กว่างซีผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้านำเข้า รู้ไว้..แต่อย่าชะล่าใจ
4 Aug 2022
เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยบัญชาการงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ออกประกาศว่าด้วยการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในของนำเข้า โดยเฉพาะในสินค้าทั่วไป (Non-cold chain goods) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. การประเมินความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะประเมินจากสถานการณ์การระบาดในประเทศ/ดินแดนที่เป็นแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภทและลักษณะจำเพาะของสินค้า วิธีการขนส่ง รวมถึงวิธีการและเวลาในการขนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ มาตรการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการตรวจปล่อยสินค้าจะมีความเข้มงวดแตกต่างกัน โดยคำจำกัดความของ “ของนำเข้าที่เป็น Non-cold chain goods” คือ ของนำเข้าที่ขนส่งด้วยอุณหภูมิเกิน 10 องศาเซลเซียส จะมีการจัดแบ่งระดับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเป็น 2 ระดับ คือ ระดับความเสี่ยงต่ำกับระดับความเสี่ยงสูง ดังนี้
1.1 ของนำเข้าที่เข้าเกณฑ์ระดับความเสี่ยงต่ำ อาทิ ของนำเข้าทั่วไปที่เป็น Non-cold chain goods ที่มาจากประเทศ/ดินแดนความเสี่ยงต่ำ / สินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) ทุกประเภท อาทิ ถ่านหิน สินแร่ วัตถุดิบเคมีภัณฑ์ ธัญพืช อาหารสัตว์ ไม้ดิบ / ของที่บรรทุกด้วยเครื่องบิน เรือ รถไฟ รถยนต์ โดยเดินทางออกจากด่านต้นทางเป็นเวลาเกิน 24 ชั่วโมง / ของที่ไม่ได้สัมผัสกับเจ้าหน้าที่ขนสินค้าระหว่างการขนถ่ายสินค้า / ของที่ได้ทำการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไว้แล้ว
1.2 ของนำเข้าที่เข้าเกณฑ์ระดับความเสี่ยงสูง คือ ของนำเข้าที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น หรือไม่สามารถประเมินระดับความเสี่ยงได้ รวมถึงกรณีที่ของนำเข้าที่ได้รับการประเมินเป็นของที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมากับยานพาหนะดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อยืนยันหรือผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ จะถูกประเมินให้เป็นของที่มีความเสี่ยงสูง ในหลักการจะต้องดำเนินการด้วยความเข้มงวด ส่วนของนำเข้าที่ใช้เฉพาะด้าน (special purpose) จะต้องให้หน่วยบัญชาการงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่เป็นผู้วินิจฉัยระดับความเสี่ยงเอง
2. การจัดกลุ่มและจัดประเภทในการดำเนินมาตรการป้องกัน ทุกพื้นที่จะไม่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (กรดนิวคลิอิก) ในของนำเข้าที่เป็น Non-cold chain goods อีกต่อไป อย่างไรก็ดี มาตรการฆ่าเชื้อและการตรวจปล่อยสินค้าของของนำเข้าจะมีความเข้มงวดแตกต่างกัน ดังนี้
2.1 ของนำเข้าที่เข้าเกณฑ์ระดับความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องทำการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอีกต่อไป ให้ดำเนินการตรวจปล่อยตามระเบียบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
2.2 ของนำเข้าที่ได้รับการประเมินเป็นของที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องดำเนินการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการฆ่าเชื้อในส่วนที่มีการสัมผัสกับบุคคล (เจ้าหน้าที่ขนย้าย) ในหลักการ การฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกของของนำเข้าที่ได้รับการประเมินเป็นของที่มีความเสี่ยงสูง จะทำการฆ่าเชื้อเพียงครั้งเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อนและการเกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งโลจิสติกส์และอุปทานตลาด (market supply)
3. การเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้กับเจ้าหน้าที่หน้างาน
เจ้าหน้าที่หน้างาน (เจ้าหน้าที่รื้อตู้ตรวจ ขนถ่าย ขนส่ง และทำความสะอาดตู้สินค้า) ของของนำเข้าที่ได้รับการประเมินเป็นของที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (หน้กาก ถุงมือ และชุดป้องกัน) ในขณะปฏิบัติงานอย่างถูกวิธี ทุกพื้นที่จะต้องดำเนินมาตรการตรวจกรดนิวคลิอิก สังเกตสุขภาพ และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ (บริษัท และหน่วยงานรัฐ) จะต้องทำแฟ้มข้อมูลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหน้างานเพื่อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เจ้าหน้าที่ขนถ่ายสินค้านำเข้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในด่าน จะต้องทำการตรวจกรดนิวคลิอิกในระหว่างการปฏิบัติงานทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้ทำการตรวจกรดนิวคลิอิกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
4. การปรับปรุงกลไกการจัดเก็บสินค้านำเข้าไว้ก่อนเคลียร์สินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากร
ของที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ชั้นนอก (outer package) หรือบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกรั่วซึมได้ง่ายจากน้ำยาฆ่าเชื้อ อาทิ เคมีภัณฑ์อันตราย สัตว์มีชีวิต อาหารสัตว์ สารปรุงแต่งอาหารสัตว์ ผลไม้ ผัก อุปกรณ์เครื่องมือที่มีความละเอียดสูง ไม่ต้องดำเนินการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยให้บริษัทผู้นำเข้านำของนำเข้าไปจัดเก็บของนำเข้าไว้ในสถานที่ที่เหมาะสมภายใต้อุณหภูมิปกติอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนนำไปใช้ โดยการจัดเก็บจะต้องแยกประเภท และห้ามบุคคลไปสัมผัสใกล้ชิด
5. การปรับปรุงนโยบายป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Cold chain foods)
หน่วยงานศุลกากรให้ความสำคัญกับการสุ่มตรวจตั้งแต่ต้นทาง ผลการสุ่มตรวจถือเป็นพื้นฐานที่ใช้ในการปรับมาตรการควบคุมและบริหารจัดการในกระบวนการต้นทาง ในกรณีที่อาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อโควิด-19 (ผลตรวจกรดนิวคลิอิกเป็นบวก) ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง และยกเลิกมาตรการการระงับการยื่นนำเข้าเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ผลิตอาหารในต่างประเทศ
6. การควบคุมและป้องกันความเสี่ยงในกระบวนการผลิต
เจ้าของสินค้าหรือผู้ผลิต มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากของนำเข้าที่เป็น Non-cold chain goods ที่มีความเสี่ยง ก่อนที่ผู้ผลิตจะนำของที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวมาใช้หรือแปรรูป จะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าของดังกล่าวได้ผ่านการฆ่าเชื้อหรือจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติเกิน 24 ชั่วโมงแล้ว
หากต้องมานำมาใช้ผลิต โดยที่ยังจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติไม่เกิน 24 ชั่วโมง จะต้องทำการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดบนบรรจุภัณฑ์ชั้นในและตัวของนำเข้านั้นก่อนที่จะนำไปใช้ และสายการผลิตจะต้องรักษาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเรียบร้อย ทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามกำหนดเวลาและเก็บบันทึกข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้อง
บีไอซี เห็นว่า การผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้านำเข้าของกว่างซีในครั้งนี้ สะท้อนสัญญาณเชิงบวกที่กว่างซีในฐานะประตูการค้าที่สำคัญ พยายามจะฟื้นฟูสภาพคล่องของการขนส่งระหว่างประเทศ ไปพร้อม ๆ กับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยมายังจีน (ผ่านกว่างซี) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ตามข้างต้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการขนส่ง ปฏิบัติตามข้อกำหนดของด่านปลายทางอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังจะช่วยรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยได้อีกด้วย ทั้งนี้ บีไอซี จะติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ผู้ประกอบการทราบอย่างต่อเนื่อง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 26 กรกฎาคม 2565
เว็บไซต์ http://wsjkw.gxzf.gov.cn (自治区新冠肺炎疫情防控指挥部) วันที่ 25 กรกฎาคม 2565