การพัฒนาอีคอมเมิร์ชข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยน และโอกาสความร่วมมือกับไทย (ตอนที่ 2)
26 Oct 2023ความเดิมตอนที่แล้ว ศูนย์ BIC ได้กล่าวถึงศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการส่งออกของจีน โดยจีนมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลักดันให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้าสู่การจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเน้นการก่อสร้างคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อดึงดูดการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน รวมทั้งการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ บทความตอนที่ 2 จะกล่าวถึงศักยภาพอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นมณฑลแห่งการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 7 ของจีน และลู่ทางที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้
ภาพรวมนโยบายของมณฑลฝูเจี้ยน
ที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวางระบบ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยมุ่งใช้ประโยชน์จากการเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 สร้างความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ระหว่างฝูเจี้ยนกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และยูเรเซีย ฯลฯ รวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่เข้มแข็ง ภายใต้แผนพัฒนาการค้าดิจิทัล (Digital Trade) ของมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าต่างประเทศให้สูงกว่า 8 แสนล้านหยวน ซึ่งในจำนวนนี้ การนำเข้าและส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะมีมูลค่าสูงกว่า 1.4 แสนล้านหยวน ภายในปี 2568
มณฑลฝูเจี้ยนมีการออกมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งเน้นการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศให้มากกว่า 200 แห่งในกว่า 40 ประเทศในเอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และกลุ่มประเทศตามข้อริเริ่ม BRI รวมถึงไทยและเวียดนาม และจัดตั้งเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งชาติให้มากกว่า 11 แห่งทั่วมณฑล ภายในปี 2568 รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนกับประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนำร่องการพัฒนานวัตกรรมเศรษฐกิจและการค้าจีน-อินโดนีเซียที่นครฝูโจว และนิคมอุตสาหกรรมจีน-ฟิลิปปินส์ที่เมืองจางโจว เพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านคลังสินค้า โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร และบริการด้านกฎหมาย การฝึกอบรมวิสาหกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสำหรับบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเซี่ยเหมิน เป็นฐานการพัฒนาธุรกิจขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีมของเมือง และได้ดึงดูดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากในและต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ Amazon, JD, Shopee, Alibaba และ Yuguo
(2) การบ่มเพาะวิสาหกิจ โดยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถด้านการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของวิสาหกิจ รวมกว่า 9.7 พันล้านหยวน ตั้งแต่ขั้นตอนการบ่มเพาะและส่งเสริมวิสาหกิจที่มีศักยภาพการแข่งขันระดับสากลให้เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านหยวน 5 ล้านหยวน หรือ 10 ล้านหยวนขึ้นไป และส่งเสริมองค์ความรู้แก่วิสาหกิจในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการวางแผนด้านการตลาด เช่น การนำ Big Data มาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการ และการนำ AI มาช่วยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น อาทิ เสื้อยืดที่มีนวัตกรรมปรับอุณหภูมิตามสภาพแวดล้อม รองเท้าอัจฉริยะช่วยเตือนเมื่อน้ำหนักตัวมากเกินไป ฯลฯ ซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ
(3) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยเน้นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะกับ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เช่น การบูรณาการรูปแบบการพัฒนา “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน+รถไฟจีน-ยุโรป+คลังสินค้าในต่างประเทศ” เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปอย่างรวดเร็วและสะดวก อาทิ ชิ้นส่วน solar cell ชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ลิเธียม เครื่องใช้ไฟฟ้า งานฝีมือเซรามิก และวัสดุก่อสร้างบ้าน การเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าใหม่ ๆ ทั้งทางทะเลเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก RCEP และทางอากาศ เช่น การเพิ่มเส้นทางการบินไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีการยกระดับการบริหารจัดการท่าเรือต่าง ๆ ในมณฑลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง IT 5G Big Data IoT Cloud Computing ระบบดาวเทียม ฯลฯ เพื่อเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในมณฑลฝูเจี้ยนให้สูงกว่า 23 ล้านตู้มาตรฐาน ภายในปี 2568
(4) การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ศุลกากรฝูเจี้ยนจะเร่งส่งเสริมให้สถานประกอบการขอรับรองสถานภาพเป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน Authorized Economic Operator (AEO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรและความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศยิ่งขึ้น และเร่งการปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเก็บภาษีนำเข้าทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การยกเว้นการติดฉลากสินค้าภาษาจีนสำหรับสินค้าบางประเภท และการผ่อนปรนในการยื่นใบอนุญาตทางสุขอนามัยสำหรับสินค้าบางประเภท เป็นต้น เพื่อช่วยลดความยุ่งยาก ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ ด้านพิธีการศุลกากรมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้รูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรหัส 9610, รหัส 9710, รหัส 1210[1], และรหัส 9810 อย่างครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เขตการค้าเสรี เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการ เขตสาธิตส่งเสริมนวัตกรรมการนำเข้าสินค้า หรือศูนย์โลจิสติกส์ทัณฑ์บนทั่วมณฑล
ศักยภาพการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยน
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ของจีน โดยในปี 2565 มีมูลค่าการค้าต่างประเทศมากกว่า 1.98 ล้านล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 7 ของจีน[2] ในจำนวนนี้ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของทั้งมณฑลสูงกว่า 1.36 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่เติบโตเร็วอันดับต้น ๆ ของประเทศ แบ่งเป็นการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซ ข้ามพรมแดนมูลค่า 1.29 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 และการนำเข้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมีมูลค่า 7.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 ส่งผลให้มณฑลฝูเจี้ยน กลายเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยนมีปัจจัยเอื้อสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
(1) ศักยภาพตลาดของมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่า GDP per capita กว่า 126,800 หยวน สะท้อนว่าชาวฝูเจี้ยนเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งฝูเจี้ยนยังมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ โดยชาวจีนส่วนใหญ่นิยมสั่งซื้อสินค้าทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ผ่านแอปพลิเคชัน อาทิ Pupu Mall / JD / Tmall เป็นต้น โดยแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ในมณฑลฝูเจี้ยนคือ Pupu Mall ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบอาหาร ผลไม้ ของสด อาหารสำเร็จรูป และของใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ได้ โดยมีบริการส่งถึงบ้านภายใน 30 นาที
(2) โลจิสติกส์ ฝูเจี้ยนมีข้อได้เปรียบด้านระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งทั้งทางราง ทางทะเล และทางอากาศ สามารถขนส่งสินค้าไปยังทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและสะดวก อาทิ กลุ่มประเทศตามข้อริเริ่ม BRI สมาชิก RCEP ยุโรป สหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพื้นที่หลักของการดำเนินยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเล ภายใต้แผน “วิสัยทัศน์และปฏิบัติการว่าด้วยการร่วมสร้างเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” ของจีน และที่ผ่านมา รัฐบาลฝูเจี้ยนได้ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านหยวนต่อปีในการสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
(3) โครงสร้างพื้นฐานด้านอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดน อาทิ การจัดตั้งด่านตรวจศุลกากรอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมด 22 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 150,000 ตร.ม. การสร้างนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 140 แห่งทั่วมณฑล การจัดตั้งเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งชาติทั้งหมด 8 แห่งทั่วมณฑล ได้แก่ นครฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน เมืองจางโจว เมืองเฉวียนโจว เมืองผู่เถียน เมืองหนานผิง เมืองหลงเหยียน และเมืองหนิงเต๋อ และการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศมากกว่า 180 แห่งในกว่า 35 ประเทศ[3] โดยมีพื้นที่คลังสินค้าในต่างประเทศสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน โดยเฉพาะบริษัท Fujian Zongteng Group จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลฝูเจี้ยนผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั่วโลก มีการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศมากกว่า 1.2 ล้าน ตร.ม. ในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา ฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเช็ก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้คัดเลือกบริษัทฯ ให้เป็น “วิสาหกิจปฏิบัติที่ดีเลิศด้านคลังสินค้าในต่างประเทศ” และบริษัท Fujian Yangteng Innovation Technology จำกัด ผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศขนาดใหญ่หลายแห่งในยุโรป สหรัฐฯ และตลาดอื่น ๆ
(4) การส่งเสริมการลงทุนจากวิสาหกิจชั้นนำ ฝูเจี้ยนได้ดึงดูดการลงทุนจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรายใหญ่จำนวนมาก อาทิ Amazon, JD, Shopee, Alibaba, Lazada, Yuguo, TikTok, eBay, Newegg และ Pinduoduo และได้รวบรวมผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ ด้านการชำระเงิน ด้านภาษี ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และด้านการวางแผนทรัพยากรองค์กร ขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนยังส่งเสริมให้บริษัทในมณฑลเข้าร่วมลงทุนกับต่างประเทศในการก่อสร้างคลังสินค้า ศูนย์โลจิสติกส์ทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ศูนย์กำกับดูแลธุรกิจ และศูนย์กิจกรรมถ่ายทอดสด (Live- streaming) ฯลฯ ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนเป็น 1 ใน 3 ฐานการผลิตสินค้าออนไลน์ที่สำคัญของจีน และมีจำนวนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนคิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งประเทศ สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง (คิดเป็นร้อยละ 57) และเจียงซู (คิดเป็นร้อยละ 13)
(5) การสร้างสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรม รัฐบาลฝูเจี้ยนได้เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าร่วมกิจกรรมการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานนิทรรศการ China Xiamen International Cross-border E-commerce Industry Expo ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน รวมทั้งมีนโยบายจำนวนมากในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน อาทิ การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร มาตรการยกเว้นภาษี และการโอนเงินระหว่างประเทศ
จากปัจจัยหลากหลายทั้งด้านศักยภาพตลาด กำลังซื้อและรสนิยมของผู้บริโภค ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์และอีคอมเมริซ์ข้ามพรมแดนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐจีนกลาง และมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งการบริหารจัดการอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนแบบครบวงจร การก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ และการส่งเสริมขีดความสามารถของวิสาหกิจให้ทำตลาดผ่านอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดน รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ คาดการณ์ได้ว่า การพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยนมีโอกาสเติบโตสูง ไทยจึงต้องเร่งศึกษาแนวโน้มตลาดและติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องของมณฑลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาอีคอมเมิรซ์ข้ามพรมแดนของไทย และชี้ช่องทางให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดมายังมณฑลฝูเจี้ยน โดยบทความตอนที่ 3 ศูนย์ BIC จะแนะนำเมืองที่มีศักยภาพการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพิจารณาเจาะตลาด และสามารถใช้ประโยชน์จากความโดดเด่นของเมืองที่มีศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งที่มา
http://www.news.cn/fortune/2023-02/02/c_1129329844.htm
http://www.ccidanpo.org/sites/default/files/c26636204.2019.07.02.pdf
***********
[1] รูปแบบ 9610 เป็นวิธีการดั้งเดิม คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศตามคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในจีนแบบทีละรายการ
รูปแบบ 1210 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทีละมาก ๆ โดยสินค้าจะถูกเก็บไว้ที่เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนก่อน แล้วจึงกระจายต่อยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีน เมื่อมีคำสั่งซื้อผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ
[2] รองจากมณฑลกวางตุ้ง (8.31 ล้านล้านหยวน) มณฑลเจียงซู (5.44 ล้านล้านหยวน) มณฑลเจ้อเจียง (4.68 ล้านล้านหยวน) นครเซี่ยงไฮ้ (4.19 ล้านล้านหยวน) กรุงปักกิ่ง (3.64 ล้านล้านหยวน) และมณฑลซานตง (3.33 ล้านล้านหยวน)
[3] มณฑลฝูเจี้ยนมีพื้นที่คลังสินค้าในต่างประเทศรวมกว่า 2 ล้าน ตร.ม.