีน ภายในปี 2023 และบริษัท Cargill ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรทั้งการผลิตและซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการลงทุนด้านการเกษตรในจีนและนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI Big Data มาใช้ในกระบวนการการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วย
ขณะที่มณฑลต่าง ๆ ของจีนได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลจีนกลาง โดยเร่งการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุเป้าหมายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ฉบับที่ 14 ของมณฑล และกำหนดจุดเน้นนโยบายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะที่สำคัญของมณฑลต่าง ๆ ดังนี้
จุดเน้นนโยบายการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะในมณฑลต่าง ๆ ของจีน
เฮอหลงเจียง | “แผนพัฒนาเกษตรดิจิทัลปี 2562 – 2568” อาทิ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Digital Twin AI และ ระบบ Machine Learning ในการตรวจสอบและเพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยระบบวิดีโอแจ้งเตือนที่มีคุณภาพสูง รวมถึงควบคุมได้ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล |
ฉงชิ่ง | “แผนพัฒนาสมาร์ทฟาร์มของนครฉงชิ่ง” โดยตั้งเป้าหมายการก่อสร้างสมาร์ทฟาร์มมากกว่า 200 แห่ง ในปี 2566 และเน้นการใช้รถแทรกเตอร์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ AI และโดรนในการดูแลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต |
เสฉวน | “แผนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรมณฑลเสฉวน” เน้นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะที่ใช้ Big Data / Next Generation ICT และ AI ในการวิเคราะห์แปลงพืช การเก็บข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมการเพาะปลูก |
เหอเป่ย | “แผนปฏิบัติการพิเศษเพื่อการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของมณฑลเหอเป่ย (ปี 2563 – 2568)” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเพาะปลูกอัจฉริยะที่ใช้รถแทรกเตอร์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ AI และโดรนในการควบคุมระยะไกล เช่น การให้ปุ๋ย การให้น้ำ การให้ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อเร่งส่งเสริมเกษตรดิจิทัล |
ซานตง | “แผนพัฒนาเกษตรดิจิทัลของมณฑลซานตง (ปี 2565 – 2568)” โดยเน้นการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์การวิจัย และฐานสาธิตการผลิตเกษตรอัจฉริยะหลายแห่ง เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร |
เหอหนาน | “มณฑลเหอหนานเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างหมู่บ้านดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่” โดยเร่งส่งเสริมการใช้ Blockchain IoT Big Data และ AI เพื่อการเกษตรอัจฉริยะและการสร้างหมู่บ้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มอุปทานสินค้าเกษตร และสร้างความมั่นคงทางอาหารของผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะ ในกลุ่มธัญพืช และสินค้าปศุสัตว์ |
ยูนนาน | “การเร่งส่งเสริมการก่อสร้างหมู่บ้านดิจิทัลของมณฑลยูนนาน” โดยเน้นการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลด้านเกษตรกรรมและชนบทของมณฑล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างอัจฉริยะ และ เร่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้ Cloud Computing IoT Big Data และ AI ครอบคลุมทั้งกระบวนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง การผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างต่อเนื่อง |
เจียงซี | “แผนพัฒนาเกษตอัจฉริยะ “123+N” มณฑลเจียงซี” โดยเน้นการส่งเสริม (1) การสร้างศูนย์ข้อมูลการเกษตรของมณฑลเจียงซี (2) การสร้างศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร และ (3) การสร้างแพลตฟอร์ม IoT ทางการเกษตร และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร + N คือ การสร้างระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตร |
ฝูเจี้ยน | “แผนพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ (Advance Agricultural and Rural Modernization) ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยน” ส่งเสริมการใช้ Big Data IoT Cloud Computing ระบบดาวเทียม และ AI ในการพัฒนาเกษตรดิจิทัลในพื้นที่ชนบท โดยการจัดตั้งศูนย์อบรมเชิงเทคนิคแก่ประชาชนในเขตชนบท เช่น ห้องเรียนด้านอีคอมเมิร์ช และห้องเรียนด้านเกษตรดิจิทัล เป็นต้น และก่อสร้างฐานการผลิตเกษตรอัจฉริยะมากกว่า 300 แห่งทั่วมณฑลภายในปี 2568 |
เซี่ยงไฮ้ | “เซี่ยงไฮ้ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ (ปี 2564 – 2068)” โดยเน้นการใช้ Cloud Computing IoT Big Data AR/VR และ AI ในการสร้างฐานการผลิตเกษตรอัจฉริยะ อาทิ การสร้างฟาร์มผักและผลไม้อัจฉริยะแบบไร้คน 42,000 ไร่ และฐานการผลิตเกษตรสีเขียว 20,000 ไร่ ภายในปี 2568 |
ภาพรวมนโยบายเกษตรอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน
ที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนพัฒนาเกษตร ขั้นสูงและชนบทสมัยใหม่ ฉบับที่ 14 (ปี พ.ศ. 2564 – 2568) ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวางระบบเกษตรดิจิทัล การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Blockchain IT 5G Big Data IoT Cloud Computing ระบบดาวเทียม และ AI ในภาคเกษตรกรรมรวมทั้งในพื้นที่ชนบท การก่อสร้างสมาร์ทฟาร์มและฐานการผลิตเกษตรอัจฉริยะมากกว่า 300 แห่งทั่วมณฑล ตลอดจนการขยายพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชมากกว่า 5.21 ล้านไร่ โดยมีพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ข้าว มันเทศ มันฝรั่ง และข้าวโพด และการเพิ่มปริมาณการผลิตธัญพืชมากกว่า 5 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่นำไปใช้ได้จริงของเกษตรกรสูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี ภายในปี 2568 โดยมีการออกมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรอัจฉริยะ การส่งเสริมการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การจัดการทรัพยากรทาง การเกษตร รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดินต่าง ๆ ที่มณฑลฝูเจี้ยนมีศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตร อาทิ การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) การปลูกพืชแบบระบบ Nutrient Film Technique – NFT และการปลูกพืชแบบระบบ Dynamic Root Floating Technique – DRFT
โรงเรือนการปลูกพืชไร้ดินบนพื้นที่ 1,000 ไร่ที่เขตผิงถาน นครฝูโจว ซึ่งมีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ พืชเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง ผลิตนอกฤดูกาลได้ ลดปัญหาศัตรูพืชในดินและสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีร้อยละ 40 ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และประหยัดน้ำมากกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติไม่น้อยกว่า 10 เท่า
ฐานสาธิตการผลิตเกษตรอัจฉริยะอำเภออ่าวซาน เมืองเฉวียนโจว ที่ร่วมสร้างกับองค์กรจากอิสราเอล
โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ การให้ปุ๋ยและน้ำอัตโนมัติ และการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต สามารถผลิตพืชผลต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตกว่า 600 ตันต่อปี และมูลค่าการผลิตสูงกว่า 12 ล้านหยวนต่อปี
(2) การจัดตั้งศูนย์ระบบข้อมูลสารสนเทศระดับมณฑล โดยศูนย์เกษตรดิจิทัล สถาบันวิทยาศาสตร์และการเกษตรมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรที่มีมาตรฐานและสามารถจัดการปัญหาผลผลิตทางการเกษตรอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรรม อาทิ โรคระบาดในสัตว์และพืช สภาพแวดล้อม ปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และข้อมูลด้านความปลอดภัยและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากศูนย์ฯ ไปยังฐานการปลูกและและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรแบบ real-time
(3) การส่งเสริมเกษตรสีเขียวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การส่งเสริมเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลของโรงเรือนเพาะปลูกพืช พื้นที่เพาะปลูกธัญพืช ฟาร์มปศุสัตว์ การใช้เครื่องจักรการเกษตรอัจฉริยะ หุ่นยนต์ AI และโดรนในการกำหนดปริมาณการให้ปุ๋ย น้ำ และยาฆ่าแมลง ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมระดับความชื้นในพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และช่วยลดการใช้ปริมาณปุ๋ยและยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งในการสร้างก๊าซเรือนกระจก
(4) การก่อสร้างหมู่บ้านดิจิทัลและเกษตรดิจิทัล การสร้างฐานข้อมูลการเกษตรภายใต้ชื่อ “Agriculture Cloud 131” ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลทางการเกษตรโดยผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์แก่เกษตรกรกว่า 15,000 แห่งทั่วมณฑล รวมทั้งโครงการเกษตรอัจฉริยะกว่า 100 แห่งเพื่อใช้เป็นฐานการประยุกต์ใช้ IoT เพื่อการเกษตร อาทิ โครงการดอกฝ้ายอัจฉริยะซึ่งใช้เครื่องมือไฮเทคต่าง ๆ อย่างดาวเทียม โดรนและเซ็นเซอร์ในการผลิตฝ้ายตลอดทั้งกระบวนการและสามารถคำนวณค่าอุณหภูมิ ความชื้น สภาพความเป็นกรดด่าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตรวจสอบข้อมูลการเพาะปลูกและพัฒนาการย้อนหลังได้ เพื่อควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และเพิ่มผลผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี “โครงการโรงเลี้ยงไก่อัจฉริยะ Sunner” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยบริษัท Fujian Sunner Development จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปไก่พันธุ์ White Leghorn ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก โดยการใช้หุ่นยนต์และระบบดิจิทัลเพื่อเก็บข้อมูลทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง อาทิ การตรวจสอบจำนวนไก่ จำนวนไข่ที่ดีและไข่แตก การคำนวณอัตราการผลิตไข่ ฯลฯ ในฟาร์มทุกวัน ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์ม อาทิ การแพร่ระบาดของโรคในปศุสัตว์ รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3,000 หยวนต่อครัวเรือน
สมาร์ทฟาร์มเลี้ยงไก่อัจฉริยะของบริษัท Sunner โดยใช้หุ่นยนต์ AI ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะในการให้อาหาร การส่งการแจ้งเตือนความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์ม การตรวจจับโรค การลดปัญหาการแพร่ระบาด การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในฟาร์มทุกวัน โดยหุ่นยนต์ 1 เครื่องสามารถดูแลไก่ 500,000 ตัว ช่วยเพิ่มรายได้ 3 ล้านหยวนต่อปี
การใช้โดรนตรวจสภาพไร่ในเชิงลึกที่อำเภอเจี้ยนหนิง เมืองซานหมิง โดยเชื่อมโยงกับพิกัดดาวเทียมเป่ยโต่ว+5G เพื่อได้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ฯลฯ ที่แม่นยำสูง
โดยโดรน 1 เครื่องใช้เวลาฉีดพ่นยาฆ่าแมลงประมาณ 15 นาทีต่อ 1 ไร่
(5) การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจ เพื่อให้วิสาหกิจ SMEs สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้า และการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการทำระบบฟาร์มอัจฉริยะ ผ่านการดำเนินการบ่มเพาะวิสาหกิจ และการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านหยวน 5 ล้านหยวน หรือ 10 ล้านหยวนขึ้นไป โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรที่มีเอกลักษณะของมณฑลฝูเจี้ยนมากกว่า 20 สาขา ได้แก่ ชา ผลไม้ ปศุสัตว์และสัตว์ปีก ผัก เห็ด และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ภายในปี 2568
ความคืบหน้าการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลที่เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ฝูเจี้ยนมีมูลค่าการผลิตทางการเกษตรประมาณ 4 แสนล้านหยวน เท่ากับร้อยละ 13 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล หรือร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการผลิตทางการเกษตรทั้งประเทศ โดยเฉพาะการผลิตชา ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สมุนไพรจีน และเห็ด ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ช่วยสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชนบทห่างไกล
ปัจจุบัน สัดส่วนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรของมณฑลฝูเจี้ยนแบ่งเป็น การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อจัดการข้อมูลร้อยละ 40 ของตลาดเกษตรอัจฉริยะทั้งมณฑล โดรนเพื่อการเกษตรร้อยละ 35 การปลูกพืชและการทำฟาร์มเลี้ยงอัจฉริยะร้อยละ 15 และเครื่องจักรกลการเกษตรแบบอัตโนมัติร้อยละ 10
ความร่วมมือกับต่างประเทศ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลฝูเจี้ยนได้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะกับต่างประเทศ โดยหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจคือความร่วมมือระหว่างศูนย์เกษตรดิจิทัล สถาบันวิทยาศาสตร์และการเกษตรมณฑลฝูเจี้ยนกับหน่วยงานด้านการเกษตรของอิสราเอล เพื่อก่อสร้างฟาร์มสาธิตอัจฉริยะ 5G จีน-อิสราเอลที่นครฝูโจว ซึ่งเป็นฟาร์มอัจฉริยะที่มีเครือข่าย 5G ครอบคลุมครบวงจรแห่งแรกของมณฑลฝูเจี้ยน มีการใช้หุ่นยนต์ AI “เสี่ยวรุ่ย” ในการทำงานภายในฟาร์มตั้งแต่การตรวจสอบสภาพภายในโรงเรือน ตรวจจับโรคในพืชก่อนการแพร่ระบาด และสามารถรายงานความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มแบบ real-time
หุ่นยนต์ AI “เสี่ยวรุ่ย” กำลังดำเนินงานตรวจสอบในโรงเรือนแตงกวาของฟาร์มสาธิตอัจฉริยะ 5G จีน-อิสราเอล และ
ส่งข้อมูลไปยังแพลตฟอร์มตรวจสอบอัจฉริยะแบบ real-time
นอกจากนั้น มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาชั้นนำของจีนด้านการเกษตรอย่าง มหาวิทยาลัย Fujian Agriculture and Forestry ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการเกษตร อาทิ หุ่นยนต์ AI เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ด้านการเกษตรโดยใช้ Big Data และ IoT และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ด้านการเกษตรและประมงเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มของแสง เสียงรบกวน รวมถึงการวัดปริมาณออกซิเจน ค่า pH และระดับน้ำสำหรับการทำประมงอัจฉริยะ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวถูกใช้ในการทำฟาร์มเลี้ยงปลิงทะเลที่อำเภอเซี่ยผู่ เมืองหนิงเต๋อ ซึ่งช่วยลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มปริมาณการผลิตปลิงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมืองที่มีศักยภาพด้านเกษตรอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน
อุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลฝูเจี้ยนส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล อาทิ เมืองจางโจว เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง โดยอุตสาหกรรมการเกษตรของเมืองจางโจวมีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล และเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองในมณฑล ขณะที่เมืองหนิงเต๋อ และเมืองซานหมิง มีมูลค่าการผลิตทางการเกษตรสูงกว่า 5 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของมณฑล
เมืองจางโจว เป็นหนึ่งในฐานการส่งออกสินค้าทางการเกษตรแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างช่องแคบไต้หวัน โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างรายได้หลักอาทิ ผลไม้ และไม้ดอก โดยเฉพาะกล้วยไม้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล พืชผัก และเห็ด ซึ่งมีปริมาณการผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจางโจวมุ่งพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะควบคู่กับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยร่วมมือกับบริษัท Fujian Lvling Agricultural Technology จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนา solar cell ติดตั้งแผง solar cell บนหลังคาโรงเรือนพืชผัก และฟาร์มอัจฉริยะต่าง ๆ รวมทั้งติดตั้งระบบผลิตไฟที่เชื่อมต่อกับกริด solar cell สำหรับจ่ายไฟให้กับระบบปรับอากาศในโรงเรือนแทนการใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐ ตัวอย่างโครงการสำคัญ อาทิ โครงการเกษตรอัจฉริยะ solar cell บนพื้นที่ 500 ไร่ บนเนินเขาที่อำเภอจางผู่ของเมืองจางโจว ซึ่งสามารถรองรับแสงแดดเฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,220 ชั่วโมง ส่งผลให้เมืองจางโจวกลายเป็นฐานสาธิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเกษตรกรรมที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน
โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะควบคุมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บนพื้นที่ 500 ไร่ที่อำเภอจางผู่ ด้วยเงินลงทุน 370 ล้านหยวน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผง solar cell ประมาณ 30 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลง 31,000 ตันต่อปี
เมืองหนิงเต๋อ เป็นหนึ่งในฐานการประมงขนาดใหญ่ของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมูลค่าการผลิตสินค้าประมงสูงกว่า 3.43 ล้านหยวนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของมูลค่าสินค้าประมงทั้งมณฑล ปัจจุบัน รัฐบาลหนิงเต๋อให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการประมงอัจฉริยะ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเล การติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เนต 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทะเลหลายส่วน การสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำประมงนอกชายฝั่งและประมงน้ำลึกอย่างยั่งยืนและครบวงจรด้วยการสร้างระบบสังเกตการณ์ทางทะเล โดยใช้เทคโนโลยี 3 มิติและดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลระบบนิเวศ สัตว์น้ำ และทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งการสำรวจทรัพยากร การป้องกันและบรรเทาภัย ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจทางมหาสมุทร เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 เมืองหนิงเต๋อร่วมมือกับบริษัท Huawei ในการก่อสร้างสถานีส่งสัญญาณ 5G ทั้งหมด 300 แห่งในพื้นที่ทะเล 50 กิโลเมตร และติดตั้งระบบดาวเทียมเป่ยโต่วบนเรือประมงเพื่อติดตามและตรวจจับการทำงานของเรือประมงนอกชายฝั่งในทุกสภาพอากาศ กรณีที่เรือประมงเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่ทะเล 61.5 กิโลเมตร ได้ทันที ซึ่งช่วยลดผลกระทบจาก ภัยพิบัติที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นหรือฝนตกหนักอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน เรือประมงท้องถิ่นได้เชื่อมต่อกับระบบดังกล่าว กว่า 4,000 ลำ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะในการสำรวจการทำประมงน้ำลึกเพื่อถ่ายภาพความละเอียดสูงและส่งไปยังแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือแบบ real-time โดยเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ การให้อาหารอัตโนมัติ การติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ การคัดเลือกปลาตายและเศษซากที่ตายแล้วให้ทันเวลา ตลอดจนการวัดขนาดของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่โตเต็มวัย เป็นต้น
ท่าเรือประมงอัจฉริยะ 5G เมืองหนิงเต๋อ ใช้เทคโนโลยี Cloud Computing IoT และ Big Data ในยกระดับกระชังเลี้ยงปลาทะเลน้ำลึกอัจฉริยะ โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดความเค็ม ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และค่า PH ของสภาพแวดล้อมในการเพาะเลี้ยง ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่ากระชังเลี้ยงปลาแบบดั้งเดิมมากกว่า 3 เท่า
นอกจากนี้ รัฐบาลหนิงเต๋อส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืนและพึงพาตนเอง เช่น การปรับระบบการเลี้ยงปลาในกระชังภายใต้หลังคา solar cell และการกักเก็บพลังงานลมแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล แทนการใช้ไฟฟ้าจากการจ่ายไฟของภาครัฐ ซึ่งต้องอาศัยการดึงสายเคเบิลจากชายฝั่ง ซึ่งมีต้นทุนและค่าบำรุงรักษาสายเคเบิลสูง และมีความเสี่ยงสูง โดยระบบการกักเก็บพลังงานรูปแบบใหม่นี้ เป็นการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานของบริษัท CATL ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ อาทิ มีเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิความเย็นของเหลวอัจฉริยะ และเทคโนโลยี Cell to Pack – CTP ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการชาร์จแบตเตอรี่ฯ ทำให้ฟาร์มสามารถกักเก็บพลังงานสำรองพอสำหรับการจ่ายไฟประมาณ 10 – 20 วัน เพียงพอสำหรับช่วงที่ไม่มีแสงแดดและลมในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ฐานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ solar cell / พลังงานลม + การกักเก็บพลังงานที่อ่าวซานตั่ว โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ 111 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมงทุกปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 90,000 ตัน เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสู่ความเป็นอัจฉริยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคาร์บอนต่ำ
เมืองซานหมิง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเมืองที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สำหรับการปศุสัตว์ โดยรัฐบาลซานหมิงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ และสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้ เช่น บริษัท หมิงชุ่น ซานหมิง จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดของเสียในฟาร์มครอบคลุมการบำบัดน้ำเสีย การบำบัดก๊าซคาร์บอนและก๊าซไนโตรเจน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล AI 5G IoT มาใช้ในการบริหารจัดการและเก็บข้อมูลของสุกรด้วยเทคโนโลยี AI สแกนใบหน้าสุกร เพื่อจัดทำข้อมูลน้ำหนัก วันเกิด อายุ ปริมาณและสัดส่วนของอาหาร ปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะนำไปประมวลผลเพื่อพัฒนาการเลี้ยงและเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและคัดสรรพันธุ์สัตว์ที่ปลอดโรคและแข็งแรง และสามารถเพิ่มอัตราการตั้งท้องของสุกรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยตัวละ 3 ตัว และอัตราการรอดชีวิตของลูกสุกรสูงกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายและกำลังคน
โรงงาน “การเลี้ยงสุกรอัจฉริยะ 4.0” ด้วยเทคโนโลยี AI สแกนใบหน้าสุกร และระบบ Cloud ของบริษัทฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หมิงชุ่น ซานหมิง จำกัด เพื่อการให้อาหารอัตโนมัติ และการชั่งน้ำหนักอัตโนมัติ ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่ 1 คนสามารถเลี้ยงสุกรได้ 25,000 ตัว
โดยสรุป จากความท้าทายของสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตอาหารของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการแรงงาน ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรจากการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เป็นการทำเกษตร ปศุสัตว์ และ การประมงอัจฉริยะที่มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการการผลิตที่มีความแม่นยำสูง ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการปรับกระบวนทัศน์ สู่เกษตรกรรมล้ำสมัย ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยจีนมีวิสาหกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่ที่ขยายสาขาธุรกิจไปยังสาขาเกษตรอัจฉริยะหลายราย อาทิ Alibaba / Tencent NetEase / Huawei / JD และ Baidu
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลนำร่องที่มุ่งดำเนินนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างจริงจัง โดยใช้จุดแข็งจากการเป็นมณฑลที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดของจีน พื้นฐานของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการเกษตรที่แข็งแกร่ง นโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นที่มุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรอัจฉริยะผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับตลอดกระบวนการผลิตผ่านการสร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูลดิจิทัลของฟาร์มเพื่อเก็บข้อมูลและควบคุมการเพาะปลูกและการเลี้ยงด้วยระบบอัตโนมัติ ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์ม โดรนเพื่อการเกษตรที่มีความสามารถในการลาดตระเวนตรวจสอบสภาพการเพาะปลูก โดยเชื่อมโยงกับพิกัดดาวเทียมเป่ยโต่ว+5G เพื่อได้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ฯลฯ ที่แม่นยำสำหรับประกอบการวิเคราะห์การเพาะปลูกและดูแลผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้แรงงานภาคการเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร จนถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิรซ์ ขณะเดียวกันมณฑลฝูเจี้ยนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัยของจีน เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตรใหม่ ๆ และความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาทักษะผ่านการจัดตั้งศูนย์อบรมเชิงเทคนิคด้านเกษตรดิจิทัลและอีคอมเมิร์ชแก่ประชาชนในเขตชนบทด้วย
การปรับโครงสร้างภาคการเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG ของไทย โดยที่ผ่านมาไทยมุ่งยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี เกษตรอัจฉริยะของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยไทยยังต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเกษตรที่อาศัยต้นทุนต่ำเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและทักษะการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรแก่แรงงานภาคเกษตร ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้และทักษะด้านดิจิทัลและหลากหลายสาขา อาทิ วิศวกรรม เป็นต้น ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ ไทยสามารถถอดบทเรียนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของจีนและมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย และส่งเสริมหุ้นส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยระหว่างไทย-จีน ตลอดจนการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ในภาคการลงทุน ไทยต้องเร่งชักจูงการลงทุนจากวิสาหกิจจีนที่มีศักยภาพด้านการสร้างระบบบริการเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำสมัย เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกอบรมทักษะการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความเข้มแข็งแก่ห่วงโซ่อุปทานการเกษตรของไทยให้ในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
* * * * * * *
แหล่งที่มา
https://www.globaltimes.cn/page/202302/1286022.shtml
http://www.fjxynm.com/intro/1.html
https://new.qq.com/rain/a/20230410A07F8Q00
https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_9914598
https://www.163.com/dy/article/HR7FS41605118405.html
https://nd.fjsen.com/2023-03/13/content_31268487.htm
http://www.news.cn/local/2023-03/14/c_1129431683.htm
http://fjnews.fjsen.com/2023-02/20/content_31252781.htm
http://www.news.cn/politics/2023-03/25/c_1129464584.htm
http://m.ce.cn/bwzg/202301/30/t20230130_38366536.shtml
http://www.gov.cn/xinwen/2023-01/19/content_5737889.htm
http://www.sm.gov.cn/zw/tjxx/tjjd/202301/t20230129_1875503.htm
http://www.shsyzx.agri.cn/jyjl_1/202104/t20210423_7655441.htm
http://cpc.people.com.cn/n1/2022/1215/c448544-32587387.html
https://news.cnstock.com/xhsmz/ppqyzx/202112/4797322.htm
https://www.fj.chinanews.com.cn/news/2023/2023-05-07/524064.html
http://www.fzcl.gov.cn/xjwz/zwgk/tjxx/tjjd/202302/t20230202_4531030.htm
https://www.ningde.gov.cn/zwgk/tjxx/tjgb/202303/t20230331_1747045.htm
http://ex.chinadaily.com.cn/exchange/partners/82/rss/channel/cn/columns/snl9a7/stories/WS6461c0c1a310537989374207.html
* * * * * * * * * *