ฝูเจี้ยนประกาศใช้ “แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้า” ในมณฑล

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้ประกาศใช้ แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้าของมณฑลฝูเจี้ยน อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นกฏระเบียบว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการจัดส่งสินค้าระดับมณฑลฉบับแรกของจีน ที่ประกาศใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบริการจัดส่งสินค้า/พัสดุในเขตมณฑลฝูเจี้ยนให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความรวดเร็วมากขึ้น และเพื่อรองรับตลาดด้านโลจิสติกส์และตลาดอีคอมเมิร์ซในมณฑลฝูเจี้ยนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย  

จากการแถลงข่าวของสำนักงานสารสนเทศมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 58 เผยว่า มณฑลฝูเจี้ยนมีระดับการพัฒนาในธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าอยู่ในอันดับต้นๆ ของจีน  โดยในปี 2557 มณฑลฝูเจี้ยนมีบริษัทรับบริการจัดส่งสินค้ารวมถึงจุดรับบริการย่อยทั้งหมด 1,289 ราย มีพนักงานในกิจการดังกล่าวมากกว่า 5 หมื่นคน  และตลอดปี 2557 มณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณพัสดุในอุตสาหกรรมบริการจัดส่งถึง 6.6 พันล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 48 มีรายได้จากธุรกิจบริการจัดส่งรวม 82 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 32 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของจีน

ปี 2557 มณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณพัสดุไปรษณีย์เฉลี่ยต่อคนทั้งมณฑล 18 ชิ้น ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของจำนวนพัสดุไปรษณีย์เฉลี่ยต่อคนทั้งประเทศจีน และมี 4 เมืองของมณฑลฝูเจี้ยน ได้แก่ นครฝูโจว เมือง เซี่ยเหมิน เมืองเฉวียนโจว เมืองผู่เถียน ที่เข้าติด 50 อันดับแรกของเมืองที่มีปริมาณธุรกิจบริการจัดส่งมากที่สุดในจีน

นายหวัง เฟิ่ง ผู้อำนวยการบริหารจัดการไปรษณีย์มณฑลฝูเจี้ยน กล่าวว่า ถึงแม้อุตสาหกรรมไปรษณีย์ในมณฑลฝูเจี้ยนจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าปัญหาการประสานและระดับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการขนส่ง อาทิ ยานพาหนะที่ใช้ในการบริการขนส่งพบปัญหาการคมนาคมที่ยากลำบาก ปัญหาความยุ่งยากในการเรียกใช้บริการ หรือแม้แต่ปัญหาในการจัดส่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางรัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนจึงได้คิดหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ โดยวางแผนร่างแนวทางฯ ฉบับนี้ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 และแล้วเสร็จพร้อมประกาศใช้ในปีนี้

แนวทางฯ แบ่งออกเป็น 7 บทใหญ่ รวม 40 ข้อย่อย ประกอบด้วย บททั่วไป มาตรการสนับสนุน การบริการจัดส่ง ความปลอดภัยในการจัดส่ง ความร่วมมือด้านบริการจัดส่งกับไต้หวัน ความรับผิดชอบทางกฏหมาย และภาคผนวก

10 ข้อสำคัญในการสนับสนุนมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการจัดส่งสินค้า มีดังนี้

1.) การสร้างกลไกความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้าของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานด้านการเงิน การปฏิรูป กรมตำรวจ และกรมศุลกากร เป็นต้น

2.) การนำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้า รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับประกันการทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้ากับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น

3.) จัดให้มีการขยายจุดให้บริการควบคู่ไปกับการวางแผนการขยายตัวของเมือง พร้อมทั้งมีนโยบายก่อสร้างศูนย์กลางบริหารจัดการการขนส่งไปรษณีย์

4.) จัดให้การบริการด้านการขนส่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งในบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานในเขตชนบท เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตร ในด้านการขนส่งวัสดุที่ใช้ในเกษตรกรรม การจัดส่งผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค

5.) สนับสนุนการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้ากับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว และยังเป็นการสร้างเครือข่ายและขยายตลาดในธุรกิจทั้ง 2 อย่างด้วย

6.) ส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมขนส่งกับองค์กรที่เชื่องโยงการพัฒนาในอุตสาหกรรมขนส่ง อาทิ องค์กรด้านทรัพยากร สายการบิน ทางรถไฟ ทางหลวง เพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น

7.) กำหนดให้กรมรักษาความปลอดภัยและหน่วยงานจราจรอำนวยความสะดวกในการจราจรแก่ยานพาหนะที่ใช้ในการบริการจัดส่ง และอนุญาติให้ยานพาหนะที่ใช้ในการบริการจัดส่งสามารถจอดชั่วคราวได้ในกรณีจำเป็น และสนับสนุนกิจการในอุตสาหกรรมจัดส่งสินค้าให้ใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดในการบริการจัดส่งสินค้า

8.) องค์กร/หน่วยงาน/ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนส่งต่างๆ จะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ และมีการส่งเสริมการจัดตั้งจุดตัวแทนรับพัสดุไปรษณีย์และบริการจัดส่ง และจุดบริการตัวเอง

9.) จัดให้มีการอบรมฝึกฝนและให้ความรู้แก่บุคคลากรที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมขนส่ง เพื่อเพิ่มความชำนาญและความเชี่ยวชาญให้แก่บุคคลากร โดยจะจัดให้มีการสอบวัดผลและผู้ที่ผ่านคัดเลือกจะได้รับใบรับรอง และสามารถปฏิบัติงานได้ พร้อมมีสวัสดิการให้ตามควร

10.) เปิดโอกาสให้สำนักงานใหญ่ของกิจการด้านการขนส่งในเมือง/มณฑลอื่น สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยน/ให้ข้อเสนอแนะหรือแนวทางนโยบายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับมณฑลฝูเจี้ยนได้

แนวทางฯ ฉบับนี้ ถือเป็นกฏระเบียบที่จะมาเติมเต็มช่องโหว่ในอุตสาหกรรมขนส่งของมณฑลฝูเจี้ยนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และยังเป็นการปฏิรูปการทำงานและการบูรณาการระบบบริการขนส่งในมณฑลให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในมณฑลฝูเจี้ยนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของมณฑลฝูเจี้ยนอย่าง เมืองเซี่ยเหมิน ที่เพิ่งได้รับอนุมัติให้เป็นเขตทดลองการค้าเสรีเมืองเซี่ยเหมินเมื่อไม่นานมานี้ โดยในปี 2557 เมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนบริษัทที่ประกอบกิจการด้านโลจิสติกส์ประมาณ 4,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 5 ล้านหยวน มีดัชนีการขยายตัวในธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับที่ 6 ของจีน (รองจากเมืองเซินเจิ้น นครกว่างโจว กรุงปักกิ่ง เมืองหังโจว และนครเซี่ยงไฮ้) แต่ปัจจุบันเมืองเซี่ยเหมินมีบริษัทที่จดทะเบียนก่อตั้งกิจการด้านอีคอมเมิร์ซแล้วกว่า 37,000 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 73 ในจำนวนนั้น มีประมาณ 20,000 บริษัท เป็นบริษัทแบบ B2B (Business to Business) และประมาณ 10,000 บริษัท เป็นบริษัทแบบ B2C (Business to Customer) และคาดว่าจำนวนผู้ประกอบการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในเมืองเซี่ยเหมินจะสูงถึง 50,000 บริษัทในปลายปี 2558  อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาความก้าวหน้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเมืองเซี่ยเหมินคือ ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงในด้านนี้ และปัญหาด้านระบบการขนส่งและการกระจายสินค้าที่รวดเร็วและทันสมัยเพื่อรองรับกับความต้องการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  แนวทางฯ ฉบับนี้จึงเป็นสิ่งที่จะมาเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับธุรกิจการขนส่งในมณฑลฝูเจี้ยนได้อย่างดีเยี่ยม

 

Writer

Writer

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

Print

COMMENT

avatar
  Subscribe  
Notify of

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม